กรมวิชาการเกษตรยันต่ออายุขึ้นทะเบียน 'พาราควอต' ไม่เอื้อประโยชน์ใคร
"จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติหรือผู้ประกอบการรายใดทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ได้เป็นการส่งเสริมการค้าผูกขาดทำให้มีผู้ขายน้อยรายแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทที่ได้รับการต่อทะเบียนนำเข้าพาราควอตจากประเทศจีนเป็นหลัก ดังนั้นผู้ประกอบการที่นำเข้าพาราควอตจากประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ยังคงสามารถขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนพาราควอตได้เหมือนเดิมหากมีข้อมูลเอกสารครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนทั้ง 2 ราย ยังคงนำเข้าพาราควอตจากประเทศจีน ซึ่งยังผลิตเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบันมีแหล่งผลิตพาราควอตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจากประเทศจีน 9 แหล่ง ไต้หวัน 2 แหล่ง มาเลเซีย 1 แหล่ง และอินโดนีเซีย 1 แหล่ง ส่วนกรณีพาราควอตไดคลอไรด์สูตรเม็ด ปัจจุบันยังไม่มีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียน เนื่องจากไม่สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนได้ เพราะยังไม่มีรายชื่อตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดอัตราความเข้มข้นในแต่ละสูตรของวัตถุอันตรายที่รับขึ้นทะเบียน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยเเพน) เเละมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) ยื่นข้อเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 หนึ่งในนั้น คือ ขอให้ดำเนินการพิจารณากำหนดให้สารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันการกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติตั้งคณะทำงานเฉพาะ พิจารณาการยกเลิกใช้สารพาราควอต คลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต โดยกำหนดกรอบเวลาทำงาน ต้องได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน .