รมช.คมนาคม หวังคนกรุงใช้บริการรถเมล์เอ็นจีวี ทัน มิ.ย. 61 -เร่งรัด ขสมก.ส่งแผนฟื้นฟูกิจการ
‘ดร.ไพรินทร์’ รมช.คมนาคม มอบนโยบาย ขสมก. เผยนโยบายเร่งด่วน จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ส่งมอบภายใน มิ.ย. 61 เป็นของขวัญคนกรุง พร้อมเร่งรัดแผนฟื้นฟูกิจการ เล็งปรับรูปแบบขนส่งใหม่ เดินรถระยะสั้น โครงข่ายใยแมงมุม ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หวังลดภาระแออัดบนรถไฟฟ้า ด้านสหภาพแรงงานฯ ยื่น 9 ข้อร้องเรียน ยกเครื่ององค์การฯ
วันที่ 9 ธ.ค. 2560 ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ขสมก.
ดร.ไพรินทร์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายถึงโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดซองประมูลด้วยวิธีคัดเลือก เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ว่าจากการมีเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า SCN-CHO นำโดย บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) นั้น เสนอราคาสูงกว่าราคากลางร้อยละ 10 หรือ 4,400 ล้านบาท อาจถูกตั้งคำถามว่า จะดำเนินการต่อได้หรือไม่ เนื่องจากมีเอกชนเสนอเพียงรายเดียว จึงได้กำชับไปยัง ขสมก.ให้พิจารณาดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่ง ขสมก. จะจัดประชุมเพื่อสรุปในสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง
“โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และคาดหวังว่า จะได้รถทั้งหมด 489 คัน ภายใน มิ.ย. 2561 เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ชาวกรุงเทพฯ ในวันเปิดเทอม”
เมื่อถามถึง วิธีดำเนินการรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวีของบริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด จำนวน 84 คัน ที่ใช้พื้นที่จอดภายใน รฟม. ขณะนี้ รมช.คมนาคม ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เเต่ขอให้ไปฟังในวันตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ รฟม. อีกครั้งหนึ่ง
ดร.ไพรินทร์ ยังกล่าวถึงประเด็น ขสมก. เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ซึ่งประสบปัญหาหลายด้าน ว่าต้องนำเสนอมายังกระทรวงคมนาคมโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต่อไป เพื่อสุดท้าย ขสมก. จะกลายเป็นหน่วยงานให้บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ขสมก.ยังไม่เคยส่งแผนฟื้นฟูเลย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า รูปแบบคมนาคมขนส่งเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีรถไฟฟ้าให้บริการหลายสาย ฉะนั้นต่อไปบทบาทการให้บริการอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมวิ่งรับส่งผู้โดยสารเส้นทางระยะยาว อาจเหลือเพียงวิ่งระยะสั้น เชื่อมต่อจุด ในลักษณะโครงข่ายใยแมงมุม เพื่อแบ่งเบาภาระความแออัดจากรถไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนเริ่มการประชุม นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( สร.ขสมก.) ได้ยื่นหนังสือถึง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ให้เร่งแก้ปัญหาของ ขสมก. และพนักงาน โดยมีข้อเสนอ 9 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ให้เร่งรัดดำเนินการจัดหารถใหม่แทนรถเก่าที่หมดอายุการใช้งาน จำนวน 489 คัน ซึ่งปัจจุบันนี้อายุการใช้งานประมาณ 27-28 ปี
2.ให้เร่งรัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตั้งจีพีเอสและถอดการติดตั้งจีพีเอส รถที่ไม่ใช้ง่าย พร้อมดำเนินการเร่งรัดการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ท ให้เป็นไปตามสัญญา
3.ให้พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ป่วยเป็นโรคสืบเนื่องจากการทำงาน ซึ่งสภาพร่างกายไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมได้ ให้เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด เพื่อจะได้นำเงินก้อนสุดท้ายไปรักษาตนเอง
4.ให้องค์กรตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน และผลประโยชน์ทับซ้อนของพนักงานทุกตำแหน่ง
5.ให้องค์การติดตามหนี้สินรถร่วมเอกชนทุกประเภทที่ค้างชำระหรือหากผิดเงื่อนไขสัญญให้ยกเลิกสัมปทาน โดยให้ฝ่ายกฎหมายขององค์การฯ เร่งรัดหนี้สินตามกฎหมายต่อไป
6.ให้ทำสัญญาเหมาซ่อม โดยต่อสัญญาซ่อมบำรุงรถโดยสารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้การซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เเละจัดหาอะไหล่มารองรับการซ่อมบำรุงให้เกิดประสิทธิภาพในการบริการ
7.ให้รัฐบาลรับผิดชอบหนี้สินขององค์การฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในฐานะหน่วยงานของรัฐ บริการประชาชนต่ำกว่าต้นทุน
8.เร่งรัดให้องค์การฯ ดำเนินการจำหน่ายรถที่ปลดระวาง เพราะจะต้องเช่าสถานที่จอดรถของเอกชนจอดรถปลดระวาง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
9.ให้สหภาพแรงงานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ในการประชุมบอร์ดทุกครั้ง เเละเป็นกรรมการขององค์การฯ ในการประชุมของฝ่ายบริหาตเกี่ยวกับแผนนโยบาย หรือปรับโครงสร้างองค์การที่จะส่งผลกระทบต่อพนักงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ .