ปล่อยคนชั่วลอยนวล ฟัง ศ.พิเศษ จรัญ วิเคราะห์ช่องโหว่ของระบบ รวมทั้งความอ่อนล้าของคนที่ไล่จับ
“...มีคนเล่าให้ฟังเมื่อคราวที่ลูกชายท่านประธานเหมาของจีนตายในสนามรบ ท่านบอกว่า ลูกตายคนเดียวไม่เป็นไรยังมีลูกพันกว่าล้านคนในแผ่นดินแนวคิดแบบนี้ถ้าชัดเจนดีขึ้นแน่ แต่ถ้าถ้ายุคไหนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตัวเองก็แปดเปื้อนถ้าใช้กลไกระบบปกป้องปกปิดจะเละเทะไปหมด ใครจะทำอะไรได้ในเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นเสียเองถ้าเบอร์หนึ่งไม่แปดเปื้อนแต่ละเลยให้เบอร์สองทำแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้...” ศ.พิเศษจรัญภักดีธนากุล
กระบวนการยุติธรรรมทางอาญาที่ล่าช้าไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามในการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลายอย่างในกระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ตำรวจถึงศาลที่มีการดำเนินคดีรวดเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก
แต่ทั้งนี้ก็พบว่า ยังคงมีปัญหาในกระบวนการนี้อยู่อีกมากเช่นกัน มีหลายคนที่ต้องโทษแต่สามารถหลบหนีคดีไปได้
หรือแม้กระทั่งบางรายที่ถึงจะถูกจับติดคุกแต่กลับมีสิทธิพิเศษมากมายในคุก แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรให้กระบวนการจัดการเรื่องนี้เป็นไปด้วยความเข้มแข็งและดำเนินการได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ในงานเสวนา”ตามหาคน(โกง)หาย” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ศาสตรจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พยายามชี้ให้เห็นโจทย์แรก นั่นคือปัญหาระบบยุติธรรม "แบบใยแมงมุม" ที่เราคุ้นชินว่า ในวันที่เรายังมีรูรั่ว ปล่อยคนชั่วลอยนวลเยอะ
"เยอะจนทางภาควิชาการถึงกับตั้งฉายาให้ระบบยุติธรรมว่า เป็นระบบงานยุติธรรมที่เหมือนใยแมงมุม คือดักได้แต่แมลงเล็กๆ แมงด้วงขี้ควายเอาไม่อยู่"
ปัญหาปล่อยคนชั่วลอยนวล อะไรเป็นช่องว่างของระบบเหล่านั้น รวมทั้งการอ่อนล้าของคนที่จะไล่จับ
โจทย์ที่สองที่ ศ.พิเศษ จรัญ มองว่าแม้จะเป็นปัญหาที่เกิดน้อยกว่าแต่แรงกว่า คือการไปจับคนบริสุทธิ์ลงโทษทางอาญา ซึ่งคนเหล่านี้นั้นมักเป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อยไม่มีกำลังต่อสู้ ไม่มีกำลังหาหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ปัญหาจึงเงียบสังคมไม่ได้ยินเสียง แต่ความเจ็บปวดรุนแรงกว่าปล่อยคนชั่วลอยนวล
ในส่วนโจทย์ข้อที่สามในระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศ.พิเศษ จรัญ ชี้ว่าคือปัญหาของอาชญากรในเครื่องแบบ ในเสื้อครุย พูดให้ตรงคือยังมีบุคลากรในระบบงานยุติธรรมที่เกเร แฝงตัวอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทำอาชญากรรมได้โดยสังคมไม่รับรู้และปราบยากมาก เพราะคนเหล่านี้รู้มาก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
“เอาสามโจทย์รวมกันอยู่ที่ปัญหาใหญ่คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ปัญหาสามประการ ที่เราประสบจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น แต่เมื่อใดที่มันลดลงได้มากเท่าไหร่ ปัญหาทั้งสามก็จะลดลงมากเท่านั้น”
แต่หากเจาะลงมาในประเด็น่วา คน(โกง)หาย จะทำอย่างไร ศ.พิเศษ จรัญ พยายามอธิบายให้เราเห็นภาพว่า เราจะป้องกันปัญหาคนที่ต้องคดีแล้วหลบหนี และไม่สามารถได้ตัวมาดำเนินคดี หรือถ้าได้มาไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ หรือต่อให้พิสูจน์ได้ คนเหล่านั้นก็หนีทันก่อนการลงโทษ หรือแม้ลงโทษไปแล้ว พวกเขาก็ยังไปมีเสวยสุขในนรกได้อีก ซึ่งแปลกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“สิ่งที่เราต้องการทำ เราไม่อาฆาตโกรธแค้น ซึ่งคือเพื่อนร่วมชาติของเราเอง แต่เราต้องการแก้เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของคนส่วนใหญ่ในสังคม คนที่ทำผิด ทำความเดือดร้อนให้ส่วนร่วม ให้คนอื่น ควรได้รับการลงโทษตามความผิดที่กระทำ”
ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้รับบทเรียนว่าอย่าไปทำแบบนั้น ศ.พิเศษ จรัญ บอกว่า สังคมจะปลอดภัยขึ้น สำหรับคนที่ถูกลงโทษจะได้รับโอกาสให้รู้ว่า พฤติกรรมอย่างนั้นใช้ไม่ได้ อย่าทำซ้ำอีก เพราะครั้งนี้เป็นการเตือนใช้โทษของมนุษย์ลงโทษ แต่ถ้าเขาไม่ได้โทษตรงนี้ ก็จะทำซ้ำมากขึ้น ภาษาในชาวคุกบอกว่าเดี๋ยวโดนจะธรรมชาติลงโทษ
“เป็นเหตุผลที่คิดว่างานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้คน แต่ต้องทำให้ชัดเจนว่าเราไม่ได้ประกาศเป็นศัตรูคู่แค้นกับคนที่ทำผิด เราเข้าใจว่าความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นมาจาก กิเลสตัณหาในใจมากกว่าความเป็นคนของคนคนนั้น เขาอาจมีคุณงามความดีอย่างอื่นหลายอย่าง เขาเพียงพ่ายแพ้ต่อกิเลส เราต้องเคยป้องปราม”
เอาเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ศ.พิเศษ จรัญ ชี้ว่า เราได้พัฒนาเครื่องมือมาเยอะ ทำมายาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ที่ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และพัฒนามาเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสริมเขี้ยวเล็บมากขึ้น อุดช่องโหว่ทางกฎหมายปิดล้อมไว้ เรียกว่าในระดับที่พอใช้ได้
ก่อนยกตัวอย่าง ถ้าในระดับการเมือง ระดับสูง ไม่ใช่เฉพาะการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด นี่คือ "แมงด้วงตัวใหญ่" ระบบงานยุติธรรมธรรมดาเอาไม่อยู่ ก็ตั้งคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาเพื่อจัดการคนเหล่านี้
ปัญหาเรื่องคนหนี คือ การแก้กฎหมายทำให้เรื่องขาดอายุความจะไม่มี เพราะหนีกฎหมายบอกว่า ถ้าหนีอายุความสะดุดลง ถ้าหนีสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ พอพิพากษาได้ ลงโทษทัณฑ์แล้วไม่มีเจ้าตัว ดังนั้นอายุความรับโทษไม่มี คือติดตัวตลอดชีวิต ซึ่งก็รุนแรงพอสมควร
"มีเสียงคัดค้านว่าจะเกินไปไหม ที่เราไม่ยอมเลิกกับเขา แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดีๆ แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน อายุความต้องหยุดเพราะหนี ไม่ใช่เพราะสังคม ไม่ใช่เพราะผู้คน ดังนั้นถ้ากลับมาต่อสู้ความจริง รับโทษทัณฑ์อายุความก็เริ่มเดินต่อไป
