ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: กว่าหนึ่งร้อยปี วิกฤติรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศ
" สยามประเทศจึงไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะขยายต่อท้ายด้วยอะไรก็ตาม ความอยากที่เราอยากเป็นแบบ อังกฤษ แต่การเมืองเราไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงกลายเป็นวัฏจักรของไทย อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วย “รัฐประหาร” และการเขียนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเทศของเรามีสิ่งที่เรียก ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป อภิวัฒน์ การยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหาร (ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำเดียวคือ Coup) ทั้งหมด 13 ครั้งในรอบ 83 ปี"
ในงาน 'เจาะเวลาหาอนาคต' งานวันรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 60 ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดโดยกลุ่ม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group - DRG) และ Third Way Thailand ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี
อาจารย์ชาญวิทย์ ขยายความหัวข้อปาฐกถาครั้งนี้ในประเด็น “วิกฤติประชาธิปไตย” ว่า เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญและเลือกตั้ง อำนาจและบารมีที่ต้องสั่งสม บางคนมีอำนาจแต่ไม่มีบารมี
“ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมือง เราอยู่ในช่วงที่เรียกว่า Long History (ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน) คือยาวกว่า 150 ปี”
พร้อมกับชวนย้อนเวลากลับไปดูจุดเริ่มต้นความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญที่มีการก่อนยุค 2475 โดยพยายามชี้ให้เข้าใจว่า ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ กับวิกฤติประชาธิปไตยต้องแยกกันก่อน โดยเฉพาะในบ้านเรา ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง ซึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว มีการแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นไทยโดยหมอบลัดเลย์ ฉะนั้น ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในตอนนั้นอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 -รัชกาลที่4
“หมอบลัดเลย์ ท่านได้แปลรัฐธรรมนูญเป็นไทย นับแต่นั้นมาเราผ่านประวัติศาสตร์การเมืองรัฐธรรมนูญ โดยในช่วง ร.4-ร.5 ซึ่งตรงกับพ.ศ.2427 เริ่มมีการขอร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก (ซึ่งก็อยู่ในช่วงประมาณการก่อตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบ) โดยกลุ่มเจ้านายเล็กๆ สะท้อนความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญได้เริ่มผลิดอกออกผลแล้ว เพราะขณะนั้นประเทศญี่ปุ่น ในราชวงค์เมจิ มีรัฐธรรมนูญแล้ว ทำไมสยามประเทศซึ่งมีการปฏิรูปใหญ่มาพร้อมๆ กันถึงยังไม่มี ซึ่งคำตอบในตอนนั้นมีเพียงให้ขอรอไปก่อน จากตรงนั้นก็กลายเป็นวาทะของชนชั้นนำ ซึ่งกรรมเป็นของชนชั้นล่างจนกระทั่งวันนี้”
อาจารย์ชาญวิทย์ ให้มุมมองอีกว่า ถ้าดูร้อยปีที่ผ่านมาจนถึงร.6 ซึ่งเราลืมไปแล้วว่ามีกบฏ ร.ศ.130 (1912) ซึ่งตรงกับพ.ศ.2454 -2455 อันเกี่ยวเนื่องจากหลังการปฏิวัติซุนยัตเซ็น ประมาณหนึ่งปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาในเมืองไทยแล้ว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโลก ในสมัยร.6 มีความพยายามในการยึดอำนาจซึ่งก็ได้รับอิทธิพลในระดับโลกคือประเทศจีน (ซุนยัตเซ็น) และการสิ้นราชวงศ์ชิงเรื่อยมา เราเองก็รู้ในเรื่องนี้ มีการทดลอง “ดุสิตธานี” แต่กลับมีคำตอบเดิม ที่บอกว่า “ขอรอไว้ก่อน”
