ดร.พสุ ชี้ศก.ไทยส่อไปทางที่ดีขึ้นจากอานิสงส์รอบนอก ส่งออกกระเตื้อง-กำลังซื้อเพิ่ม
คณบดีคณะบัญชีฯ จุฬาฯ มองเศรษฐกิจไทยส่อไปทางที่ดีขึ้น จากอานิสงส์รอบนอก การส่งออกกระเตื้องกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ยันวันนี้ฐานล่างยังอ่อนแอ ย้ำชัดการเข้ามาของเทคโนโลยี องค์กรไหนอยู่รอดขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทัน เชื่อยังต้องเผชิญการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ๆ ตลอด
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.60 ที่ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้า สยามพารากอน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาแห่งปี ฟันธงธุรกิจไทย 2561 “The Flagship Summit : Future Fast - Forward” ฟันธงธุรกิจไทยในปี 2561 เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกันทุกความเสี่ยง และมุ่งสู่ทุกโอกาส
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจ ( Business Trends) ของโลกในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในไทยด้วยเช่นกัน จะมีการนำเทคโนโลยีอย่าง IoT (Internet of Things) บวกกับ การใข้การวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ans Analytice และ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence(AI) มาเชื่อมโยงกันเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ในขณะที่ตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยเรื่องของโครงสร้างประชากร เทคโนโลยี การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน พฤติกรรมของผู้บริโภค
ในภาคส่วนเศรษฐกิจของไทยนั้น คณะบดีคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น หากดูจากทิศทางที่สหภาพยุโรปหรืออียู ลงมติให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ รวมถึงการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจากันต่อภายหลังการเลือกตั้งของไทย ดังนั้นความท้าทายที่รัฐบาลไทยต้องทำให้ได้คือการเดินตามโร้ดแม็ป การจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายในปีหน้า ส่วนภาคธุรกิจ ผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ผ่านจะพบว่า มีการส่งเสริมการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้นไม่เฉพาะในส่วนของ EEC เท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดเล็ก SME ด้วย
“ดังนั้นเมื่อมองเศรษฐกิจไทยที่ส่อไปทางที่ดีขึ้น จากอานิสงส์รอบนอก การส่งออกที่กระเตื้องกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ฐานล่างยังอ่อนแอ หมายถึงดี แต่เป็นกลุ่มข้างบนดี ส่วนภาคตั้งแต่กลางไปถึงล่างยังอ่อนแอ ส่วนการเข้ามาของเทคโนโลยี องค์กรไหนจะอยู่รอดขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทันมากกว่าการบอกว่าใครเป็น Modern Trade หรือธุรกิจสมัยใหม่ๆ เพราะยังไงกลุ่มนี้ก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ๆ ตลอด” ดร.พสุ กล่าว และว่า ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีต่อเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของภาครัฐ เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป้นต้น
ดร.พสุ กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญในเทรนด์ปีหน้าคือ Experience Economy (เศรษฐกิจที่เน้นประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ) การที่คนให้ความสนใจกับประสบการณ์มากกว่าสินค้าที่ได้รับ ยกตัวอย่างเวลาไปเที่ยว เรามักแชร์ประสบการณ์จากสิ่งที่ได้รับ ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องหันมาเน้นในเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า เพราะจะนำมาสู่อีกเรื่องคือ Emotional Engagement คืออารมณ์ร่วมของลูกค้านั่นเอง
ต่อมาในส่วนของทิศทางที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 อื่นๆ ดร.พสุ กล่าวว่า ความเป็นสินค้าพรีเมี่ยม(Premiumization) คือการซื้อของน้อยชิ้นลง แต่เน้นที่ของราคาแพง มีคุณภาพมากขึ้น ปัจจุบันคนไทยหันไปใส่ใจในเรื่องสินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้นตามทิศทางโลก อีกส่วนที่สำคัญมากๆ ในโลกที่คนอยู่กับออนไลน์มาก เทรนด์โลกกลับเดินไปยังโลกออฟไลน์ กลยุทธ์ที่ว่าคือ O2O (Online to Offline) คือทำอย่างไรให้การจับจ่ายออนไลน์ให้ประสบการณ์แบบเดียวกับโลกออฟไลน์ ตรงนี้จะส่งผลให้การขายรุ่ง อย่างเช่นที่ เว็บขายออนไลน์อย่าง Amazon หรือ Alibaba ได้ทำเเล้ว
“Connected Customer ก็เป็นเทรนด์สำคัญ เมื่อผู้บริโภคเกาะติดการเชื่อมต่อจนก่อให้เกิดการแบ่งกลุ่มย่อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของช่วงวัยอีกต่อไปแต่เป็นไลฟ์สไตล์ตามพฤติกรรมการเสพติดดิจิทัล ส่วนประเด็นเรื่อง Big Data ถึงวันนี้กลายเป็นเรื่องเชยไปแล้ว สิ่งที่ต้องการคือ Smart Data ” ดร.พสุกล่าว