จุดหนึ่งเราปิดล้อมแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ให้ฟ้องคดีได้ถ้าหนี นั่นคือพฤติกรรมเกเร”
ศ.พิเศษ จรัญ อธิบายพฤติกรรมเกเรเพิ่มว่า วันนี้เรามีกฎหมายที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้าง นั่นคือ มาตรา157 ถ้ามีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยทุจริต อุกฉกรรจ์ ถ้าละเว้นไม่ใช้หน้าที่ให้ถูกต้อง หรือทำให้เกิดความเสียหายกับคนอื่นก็ผิด จะจับมาดำเนินคดีได้อย่างไร ก็เลยต้องตั้ง ป.ป.ป. พอยังดูเเลไม่ได้เลยต้องพัฒนามาถึง ป.ป.ช.ก็ยังทำไม่สำเร็จเพราะเยอะมาก ก็ต้องทำ ป.ป.ท.ขึ้นมาเพื่อจัดการกับระดับล่าง พยายามทำขนาดนี้ เเล้วเติมมาตรฐานทางจริยธรรมก็แล้ว ก็ยังยากที่จะสำเร็จ
“แต่ถ้าเรามีองค์กรที่จะช่วยขับเคลื่อนโดยเฉพาะภาคเอกชนจะช่วยมาก ถ้าวันหนึ่งทางภาคเอกชนสามารถยืนหยัด มั่นคงว่าจะสู้แข่งขันในตลาดตามกฎเกณฑ์กติกาไม่ลงใต้โต๊ะ ก็สามารถแก้ปัญหาได้เยอะเหมือนกัน
ทางภาครัฐผมคิดว่า ถ้าเราได้เบอร์หนึ่ง ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านประธานรัฐสภา ท่านประธานศาล ยืนหยัดชัดเจนต่อสังคมว่าเอาจริงต่อเรื่องนี้ ไม่ลดลาวาศอกให้เจ้าหน้าที่เกเร เมตตาสังคมมากกว่าเมตตาลูกน้องตัวเอง”
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรธน. เล่าว่า เมื่อคราวที่ลูกชายท่านประธานเหมาของจีนตายในสนามรบ ท่านบอกลูกตายคนเดียวไม่เป็นไร ยังมีลูกพันกว่าล้านคนในแผ่นดิน
แนวคิดแบบนี้ถ้าชัดเจนดีขึ้นแน่ แต่ถ้าถ้ายุคไหนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตัวเองก็แปดเปื้อน ถ้าใช้กลไกระบบปกป้องปกปิดจะเละเทะไปหมด ใครจะทำอะไรได้ในเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นเสียเอง
ถ้าเบอร์หนึ่งไม่แปดเปื้อน แต่ละเลยให้เบอร์สองทำ แบบนี้ก็ช่วยไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นผู้บริหารประเทศนอกจากไม่แปดเปื้อนแล้ว ต้องเป็นนักซักรีดด้วย”
ศ.พิเศษ จรัญ เทียบให้เห็นถึงยุคไหนที่นายกฯ ใจซื่อมือสะอาด ยุคนั้นดีขึ้นเยอะ มองย้อนหลังไปได้ แต่จะได้ผลนิดเดียว ถ้าใจซื่อมือสะอาดคนเดียว แต่ถ้าใจซื่อกับทุกคน จะได้ผลมากขึ้น สะอาดคนเดียวช่วยปัญหานี้ไม่ได้ ภาคเอกชนร่วมกันแก้ได้ หลายประเทศแก้เเล้วทำได้เเล้ว เรายังต้องพยายามอีกเยอะ
ในระดับคดีอาญา สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรามีเครื่องมือ ในฐานะตุลาการศาล ศ.พิเศษ จรัญ ระบุว่าเรามีกลไกพอควร แต่ในระดับ ป.ป.ท. ศาลอาญาทุจริตประพฤติไม่ชอบ ยังขาดการฟ้องโดยไม่มีตัว เพราะฉะนั้นถ้าหัวไวหนีก่อนที่จะฟ้อง ก็ฟ้องไม่ได้ จริงอยู่อายุความหยุดลง แต่เมื่อยังไม่ได้ตัวพยานหลักฐานกระจายหมด สมมติสิบปีได้ตัวมาก็พิสูจน์ความผิดไม่ได้ ต้องเติมเรื่องนี้ และเมื่อเติมแล้วเท่ากันในกรอบต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องขยายผลมาที่อาญาพื้นฐานด้วย