กลับมาที่เรื่อง “รอ” ที่อาจารย์ชาญวิทย์บอกว่า ยังไม่พูดเรื่องการเลือกตั้ง โดยชวนคิดในความหมายประชาธิปไตยในตอนนั้น อันหมายถึงว่า ต่อให้มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในยุคนั้น ก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบแต่งตั้ง เพราะฉะนั้น กระทั่งปีนี้ 2560 ที่เพึ่งเปลี่ยนผ่านรัชกาลมา อันเป็น Long History เรื่องที่วิกฤติที่มีอยู่เป็นเรื่องยาวนั่นคือ “รอได้กับรอไม่ได้” “ปฏิรูปก่อนมีรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปก่อนมีเลือกตั้ง”
“กล่าวโดยย่อในสองร้อยปีที่ผ่านมาหรือร้อยปีของไทย เป็นเรื่องของโลกาภิวัฒน์ที่เป็น Modern World มีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง”
อาจารย์ชาญวิทย์ กล่าวสรุปในประเด็นตรงนี้ว่า ในแง่สถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงและถาวร กรณีอย่างประเทศอังกฤษ หรือกรณีญี่ปุ่น เห็นชัดมาก อย่างอังกฤษที่มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปกับการเลือกตั้ง และยุคประเทศตะวันออก ประเทศที่ไม่สามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปกับประชาธิปไตยก็ล่มสลายไปเช่นประเทศจีน หรือ พระเจ้านิโคลัสที่สองของรัสเซีย เป็นต้น ฉะนั้นนับตั้งแต่มีการแปลรัฐธรรมนูญมา ผ่านรัชสมัยร.4 - ร.6 เมื่อถึง 24 มิ.ย. 2475 ได้เกิดการเปลี่ยนการปกครองขึ้นโดยคณะราษฏร ซึ่งแม้ ร.7 จะเห็นด้วยในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ และเมื่อต้องรอก็เกิดคนไม่รอ เป็นการกลับไปกลับมาก็เกิดการปะทะกัน
" แม้จะมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่คิดว่าการปะทะกันในที่นี้มีมากกว่าสองฝ่ายก็ตาม กลุ่มใหญ่ๆ หลักมีสองกลุ่ม กระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกินระยะเวลา 48 ปี นับตั้งแต่ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเริ่มผลิดอกจากนั้นสยามก็เข้าสู่โหมดในยุคสอง กินเวลาอีก 83 ปี เกิดคณะราษฎรยุคใหม่เข้ามาคุมสถาณการณ์ได้เพียง 1 ทศวรรษ ก็เกิดเหตุกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ทำให้ผู้นำเก่า อำนาจเก่า บารมีเก่า เงินเก่า และความคิดเก่าสามารถใช้การสวรรคตโหนการปราบปรามความคิดที่แตกต่างหลากหลายออกไป"
ดร.ชาญวิทย์ บอกว่า ความพยายมขจัดคนคิดต่างในยุคนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก เช่น กรณีปรีดี พนมยงค์ 4 ส.ส.อีสาน หรือกองทัพเรืออย่าง หลวงธำรงฯ (พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ) ตลอดจนผู้มีความคิดต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (ที่เคยถูกต้องตามกฎหมายในช่วงสั้นๆ หลังสงครามโลก) กลายเป็นทั้งฝ่ายทหารบกกับฝ่ายเจ้า และฝ่ายอำมาตย์ได้ร่วมกันกลับเข้ามามีอำนาจอีกใหม่อีกครั้ง นับตั้ง2490 เป็นต้นมา รัฐบาลที่ได้มาขาดเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันนั้น มีการสถาปนาสิ่งที่เรียกในวงวิชาการว่า เป็นพระราชอำนาจนำ ที่ทำให้ประเทศชาติดูเหมือนจะมีเพียงสถาบันเดียวที่นำพาสังคมได้
" สยามประเทศจึงไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะขยายต่อท้ายด้วยอะไรก็ตาม ความอยากที่เราอยากเป็นแบบ อังกฤษ แต่การเมืองเราไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงกลายเป็นวัฏจักรของไทย อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วย “รัฐประหาร” และการเขียนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเทศของเรามีสิ่งที่เรียก ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป อภิวัฒน์ การยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหาร (ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำเดียวคือ Coup) ทั้งหมด 13 ครั้งในรอบ 83 ปี"
อาจารย์ชาญวิทย์ ชี้ว่า วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญมาเป็นฉบับที่ 20 แล้ว ซึ่งในรอบทุกๆ สิบปีเราก็เปลี่ยนครั้งหนึ่ง จนมีคนพยากรณ์ว่า อีกสิบปีจะเปลี่ยนอีกหรือไม่ แต่คิดว่าจะมีก่อนหน้านั้น เราพยายามที่จะออกจากวังวนซ้ำซากมาแล้วในหลายครั้ง อย่างการเสนอสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการใช้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยใช้พระเดชเป็นหลัก กับอีกแบบคือ สมบูรณาญาสิทธิราชโดยใช้พระคุณเป็นหลัก หรือแนวคิดเรื่องการใช้การตลาดเป็นหลัก เช่นสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน หรือแนวทางปฏิรูปประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป เช่นปี 2540 เป็นต้น
อาจารย์ชาญวิทย์ วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ 2475 จะเห็นว่าการเมืองไทยขาดกำลังทหารไม่ได้ในการปฏิวัติทางการเมือง เพียงแต่ว่า ทหารจะอยู่ฝ่ายไหน โดยแรกเริ่ม 2475 ทหารอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ในกรณีที่ประเทศมีปัญหาแบบนี้อย่าง อินโดนีเซีย พม่า มักจบลงด้วยทหารมาเล่นเกมส์ประชาธิปไตย กรณีอย่าง อินโดนีเซีย ที่ทหารมีส่วนประกอบในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงนำประชาธิปไตยมาได้ หรือในกรณีของพม่าอย่างอองซาน ซูจี ที่ร่วมมือกับฝ่ายทหารเช่นกัน
สำหรับวิกฤติการเมืองล่าสุด อดีตอธิการบดีมธ. เห็นว่า ใกล้ตัวมากคือนับตั้งแต่พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ได้สะท้อนในเรื่องรัฐสภา อำมาตย์ ข้าราชการ นักการทหาร มวลชนทั้งชนชั้นกลางและล่างเกิดรัฐประหารสองครั้งล่าสุด บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัชสมัยที่เปลี่ยนผ่าน คนไม่น้อยคิดว่า ต้องมีความรุนแรง แต่สิ่งที่เราท่านๆ คงต้องตั้งสติให้ดีหาทางออกว่า ทำอย่างไรในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะไม่มีความเสียหายที่รุนแรงอย่างกัมพูชาแล้วกินเวลาสั้นที่สุด
อาจารย์ชาญวิทย์ ทิ้งท้ายปาฐกถาด้วยทฤษฎี 5 M ซึ่งพยายามขยายภาพที่เรามักมองเผินๆ คิดว่าการเมืองมีเพียง เหลืองและแดง แต่หากมองลึกๆ มองรวมๆ ในสิ่งที่เรียกว่า การเมืองการปกครองของบ้านเราตอนนี้ เราดูเพียงแค่ เหลืองๆ แดงๆ ไม่พอ ต้องมองลึกลงไป โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. Monarchy สถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกใช้ตลอดเวลาในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
2. Military ทหารบวกด้วย ข้าราชการทหาร และตำรวจพลเรือน ตุลาการ
3. Money เงินทุนทั้งใหญ่และน้อย
4. Middle Class รวมถึง Media หรือสื่อด้วย ซึ่งสื่อกับเหตุการณ์อย่าง 14ตุลาฯ 16ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ สื่อมีความเกี่ยวข้องอย่างมาก
และสุดท้าย 5. Mass มวลชน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก นับแต่นี้ต่อไป กลุ่มนี้จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