เงินสด 18 ล.บ้านปลัด‘สุพจน์’ ธนบัตรเก่า เบิกจากแบงก์ 8 แห่ง ปี 52-ก.พ.54
คดีสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดคมนาคม ซุกทรัพย์สิน คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุชัด เงินสดของกลางที่ถูกโจรปล้น 18 ล. เป็นธนบัตรเก่า เบิกจากธนาคาร 8 แห่ง ช่วงปี 52, กพ. - มี.ค.54 ก่อนวันแต่งงานลูกสาว 8 เดือน -สาขา รังสิตคลอง 3 ฉะเชิงเทราด้วย ข้ออ้างเงินสินสอด พ่อลูกเขย ฟังไม่ขึ้น
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 210/2560) ทรัพย์สินที่นายสุพจน์ปกปิด 2 รายการ คือ เงินสด 17,553,000 บาท (เงินสดที่ถูกปล้นบ้าน) และรถตู้โฟล์คสวาเกน 1 คัน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 มูลค่า 3 ล้านบาท
กรณีรถยนต์ตู้โฟล์ค นายสุพจน์อ้างว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นของนายเอนก จงเสถียร เจ้าของบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป ซึ่งนายเอนกซื้อและนำไปให้ นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของนายเอนก และหลังจากนั้น นำรถไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้งาน (ต่อมาเลื่อนเป็นพระราชปฏิภาณมุนี รองเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร)
(อ่านประกอบ : มาเอาเงินของนาย! คนร้ายเล่า วันปล้นบ้าน ปลัดคมนาคม มี 500 ล. ขนได้ 200 ล., ชื่อ ‘พระผู้ใหญ่’ โผล่คดี ‘สุพจน์’ ซุกทรัพย์สิน อ้างมอบรถโฟล์ค 3 ล.ให้ใช้งาน, เปิดที่มา‘รถโฟล์ค’ 3 ล.ฉบับ‘สุพจน์’ โยงเมีย นักธุรกิจ – ศาลชี้ปมเอกชนได้งานการท่าฯ)
กรณีเงินสด 17,553,000 บาท ประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยก็คือ เงินของกลาง ในคดีอาญาที่ 2458/2554 ของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง จำนวน 18,121,000 บาท ที่กลุ่มคนร้ายร่วมกันปล้นบ้านนายสุพจน์ เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย.2554 เป็นของผู้คัดค้าน (นายสุพจน์) จริงหรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริง ที่นำมารับฟังในคดีนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงคำซัดทอดของกลุ่มคนร้าย แต่ยังมีถ้อยคำของพยานบุคคลแวดล้อมใกล้ชิดที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีและไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำความผิด โดยมีรายละเอียดที่ยากแก่การปรุงแต่ง เช่น ถ้อยคำจากคนใช้ในบ้าน และตำรวจที่พบกระเป๋าที่ถูกกรีดในห้องผู้คัดค้าน อีกทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมคนร้ายในหลายท้องที่ซึ่งจับกุมคนร้ายได้พร้อมเงินของกลางจำนวนต่าง ๆ ภาพถ่ายกระเป๋าที่พบในที่เกิดเหตุ เชื่อว่าน่าจะบรรจุเงินได้มากกว่าที่ผู้คัดค้านอ้างว่าถูกปล้นไป พยานหลักฐานทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่าเงินของกลาง 18,121,000 บาท เป็นเงินที่ได้มาจากการปล้นบ้านผู้คัดค้าน เมื่อนายสุพจน์เป็นเจ้าของแล้วไม่ยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช.ก็ถือว่ามีเจตนาปกปิด
ขณะที่นายสุพจน์นอกจากต่อสู้ว่า เงินที่ถูกปล้นมีเพียง 5,068,000 บาท ซึ่งนายสุพจน์ได้ยกเงินจำนวนนี้ให้ น.ส.สุทธาวรรณ ทรัพย์ล้อม และ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ลูกสาวและลูกเขย ไปก่อนวันที่นายสุพจน์มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. นายสุพจน์ยังอ้างว่า เงินที่ถูกปล้นเป็นเงินสินสอด 2 ล้านบาท และ อีก 2.5 ล้านเป็นเงินที่ นายทศพร ปราบใหญ่ บิดานายสืบพงษ์ ลูกชาย มอบให้ นายสืบพงษ์ เพื่อให้ไปดูแล น.ส. สุทธาวรรณ
ประเด็นนี้ศาลฎีกาฯวินิจฉัยว่า เงินของกลาง ที่ได้จากการปล้นบ้านนายสุพจน์ (ผู้คัดค้าน) มีการตรวจสอบจากพนักงานของธนาคารหลายแห่งพบว่าเป็นเงินที่มาจากการเบิกถอนจากธนาคารอย่างน้อย 8 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้
@ลูกสาว-ลูกเขย อ้างเงินสินสอด 2 ล.
