สวัสดิการสังคมด้านสุขภาพ
...To get what we need, and to give what we can...
บ้านเรามีการใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่ซับซ้อน สวัสดิการสังคมได้รับการดูแลแบบแยกกลุ่มเป็นเบี้ยหัวแตก ทั้งประกันสังคม บัตรทอง ข้าราชการ แถมมีแซมด้วยประกันสุขภาพเอกชน แล้วก็มีบางส่วนที่อาจไม่รู้เรื่องรายละเอียดเหล่านี้จนเจ็บป่วยแล้วต้องควักกระเป๋าเองหรือถึงมีสิทธิแต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างเลยตัดสินใจจ่ายเองก็มี
ที่รัฐออกมาออกข่าวบ่นบ่อยๆ ก็มักหยิบยกเรื่องงบประมาณที่ใช้จ่ายด้านสุขภาพโป่งขึ้นทุกปีๆ พร้อมพยายามออกมาตรการกดดันโรงพยาบาล หรือตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนไม่รู้ว่าจะเข้มข้นอีกได้อย่างไร โดยอาจไม่ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงว่า ในโลกนี้เค้ายอมรับสัจธรรมกันแล้วว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลงในระยะยาว เพราะมาตรฐานการดูแลรักษา เทคโนโลยี หยูกยาทั้งหลาย มันก้าวหน้าขึ้น พร้อมราคาค่างวดก็สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องการดูแลรักษานั้นประเทศทั้งหลายก็ใช้มาตรฐานการแพทย์ตะวันตก ไม่ได้สร้างกฎกติกาการรักษาเอง แถมก็ดันผลิตยา เครื่องมือต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ เองก็ไม่ได้ สนามการดูแลรักษาและวิธีการเล่นจึงไม่ได้อยู่ในมือของเรา ยากนักที่จะหยุดได้ เพราะหากหยุด ก็ต้องมั่นใจว่าสนามและกติกาใหม่ที่เราจะใช้นั้นมันดีเทียบเท่าหรือดีกว่ามาตรฐานตะวันตกที่ใช้กัน
นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้งบโป่ง และคุมไม่ได้แน่นอนในอนาคตคือ สัจธรรมที่ว่า ประชากรในสังคมนั้นอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เราทราบกันดีในชื่อว่าสังคมสูงอายุ พอแก่ตัว ร่างกายเสื่อมถอยแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นโรคาพยาธิต่างๆ ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นระยะยาวจึงไม่มีใครกล้าคาดประมาณว่า งบมันจะโป่งไปแค่ไหน เพราะถึงคาดเดาจากการคำนวณ โอกาสคาดการณ์ถูกนั้นขอฟันธงได้เลยว่ายากกว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 หลายเท่า ยกเว้นงวดนั้นจะสามารถล็อกเลขได้
ระบบหลักประกันสุขภาพนั้น แม้ในประเทศอังกฤษที่มี NHS เป็นต้นแบบในการดูแลประชาชน เน้นเรื่องความคุ้มค่ามาเป็นตัวกำหนดมาตรฐานการรักษา แถมทำมานานแสนนานจนหลายคนหลายประเทศยกย่องนั้น ปัจจุบันมีข่าวและงานวิชาการตีพิมพ์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องว่าระบบนั้นเริ่มแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้ว แนวคิดการจัดการการเงินการคลังด้านสุขภาพโดยเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขภายใต้สมมติฐานว่าคนในสังคมบางส่วนจะสุขภาพดี ส่วนน้อยจะเจ็บป่วย ดังนั้นหากจัดการงบประมาณที่รัฐจัดสรรแก่ประชากรแต่ละคนให้ดี ก็น่าจะนำมาจัดบริการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างยั่งยืน หรือที่เราเรียกว่า Risk pooling นั้นอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปในอนาคต เพราะคนในสังคมจะมีเรื่องเจ็บป่วยเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนแบกรับไม่ไหวหากต้องพึ่งรัฐอย่างเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า แนวทางมาตรฐานที่ NHS กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์พิจารณาปฏิบัติ ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น มักอ้างอิงการคำนวณความคุ้มค่าเสมอนั้น ก่อก็ให้เกิดแรงกระเพื่อมจากฝ่ายที่ทำงานหน้างาน เพราะการแพทย์นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และการเจ็บป่วยของคนนั้น แม้เป็นโรคเดียวกัน ระยะเดียวกัน แต่ปัจจัยส่วนตัวของผู้ป่วยหรือครอบครัวนั้นก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจร่วมกันในการเลือกวิธีรักษา การใช้ตัวเลขประเมินความคุ้มค่ามาจำกัดวิธีการดูแลรักษาทางการแพทย์นั้นจึงขัดต่อวิถีชีวิตจริงของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน จึงไม่แปลกใจว่า ไม่กี่ปีก่อนมีการสำรวจแล้วพบว่าแนวทางปฏิบัติที่ถูกกำหนดมาผ่านตัวเลขความคุ้มค่านั้นมีแพทย์ที่ยอมรับเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น
