เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญไทย
คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้กรุณาให้ผมเขียนแง่คิดวิชาการสะท้อนหนังสือ "แห่งชีวิต" ของเธอ คือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่ง ผมจะขอสนองคำเชิญของเธอดังนี้:
สิ่งที่แน่ชัด สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราเห็นทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร.9 มิได้เป็นมรดกโดยตรงที่สืบมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งระบอบเก่านั้น ก็คือ ร.7 หรือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งระบอบประชาธิปไตยด้วย แต่เพียงสองปี ก็ทรงพลันลาออกจากราชสมบัติ ด้วยทรงขัดแย้งอย่างหนักกับคณะราษฎร ส่วน ร.8 หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คือ พระมหากษัตริย์องค์ที่สองในระบอบใหม่นี้ แต่ทรงพระเยาว์ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งล้วนแต่งตั้งโดยคณะราษฎรหรือโดยรัฐบาล และสวรรคตก่อนที่จะทรงบรมราชาภิเษก พระเจ้าอยู่หัว ร.9 นั้น ทรงเป็นเพียงพระองค์ที่สามในระบอบที่เกิดหลัง 24 มิ.ย. 2475
แน่นอน การเรียกพระองค์ท่านว่า "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" นั้นก็น่าจะได้ เพราะพระองค์ท่านทรงครองราชย์และครองใจคนไทยอยู่นานถึง 70 ปี และท่านได้กำหนดวิถีปฏิบัติต่างๆ ใน ฐานะพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลรัฐธรรมนูญ กับข้าราชการ ทหาร และนักการเมือง และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชน ให้เป็นแบบแผนต่อมาถึงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน
หลายสิบปีมานี้ เรามีคำศัพท์ที่ลงตัวได้แล้ว เรียกระบอบของเราเองไว้ว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คำนี้แปลมาจากคำว่า Constitutional Monarchy แต่ที่อยากจะชี้คือ ในภาษาอังกฤษนั้น คำว่า Monarchy หรือ ราชาธิปไตยนั้นเป็นคำนาม ส่วนคำว่า Constitutional เป็นเพียงคุณศัพท์ ตามทฤษฎีของอังกฤษนั้น สหราชอาณาจักร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นราชาธิปไตย เพียงแต่ อยูในกำกับของรัฐธรรมนูญ แต่ในบ้านเรานั้น ถือเอาประชาธิปไตยเป็นคำนาม ส่วน "ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นั้น เป็นเพียงคำขยายของประชาธิปไตย
ความจริง ระบอบประชาธิปไตยในทุกวันนี้ของไทยเรา ก็ เป็น "ราชาธิปไตย" ด้วย อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เท่านั้น รัฐบาลก็เป็นของพระเจ้าอยู่หัว เพราะทรงโปรดเกล้าฯ ก่อน ถึงจะเป็น นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี อีกทั้งในระยะหลังนี้ ยังถือเคร่งครัดกันว่า รัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อน จึงจะเข้าทำงาน อนึ่ง เมื่อรัฐบาล หรือ รัฐมนตรี จะลาออกนั้นก็ต้องถวายบังคมฯ ลาออก และยังต้องมีพระบรมราชโองการให้ลาออกด้วย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา นั้น แม้จะไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยทั่วไป แต่การจะเปิดรัฐสภาได้ ไม่ใช่เพราะประธานสภาเรียก แต่ต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมก่อนด้วย ทั้งมีระบุในรัฐธรรมนูญทั้งหลายของเราว่า ในสมัยแรกของรัฐสภานั้น จะต้องมีพระมหากษัตริย์เสด็จไปเปิดรัฐสภา จึงจะถือว่าเป็นการเปิดที่สมบูรณ์ และการยุบสภาผู้แทนราษฎร นั้น ก็จักต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกายุบสภา จึงจะมีผล ไม่ใช่เพียงให้นายกรัฐมนตรีสั่งยุบสภาเองก็ได้ อนึ่ง บรรดา กฏหมายทั้งปวง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ลงมาถึงพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา ล้วนต้องได้รับพระปรมาภิไธยจากพระเจ้าอยู่หัวก่อน จึงจะไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาได้
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งปวงไม่ว่าเป็นพลเรือน หรือ ตำรวจและทหาร จะดำรงตำแหน่งหรือรับยศ ก็ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อน จึงถือว่าเป็นข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน
อนึ่ง ศาลทั้งปวง และกรรมการ อิสระทั้งหลาย ก็ตัดสินหรือวินิจฉัยในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาหรือตุลาการหรือกรรมการต่างๆ ล้วนต้องรอโปรดเกล้าฯและต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ก่อน โดยทั่วไป จึงจะถือว่าเข้าทำงานได้ และ ยังต้องตัดสินตามตัวบท “กฏหมายของพระเจ้าอยู่หัว” ไม่ว่าจะเรียกเป็นรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือ พระราชกฤษฎีกา
การที่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง หรือ โปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฏหมายในระดับต่างๆ ก่อน หรือ โปรดเกล้าฯให้รัฐสภาเปิด หรือ ปิด หรือ ให้ยุบสภาผู้แทน ฯลฯ นั้น จะต้องมีผู้รับสนอง จึงจะมีผล แต่ในธรรมเนียมไทยปัจจุบันนั้น การลงพระปรมาภิไธยนั้น ถือว่าสำคัญมาก สำคัญกว่าคนรับสนองอีก ขาดไม่ได้ ทีเดียว
อย่างไรก็ดี คำว่า ร.9 ทรงเป็น "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ตามที่คุณวิมลพรรณใช้นั้น ต้องขอขยายความหน่อย เพราะในการเมืองไทยกว่า 70 ปี ที่ผ่านไปนั้น บางครั้ง หรือ บ่อยครั้ง เสียด้วย มีการยึดอำนาจโดยทหาร มีการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ ประกาศให้รัฐสภา และคณะรัฐมนตรีหมดสภาพไป แล้วปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญสักพักก็ได้ แต่ น่าพิศวง สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยังคงอยู่เสมอ มิได้สลายไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นอันว่าในไทยนั้น สักวันเดียว วินาทีเดียว ก็ขาดพระมหากษัตริย์มิได้ ส่วนรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยนั้น บางช่วงก็มี บางช่วงก็ไม่มี ไม่เป็นไร สถาบันพระมหากษัตริย์ของเรานั้น บางช่วงอยู่กับระบอบทหาร หรือ ระบอบเผด็จการ ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือ รัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ หรือไม่ค่อยใช่ประชาธิปไตย ก็ได้ โปรดสังเกตว่าในการยึดอำนาจนั้น จะสมบูรณ์สำหรับคนไทยทั้งปวงได้ ก็ต่อเมื่อหัวหน้าคณะยึดอำนาจนั้นได้รับการโปรดเกล้า ฯและรัฐบาลจากการยึดอำนาจนั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ ก่อนเสียด้วย จึงจะเริ่มทำงาน ได้
ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเรียกระบอบของไทยว่า “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั้น จะถูกหรือ ผมเห็นว่าที่แจ่มชัดนั้น เรียกว่า ระบอบราชาธิปไตย ได้ มากกว่า และ ก็ เป็นราชาธิปไตยที่อยู่กับ เลือกตั้ง-ประชาธิปไตยก็ได้ หรือ ต้องอยู่กับการยึดอำนาจ-เผด็จการ ก็ได้
ช่วงเวลา 85 ปี หลัง 2475 นั้น ผมขอมองไทย แบบไม่ติด "กับดัก" ของอุดมการ ว่าอยู่ในระบอบ "ทวิอำนาจ" เสียมากกว่า คือเราใช้สองระบอบ ใช้สลับกัน เป็นประชาธิปไตย ก็ได้ หรือ เป็นเผด็จการ-ทหาร ก็ได้ ความชอบธรรมสำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว สองระบอบนี้ เกือบจะดีเลว เท่าๆ กัน พอ ๆ กัน ใช้สลับกันได้ เกือบเหมือนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซก็ได้ -ใช้น้ำมันก็ได้ หรือ รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าก็ได้ -ใช้น้ำมันก็ได้ มันเป็นระบบคู่ หรือ เรียกให้สนุกปากว่า มันเป็นระบบ "ดูโอ" ก็ได้
คำว่า “ราชาธิปไตย” ที่ผมใช้นี้มิได้หมายจะให้อำนาจและสิทธิ์ขาดในการปกครองและบริหารหรือพัฒนาบ้านเมืองแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ต้องให้ปากเสียง สิทธิ และ อำนาจ แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง หรือ พระมหากษัตริย์จะตรารัฐธรรมนูญและกฏหมายอื่นใดโดยทั่วไปโดยลำพังย่อมไม่ได้ หรือจะทรงใช้งบประมาณโดยลำพังเอง ตามพระทัยเอง ไม่ได้ หรือ จะทรงแต่งตั้งใคร ให้ไปทำอะไร ก็ได้ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการย่อมไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ก็มิได้ทรงเป็นหรือทรงทำเช่นนั้น และ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอง ก็ตราไว้ ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ทำไม่ได้