ส่วนที่ผู้คัดค้านขอถือเอาคำให้การของ นายทศพร ปราบใหญ่ นายสมพร ปราบใหญ่ นายสืบพงษ์ และ น.ส. สุทธาวรรณ ในชั้นตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ร้องเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การในชั้นไต่สวนของศาลที่ให้การว่ามีการมอบเงินสินสอดกันจริง และในพิธีสมรสพิธีกรในงานยังแจ้งต่อผู้ร่วมงานว่า มีการให้สินสอดกันเป็นเงิน 2 ล้านบาท ก็ตาม แต่ น.ส.สุทธาวรรณ และ นายวีระ โลจายะ ให้การต่อผู้ร้องว่า เงินสินสอด 2 ล้าน บาท มีลักษณะเป็นธนบัตรใหม่ โดย น.ส.สุทธาวรรณ ยังให้การอีกด้วยว่าธนบัตรสินสอดมีปลอกคาดสีชมพูเรียบ ๆ (ปลอกคาดธนบัตรของโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย) รวมอยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การ ของนายสมพร ว่าถอนเงินสินสอด 2 ล้าน บาท มาจากธนาคารกรุงไทย สาขา นานาเหนือ โดยเป็นธนบัตรที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จากนั้น นายทศพร กับพี่สาวนำเงินดังกล่าวไปขอแลกเป็นธนบัตรใหม่ฉบับละ 1,000 บาท เป็นปึก ๆ ปึกละ 100,000 บาท จากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จำกัด (มหาชน) ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าเงินสินสอดเป็นธนบัตรใหม่
และคำให้การของคนร้ายดังกล่าวที่ว่าเห็นธนบัตรใหม่ที่ใช้ในพิธีสมรสในห้องเกิดเหตุแต่ไม่ได้เอาไป จึงสอดคล้องกับ น.ส.สุทธาวรรณ นายทศพร นายสมพร นายสืบพงษ์ และ นายวีระ ที่ให้การ ต่อผู้ร้องว่าเงินสินสอด 2 ล้านบาท มีลักษณะเป็นธนบัตรใหม่
@ปริศนา!ถอนจากแบงก์ ฉะเชิงเทรา ช่วง ก.พ.-มี.ค.54
แต่หลังจากมีการจับกุมคนร้าย และยึดเงินของกลางได้ปรากฏว่าธนบัตรที่ยึดได้นั้นมีทั้งส่วนที่มีปลอกคาดของธนาคารและไม่มีปลอกคาดของธนาคาร แต่ไม่มีธนบัตรที่มีปลอกคาดสีชมพูของโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งธนบัตรส่วนที่มีปลอกคาดนั้นเป็นของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
เมื่อตรวจสอบปลอกคาดธนบัตร โดย นายวรวิทย์ ถีระพงศ์ นางธีราธร ศิลารมย์ นายสมศักดิ์ พัฒนสัมพันธ์ นายชูชัย เนื่องศรี น.ส.จันจิรา เพิงรัตน์ พนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนมหาจักรพรรดิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา น.ส.สมศิริ ปัญญาลิขิต นายสมชาย ยงพฤกษา พนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสถานีขนส่งฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต่อผู้ร้องว่าเมื่อตรวจสอบปลอกคาดธนบัตรแล้วเป็นธนบัตรที่เบิกถอนมาจากธนาคารดังกล่าวในจังหวัดฉะเชิงเทราช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2554
@ ธ.กรุงเทพฯ รังสิต คลอง 3 โผล่ด้วย
ธนบัตรที่มี ปลอกคาดอีกส่วนหนึ่ง น.ส.นวรัตน์ อ่อนลำยอง น.ส.พิชญ์สิณี เกิดมณีเมธากุล น.ส.ปรีดาพร จงเกื้อตระกูล นางกุลณัฐ แย้มแสง พนักงานธนาคารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเอ็มพาร์ค รังสิต คลอง 3 ให้การยืนยันต่อผู้ร้องว่าเมื่อตรวจสอบปลอกคาดธนบัตรแล้วเป็นธนบัตรที่เบิกถอนมาจากธนาคารสาขาดังกล่าวช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2554 และธนบัตรที่มีปลอกคาดของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) น.ส.ปวริศา เกล็ดเงิน และ นายนำพร ด่านสุวรรณ พนักงานธนาคารให้การว่าเมื่อตรวจสอบปลอกคาดธนบัตรเป็นธนบัตรที่เบิกถอนไปในช่วงปี 2552
เห็นได้ว่า ธนบัตรที่มีปลอกคาดเป็นธนบัตรที่มีการแลกมาก่อนการจัดพิธีสมรสเป็นเวลานาน แต่การจัดพิธีสมรสเป็นการจัดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2554 ที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแลกธนบัตรล่วงหน้าก่อนการจัดพิธีสมรสถึงประมาณ 8 เดือน ทั้งบางส่วนยังเป็นธนบัตรที่มีการเบิกถอนจากธนาคารที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่การจัดพิธีสมรสคงจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครย่อมไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปแลกธนบัตรไกลถึงเพียงนั้น
นอกจากนี้พนักงานธนาคารผู้ตรวจสอบธนบัตรดังกล่าวข้างต้นยังให้การอีกด้วยว่าธนบัตรที่มีปลอกคาดที่ตรวจสอบล้วนเป็นธนบัตรหมุนเวียน ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มีลักษณะกลางเก่ากลางใหม่ และไม่เรียงเลข ส่วนธนบัตรที่ไม่มีปลอกคาดตามคำให้การของ นายศิวัฑฒ์ ปิยพิทักษ์ จะเป็นธนบัตรเก่าทั้งหมด และไม่มีปลอกคาดธนบัตรสีชมพูของโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ น.ส.สุทธาวรรณ และ นายวีระ ให้การ ต่อผู้ร้องว่าเงินสินสอด 2 ล้านบาท มีลักษณะเป็นธนบัตรใหม่ และบางส่วนมีปลอกคาดธนบัตรสีชมพูของโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ธนบัตรของกลางส่วนที่ไม่มีปลอกคาดจึงไม่ใช่ธนบัตรที่ใช้ในพิธีสมรสเช่นเดียวกัน
ทั้งยังได้ความตามรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ร้อง ว่า คนร้ายไม่ได้นำเงินสินสอดที่ใช้ในพิธีสมรสไปและนำเงินออกไปจากห้องที่เกิดเหตุไม่หมด จึงเชื่อว่าเงินของกลางทั้งหมดไม่ใช่เงินสินสอดที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าเป็นเงินที่ถูกคนร้ายปล้นไป
@ เงิน 2.5 ล.พ่อสามีให้ลูกสะใภ้ ฟังไม่ขึ้น
สำหรับเงิน 2,500,000 บาท ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเงินที่ นายทศพร มอบให้ นายสืบพงษ์ เพื่อให้ไปดูแล น.ส. สุทธาวรรณ ในห้องพักนั้น ในชั้นไต่สวนของผู้ร้องได้ความว่า นายทศพร บิดาของ นายสืบพงษ์ เคยมอบที่ดินและอาคารให้แก่บุตรคนอื่นไปแล้วจึงนำเงิน 2,500,000 บาท ใส่ซองเอกสารขนาด เอ 4 มามอบให้ นายสืบพงษ์ ในห้องพักที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เพราะไม่ต้องการให้บุตรคนอื่นทราบ เห็นว่า หากมีการมอบเงิน 2,500,000 บาท โดยไม่ต้องการให้บุตรคนอื่นของ นายทศพร ทราบย่อมกระทำกัน ในวันอื่นที่มิใช่วันจัดพิธีสมรสได้ ทั้งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมอบเป็นเงินสดเพราะนอกจากจะไม่สะดวกในการเก็บรักษายังเสี่ยงต่อการสูญหายอีกด้วย และเมื่อ นายทศพร เคยให้อาคารและที่ดินแก่บุตรคนอื่นไปแล้ว ดังนั้น การมอบเงินให้ นายสืบพงษ์ จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องทำเป็นความลับ และการมอบเงินให้ฝ่ายชาย ไปเลี้ยงดูฝ่ายหญิงเป็นการแสดงความมั่นคงในฐานะของฝ่ายชายก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดบัง
ข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ได้ว่ามีการมอบเงินให้แก่ นายสืบพงษ์ 2,500,000 บาท เงินของกลาง 18,121,000 บาท จึงไม่มีเงินจำนวนนี้รวมอยู่ด้วย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินของกลาง 18,121,000 บาท เป็นเงินที่คนร้ายได้มาจากการปล้นทรัพย์ของผู้คัดค้าน เมื่อนำเงินที่มีบุคคลอื่นมอบให้ในพิธีสมรสของ น.ส.สุทธาวรรณ และ นายสืบพงษ์ 568,000 มาหักออกจากเงินของกลางที่ยึดได้ทั้งหมด คงเหลือเงินที่เชื่อว่าเป็นของผู้คัดค้าน 17,553,000 บาท โดยไม่มีเงินสินสอดและเงินที่ นายทศพร มอบให้แก่ นายสืบพงษ์ เพื่อเลี้ยงดูฝ่ายหญิงที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าเป็นเงินที่ถูกคนร้ายปล้นไป 4,500,000 บาท รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด
@ เงินปล้น 17.5 ล. มีอยู่จริงปี 54 ก่อนยื่นบัญชีฯปี 55 แต่ไม่ยื่น
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างถึงความเห็นของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยที่เห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านยังโต้แย้งว่าเงินของกลางที่ยึดได้จากคนร้ายเป็นของผู้คัดค้านเพียง 5,068,000 บาท จึงต้องรอฟังคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลก่อนว่าเงินที่ถูกคนร้ายปล้นเป็นของผู้คัดค้านหรือไม่และมีจำนวนเท่าใด จึงจะวินิจฉัยได้ว่าผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่
และผู้คัดค้านกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งเพิ่มเติมว่าเงิน 5,068,000 บาท ที่ถูกคนร้ายปล้นทรัพย์ไป ผู้คัดค้านยกให้ น.ส.สุทธาวรรณ และ นายสืบพงษ์ บุตรเขยไปหมดแล้วจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องแสดง ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามคำร้องทั้ง 5 กรณี
เห็นว่า เงิน 17,553,000 บาท ที่ตรวจยึดได้จากคนร้ายนั้น ปรากฏว่ามีการยึดเป็นของกลางตั้งแต่ปี 2554 โดยเก็บไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ก่อนวันที่ผู้คัดค้านมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในปี 2555 และปี 2556 และเมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่าเงิน 17,553,000 บาท เป็นของผู้คัดค้านโดยไม่มีเงินสินสอดและเงินที่ นายทศพร มอบให้แก่ นายสืบพงษ์ บุตรชายเพื่อเลี้ยงดูฝ่ายหญิงรวม 4,500,000 บาท จึงต้องถือว่าเงิน 17,553,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านมีอยู่จริงในเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยไม่จำต้องรอการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีร่ำรวยผิดปกติตามข้อต่อสู้ ของผู้คัดค้านแต่อย่างใด
@เจตนาปกปิด หนีการตรวจสอบ
และผู้คัดค้านย่อมทราบดีว่าในเวลาที่ผู้คัดค้านมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตนเองมีเงินจำนวนดังกล่าวอยู่แล้ว การที่ผู้คัดค้านไม่ระบุเงิน 17,553,000 บาท ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาปกปิดทรัพย์สินไม่ให้ล่วงรู้ถึงผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
คดีนี้ศาลฎีกาฯพิพากษา ห้ามมิให้ ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 18 พ.ค.2555 อันเป็นวันที่ ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะ ผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน
อ่านประกอบ:
มาเอาเงินของนาย! คนร้ายเล่า วันปล้นบ้าน ปลัดคมนาคม มี 500 ล. ขนได้ 200 ล.
เอนก มือควัก 3 ล.ซื้อรถโฟล์คให้ เมียสุพจน์ นั่งที่ปรึกษา รมว.ศึกษาฯ ทรัพย์สิน 58.9 ล.
เปิดที่มา‘รถโฟล์ค’ 3 ล.ฉบับ‘สุพจน์’ โยงเมีย นักธุรกิจ – ศาลชี้ปมเอกชนได้งานการท่าฯ
ชื่อ ‘พระผู้ใหญ่’ โผล่คดี ‘สุพจน์’ ซุกทรัพย์สิน อ้างมอบรถโฟล์ค 3 ล.ให้ใช้งาน
คุก10เดือนไม่รอลงอาญา!‘สุพจน์’ซุกทรัพย์สิน5ครั้งช่วงนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ปลัดคมนาคม
‘สุพจน์’รอลุ้น! อนุฯป.ป.ช.สรุปคดีเรียกรับสินบนชนวนเหตุรวยผิดปกติแล้ว
เปิดขุมทรัพย์พันล.“เสี่ยเอนก”นักธุรกิจเบื้องหลัง“สุพจน์ ทรัพย์ล้อม”?