ยังไม่หมด ล่าสุดยังมีการวิจารณ์กันถึงเรื่องการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการราวน์วอร์ด หรือการตรวจผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในของแพทย์ว่า จะต้องมีการจัดระบบ องค์ประกอบ และกระบวนการการราวน์ในลักษณะที่เรียกว่า Structured ward round ตามที่กำหนด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ทำให้บุคลากรทางแพทย์จำนวนมากวิจารณ์กันถึงความเหมาะสมในการนำตัวเลขคำนวณความคุ้มค่ามาใช้ในระบบสุขภาพจนกลายเป็นมากำกับชีวิตคนทำงานมากจนเกินงาม
ที่เล่ามานั้นเป็นตัวอย่างให้ทราบเป็นข้อมูล และพึงระวังเพราะตัวเลขนั้นคือตัวเลข มาจากการคำนวณโดยอ้างอิงสมมติฐาน แต่ไม่ใช่ตัวแทนของวิถีชีวิตและจิตใจของคน
...คำนึงถึงความคุ้มค่าได้...แต่อย่าบูชาความคุ้มค่าอย่างคลุ้มคลั่ง...เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบมากมายตามมา
คราวนี้สวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชนนั้นควรมีลักษณะอย่างไร?
หนึ่ง เราทราบแล้วว่าหลักสิทธิมนุษยชนนั้นควรมีลักษณะเป็นสิทธิพื้นฐานที่แต่ละคนควรมี ภายใต้บริบทและบรรทัดฐานสังคม
สอง เราทราบแล้วว่าภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากร และความเป็นจริงของระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันนั้น ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้นั้นเยอะมากมายเกินกว่าที่จะคาดประมาณได้ และไม่มีทางที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกรับดูแลทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งหมด
สาม เราทราบแล้วว่าการดูแลสุขภาพของคนนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และเกี่ยวข้องกับทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้นการเอาตัวเลขคำนวณความคุ้มค่ามาตีกรอบการดูแลรักษาจนมากเกินพอดีนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบมากมายตามมา
พอนำทั้งสามเรื่องมาประมวล สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกคนนั้นจึงควรที่จะมีลักษณะดังนี้คือ "การเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่รอดปลอดภัย ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ทรัพยากรที่มีหรือจัดสรรได้จริง"
ทั้งนี้บริการทางด้านสุขภาพที่จำเป็นนั้นมิใช่การตีขลุมว่าพิสูจน์ผ่านการคำนวณตัวเลขความคุ้มค่า แต่หมายถึงสิ่งที่ควรมีควรปฏิบัติโดยยึดตามบรรทัดฐานของวิชาชีพ เนื่องจากงานวิจัยด้านสุขภาพที่มีนั้นอาจมิได้ครอบคลุมไปถึงการพิสูจน์เชิงตัวเลขเทียบเท่ากันทั้งหมด
ในอดีตที่ผ่านมานั้น เราเห็นนโยบายหลายเรื่องที่ถูกเข็นออกมา โดยที่เป็นไปได้ยาก หรือถึงจะเป็นไปได้ แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระหรือปัญหาตามมา
คงจะดีมาก หากเราหันมาจับมือกันด้วยความปรารถนาดีที่อยากให้ทุกคนในประเทศ ได้มีระบบสวัสดิการสังคมด้านสุขภาพที่ดีและยั่งยืน โดยทุกคนก็มีความสุขไปพร้อมกัน
ในขณะเดียวกันประชาชนทุกคนก็ต้องตระหนัก และรับรู้สถานการณ์จริง พร้อมกับวางแผนชีวิตของตนเองและครอบครัว เตรียมการสำหรับอนาคต และแสดงออกถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของระบบสุขภาพ ร่วมช่วยกันทำนุบำรุง และพัฒนาระบบสุขภาพตามกำลังของตน
"To get what we need, and to give what we can" เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ทั้งด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ ครับ
หมายเหตุ : ภาประกอบจากผู้จัดการออนไลน์