อยากจะบอกว่า สำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้วนั้น ระหว่างราชาธิปไตย กับ ประชาธิปไตย นั้น อย่างแรกสำคัญกว่า ชอบธรรมกว่า จำเป็นกว่า ขาดไม่ได้เสียมากกว่า มากกว่าเยอะ ด้วย และในบ่อยครั้ง ประชาธิปไตย กลับต้องพึ่งพิงราชาธิปไตยเสียด้วย
ย้อนหลังไปมองราชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น บ่อยครั้ง นับรวมเป็นช่วงเวลาก็นานมาก ต้องอยู่กับภาวะที่ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญ แล้วจะเรียกพระองค์ท่านเป็น “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” จะได้ไหม ? ผมเห็นว่าน่าจะได้ หากรัฐธรรมนูญนั้น หมายถึงข้อตกลงร่วมสำคัญยิ่งยวดที่คนไทยทั้งปวงยอมรับว่า ในประการแรกสุดประเทศไทยนั้น ต้องเป็นราชาธิปไตยด้วยเสมอ จะต้องมีพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์นั้นคือความชอบธรรมสูงที่สุด คือที่มาของเกียรติยศที่สุด คือสถาบันที่ช่วยประคับประคองระบอบการเมืองทุกชนิด ที่สลับปรับเปลี่ยนไปมา และระบอบการเมืองใดก็ต้องอยู่กับราชาธิปไตย และย่อมต้องได้รับความเห็นชอบก่อน หรือรับรองก่อน จากราชาธิปไตย ด้วย จึงจะถือว่าชอบธรรม
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้เขียนนี้ เห็นว่าผู้ถืออธิปไตยในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว คือ มีแต่ประชาชน แต่มีรวมสามฝ่ายด้วยกัน หนึ่ง แน่นอน พระมหากษัตริย์ สอง ประชาชน สาม ผู้แทน ผู้นำ จากการเลือกตั้ง หรือ จากการยึดอำนาจ ได้สำเร็จ
การบริหารและปกครองประเทศ จริงๆ นั้น อำนาจสูงสุด อยู่กับผู้แทน หรือ ผู้นำ ที่มาจากการเลือกตั้ง จากสภาหรือ ที่มาจากการยึดอำนาจสำเร็จ ก็ได้ แต่ กล่าวเฉพาะผู้ที่มาจากการยึดอำนาจนั้น ต้องมีพระมหากษัตริย์ยอม ยอมรับ หรือ เห็นชอบด้วย หลังการยึด จึงจะสำเร็จได้ อนึ่ง ในการยึดอำนาจนั้น พลันที่ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จำต้องรีบประกาศรับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ และรีบประกาศว่าจะสักการะเทอดทูนพระมหากษัตริย์ต่อไปเท่านั้น ขาดเสีย มิทำมิได้ จึงจะมีประชาชนและข้าราชการยอมรับหรือคล้อยตาม
ประการที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้เขียนนี้ยังบอก ดังกล่าวมาแล้ว ว่าประเทศเราที่จริงนั้นใช้ประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการ-ทหาร ก็ได้ เรานั้นเหมือนกับมีระบอบการเมืองสองแบบ สลับกันไปมา ระบอบเดียวระบอบใดจะคาดหวังว่าอำนาจ และ ความชอบธรรมจะตัองเป็นของตนเท่านั้น ย่อมไม่ได้ ดังที่เรียกมาแล้วในเบื้องต้นว่า เราอยู่ระบอบ "ทวิอำนาจ" เรามีราชาธิปไตยเคียงกับระบอบ "ทวิอำนาจ"
70 ปีของรัชกาลที่ 9 มิใช่เป็นแต่เพียงยุคทองของประเทศที่ก้าวจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงยุคราษฎรหรือพสกนิกรร่มเย็นเป็นสุขใต้พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ที่เป็นดั่ง "พระโพธิสัตว์" เท่านั้น แต่ยังเป็นยุคสมัยที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงมี "ราชประชาสมาศัย" ร่วมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด ร่วมกับสื่อสารมวลชน ร่วมกับนักการเมือง กับ ทหารตำรวจ และ กับข้าราชการ ทรงสร้าง “ราชาธิปไตยที่อยู่ในกำกับของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร” ขึ้นมาเป็นจริงได้ รัฐธรรมนูญฉบับไม่มีลายลักษณ์อักษรนี้ มีหลายที่ มีหลายส่วน โดยเฉพาะที่พูดถึงความชอบธรรม และ นิรันดร และความจำเป็นของพระมหากษัตริย์และสถาบันนั้น แข็งขัน และ ศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้รัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ใดๆ รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นทางการนี้ช่างยืนยง และ ช่างต่อเนื่อง หามีใครกล้าฉีก หรือ พยายามฉีก ได้สำเร็จ รัฐธรรมนูญนี้ซ่อนไว้ในใจของคนไทยส่วนใหญ่ แต่จะว่าไปกระไรมี ก็รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ที่เรายกย่อง เอามาเป็นต้นแบบหนึ่งของประชาธิปไตยเรา ก็มิได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักขระแต่ประการใด
ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับไม่เป็นทางการนี้ จะมีคนไม่เห็นด้วย บ้าง ไม่เอา ทั้งฉบับ หรือในบางส่วนบ้าง และพยายามแก้ไขในหลายๆส่วน การณ์จะเป็นต่อไปในบ้านเมือง ในรัชกาลใหม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป ผมเอง เห็นว่า หนึ่ง ประชาชน นั้น สำคัญมาก เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นทางการนี้ เป็นทั้งพสกนิกร แต่ต้องเป็นพลเมืองด้วย ต้องมีสิทธิมีเสียง มีอำนาจ มีบทบาท มีหน้าที่ และมีส่วนร่วมแข็งขันในการเมืองการบริหารมากขึ้น สอง ในส่วนการเลือกตั้ง และ การมีพรรคการเมือง นักการเมืองนั้น ก็ถือว่าสำคัญ แต่ยังรองลงมา และยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่น้อย
สุดท้าย ผมยังเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วเราต้องทำให้ระบอบ “ทวิอำนาจ” นั้น หมดไป เป็นเหลือแต่ประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ใครๆ รวมทั้งในต่างประเทศ ได้ยอมรับ และเข้าใจได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงอันเกิดจากการเข้ายึดอำนาจและความเสี่ยงอันเกิดจากการขับไล่ทหารออกจากการเมือง แต่ประชาธิปไตยนี้ไม่จำต้องเป็นเหมือนแบบ "ตะวันตก" เท่านั้น ควรคำนึงถึงลักษณะพิเศษของสังคมไทย ด้วย โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รัชกาลที่เก้าทรงพระราชทานให้ไว้นั้น เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ชอบธรรม และ ได้แสดงให้เห็นชัดแล้วว่ามีปรีชาญาณยิ่ง สมควรยิ่งที่ประชาชน ทหาร และข้าราชการ รวมทั้ง นักการเมือง จะเอาพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษาและเป็นทางออกให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ทำอะไรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และไม่ปล่อยให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในภาวะที่ "เสี่ยงภัย" ทางการเมืองโดยไม่จำเป็น
ในการนี้จำที่พวกเรา รวมๆกันว่าเป็น “พสกนิกร” หรือ เรียกรง่ายๆว่า เป็น "ประชาราษฎร์" จำต้องพยายามลดความแตกต่างและแตกแยก รู้จักรักและสามัคคีให้มากขึ้น และร่วมกันหรือประสานกัน ในการขอพระบรมราชวินิจฉัย หรือ หากว่าพระองค์ท่านเห็นว่าการใด สิ่งใด เป็นขัอยุติ ก็ควรที่ทุกฝ่ายจะเดินตามนั้น หรือ ทำตามนั้น แล้ว บ้านเมืองก็จะมี “ทางออก” ด้วยเหตุว่า พระเจ้าอยู่หัว ในรัฐธรรมนูญแห่งหัวใจของเรานั้น ทรงเป็นของคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกสถานะ ทุกภาค ทุกชาติกำเนิด แหละนี่เป็นจุดแข็งของเมืองไทย เราตัองใช้จุดแข็งนี้ให้เป็น
หากทำตามนี้กัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ก็จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ “พระองค์ที่สอง” ใต้รัฐธรรมนูญ ได้ และการที่พระองค์ทรงเป็นองค์ที่สองต่อจากพระราชบิดา นั้นไม่ใช่เป็นไปเพื่อพระองค์เอง อย่างแน่ชัด หากเป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อชาติบ้านเมืองที่ต้องการออกจาก "กับดัก" ของความขัดแย้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา พร้อมกับออกจากระบอบ "ทวิอำนาจ" ให้ได้
ไม่ทราบว่าคุณวิมลพรรณ ผู้เขียน และท่านผู้อ่านโดยทั่วไปจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมสะท้อนมาให้แค่ไหน แต่ขอให้รับทราบว่าสำหรับผมแล้ว เราต้องเฉลิมฉลองรัชกาลที่ 10 ด้วยการช่วยกัน ร่วมกัน คือ ต้องใช้ “สมาศัย” และร่วมกับพระมหากษัตริย์ เป็น “ราชประชาสมาศัย” ร่วมกันทำให้รัชกาลที่ 10 เป็นดั่ง “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” อีกพระองค์หนึ่ง แหละนั่นย่อมจะเป็นคุณมหาศาลต่อประชาธิปไตย และต่อบ้านเมือง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก blogspot.com