รมว.พลังงาน ปัดตอบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาหรือไม่ ให้รอPDPปรับใหม่
รมว.พลังงานเผยยังตอบไม่ได้ สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาหรือไม่ แนะในรอปรับแผน PDP ใหม่ชี้ให้ดูความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ สร้างระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.60 ในงานพบปะสื่อมวลชนที่กระทรวงพลังงาน ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยถึงกรณีคำถามความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่งสองแห่งที่กระบี่ และเทพา จ.สงขลา ว่า การสร้างหรือจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และที่อ.เทพา จ.สงขลา สองส่วนนี้ต้องสร้างความชัดเจนโดยเร็ว ปล่อยไว้นานไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่าทั้งสองแห่งนี้มีความแตกต่างกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าใหม่เพราะ มีโรงไฟฟ้าอยู่เดิมเเล้ว ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่คือการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ ทั้งระบบสายส่งต่างๆ
ส่วนที่อ.เทพา จ.สงขลานั้น รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวว่าเนื่องจากเป็นที่ตั้งใหม่ ก็ต้องไปในรายละเอียด ดูปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น จังหวัดกระบี่วันนี้การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่โตมาก เพราะฉะนั้นส่วนที่จะพิจารณา เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ควรมาตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่ ต้องดูผลกระทบต่อสังคม ความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ของคนในสังคม ในชุมชนบริเวณนั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการทบทวนองค์ประกอบต่างๆ จะรีบสรุปโดยเร็ว
“คำตอบที่ชัดเจน คือ การท่องเที่ยวของภาคใต้ มีส่วนสำคัญมาก วันนี้การท่องเที่ยวของไทยติดอันดับหนึ่งของโลก จินตนาการดูว่าถ้าไปเที่ยวแล้ว โรงแรมไฟดับๆ ติดๆ เราจะไปเที่ยวไหม เราก็ไม่อยากให้เกิดกับภาคใต้ ฉะนั้นการมีไฟฟ้าสำรองมากพอ ก็จะรับประกันได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวของเราจะได้ไม่ต้องดับๆ ติดๆ” รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวและว่า ส่วนกำลังการผลิตภาคใต้ต้องการเท่าไหร่ รองรับพลังงานทดแทนเท่าไหร่ ต้องมาดู กัน การใช้เชื้อเพลิงอะไรคนละเรื่อง การดำเนินการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ การสร้างการสำรองไว้เป็นส่วนสำคัญมาก เชื้อเพลิงจะเป็นอะไร ขอเวลาอีกนิดหนึ่ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากดูในทิศทางพลังงานที่จะเน้นเดินไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น จำเป็นต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) หรือไม่ ดร. ศิริ กล่าวว่า แผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของปี 2015 โลกวันนี้ไปเร็วมาก ซึ่งก็ล้าสมัยไปแล้ว ไม่ใช่เราปรับแผน เราปรับปรุงทำให้เป็นเป็นปัจจุบัน เนื่องจากว่า PDP ใช้มาในระยะหนึ่งบนพื้นฐาน คือทำมาตั้งแต่ 2013 การเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด แน่นอนเราจะมาทบทวนการทำแผนใหม่หมด ตอนนี้กำลังปรับอยู่
ส่วนภาพรวมเรื่องทิศทางพลังงานจะไปทางไหนนั้น รมว.พลังงาน มองว่า จะเป็นแก๊ส ถ่านหิน หรือพลังงานทดแทน เราต้องสร้างภาพฉายที่ทุกคนเห็นพ้องกัน เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร แล้วแผนค่อยมาสอดคล้อง
“ถ้าท่านบอกว่าไม่เอาถ่านหินแล้วทุกคนบอกว่าค่าไฟแพงหน่อย ก็โอเค หรือที่เรามีพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนจากโซล่าร์ฟาร์ม เราต้องคุยกันว่าราคาไฟฟ้าที่ผลิตโดยทั่วไปอยู่ที่ 2 บาทกว่าๆ แต่ค่าสายส่งต่างๆ ก็ 3 บาทกว่าๆ แต่ถ้าซื้อไฟมาจากโซล่าร์ ฟาร์ม บวกค่าราคาขายส่ง 2 บาทกว่าๆ บวกอีก 8 บาท เป็นค่า adder ก็กลายเป็นซื้อหน่วยละ 10 บาทกว่าๆ แน่นอนเราต้องช่วยกันแชร์ ที่ผ่านมา เราทุกคนจ่ายกันอยู่ 25 สตางค์ ถ้าสังคมบอกว่า เราจะไปเดินพลังงานทางเลือก เรายินดีจ่ายเพิ่ม แต่ไม่ได้บอกว่าใช้ถ่านหินหรือไม่ใช่แล้วจะแพงขึ้น”
ส่วนเรื่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรี ดร.ศิริกล่าวว่า เป็นหนึ่งใน 18 เรื่องสำคัญของพลังงานในอนาคตที่เราต้องเตรียมพร้อม ประชาชนเป็นทั้งคนผลิต ใช้ จำหน่าย เป็นส่วนการเชื่อมโยงระบบ อนาคตหนีไม่พ้น เป็นสิ่งที่ดี ขั้นตอนการเตรียมพร้อม ทิศทางยังไงต้องเดินทิศทางนั้น เรื่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรี การใช้จำหน่ายพลังงานที่เหลือใช้อย่างเต็มความสามารถ เมืองไทยต้องเตรียม ขั้นตอนการเตรียมจะขอนำเสนอในครั้งหน้า
ด้านดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงแผนPDPว่า กระบวนการปรับปรุงแผน PDP มี 6 ขั้นตอนตอนนี้เรายังอยู่ขั้นตอนที่ 1 มีการทำพยากรณ์การใช้พลังงาน ดึงภาพอนาคตเข้ามาประกอบด้วย ต้องปรับปรุงตามสิ่งที่คาดการณ์ในอนาคต เพื่อให้ชัดมากกว่าภาพเดียว ในส่วนขั้นตอนที่2-6 ในรายละเอียดนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หลังจากนี้