“คิดเรื่องคนที่ปล้นธนาคาร ข่มขืนลูกเรา ระเบิดราชประสงค์ กลไกพิเศษพวกนี้เข้าไปไม่ได้ คนฉ้อโกงประชาชนหนีไปเสวยสุขต่างชาติ ครบกำหนด 15 ปีหมดอายุความ กลับมาจะตั้งพรรคการเมือง ตอนนั้นเราก็บอกว่าประเทศนี้วิปริตไปแล้ว ดังนั้นเราจึงเอากลไกแบบนี้ ไม่ปล่อยคนชั่วลอยนวลที่พัฒนาไปแล้วในคดี กฎหมายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ต้องขยายผลไปยังอาชญากรรมร้ายแรง คิดว่าทำได้ แบ่งขีดเส้นเลยว่าโทษจำคุกเกิน 10ปีขึ้นไปให้เอามาตรการนี้มาใช้”
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำจะลดยังไงกับผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในทางกระบวนการยุติธรรมอาญา
ศ.พิเศษ จรัญ อธิบายว่าต้องเริ่มจากการรับคดีหรือไม่รับคดี หรือรับไว้แต่ไม่ขยับ หรือว่าใส่เกียร์สามเกียร์สี่เร่งเครื่องเต็มที่ จุดเริ่มต้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเริ่ม ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ลองไปแจ้งความยากกว่าจะรับ รับแล้วค้างไว้ เดินก็เดินช้า ยิ่งคดียากๆ หาย แต่ถ้าคนแจ้งความเป็นใครสักคนในสังคม หรือมีองค์กรหนุนอยู่ข้างหลัง เหมือนคดีที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็ก ถ้าได้คุณปวีณาเข้าไปจะกระฉับกระเฉงมาก ปัญหาตรงนี้ทำอย่างไร มีข้อเสนออย่างนี้
1. เราจะเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทันทียาก จนกว่าเงื่อนไขเชิงกฎหมายจะลงมาต้องเสริมศักยภาพคนยากคนจน คือให้องค์กรที่ได้รับการอนุมัติตรวจสอบเช่น องค์กรพิทักษ์เด็กสตรี เป็นต้น ร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ องค์กรเหล่านี้ไม่ใช่นาย ก นาย ขมีกำลังมีเครือข่าย มีตัวแบบในกฎหมายหลายตัวเช่น กฎหมายคนพิการ เป็นต้น
2. การปล่อยชั่วคราว การประกันตัวผู้ต้องหา จำเลย ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล คิดเหมือนกันหมด คือขึ้นอยู่กับว่าต้องมีหลักประกัน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะดีอย่างไร หลักเกณฑ์บอกว่า ถ้าคดีแบบนี้ต้องมีหลักประกันเท่านี้ ถ้าไม่มีแต่ให้ประกัน คนที่อนุมัติต้องรับผิดชอบ ยิ่งถ้ามีคนที่ไม่ชอบเราแกล้งเราเอาไปแจ้งก็จะโดน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อความปลอดภัยทำให้ถูกต้องตามกติกา เราจึงเห็น คดีคนขายซีดีเถื่อนข้างถนนที่ต้องจ่ายค่าประกันเป็นแสนๆ ขณะที่คดีต่างชาติละเมิดสิทธิเด็กเราใช้เกณฑ์เดียวกัน ให้จ่ายแสนหนึ่ง ซึ่งเป็นเศษเงินของเขา
“เราบอกว่าถ้าแบบนี้ ขอให้จ่ายสักล้านได้ไหม ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าขนาดคดีฆ่ายังจ่ายประกันตัวแค่สองแสนเลย เพราะฉะนั้นเรื่องปล่อยชั่วคราวต้องลงมาสังคยานาอีกที”
3. การแสวงหาพยานหลักฐาน เป็นเรื่องใหญ่ในงานยุติธรรม ตราบใดที่เรายังให้คู่กรณีไปหาพยานหลักฐานกันเอง คนที่เป็นจำเลยจะไปหาจากไหน ยิ่งพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับชาวบ้านทั่วไปไม่ต้องพูดถึงเลย แต่ถ้าฝ่ายโจทก์มีระบบคอยหนุนเต็มที่แบบนี้เราต้องเสริมกำลังเพื่อให้เป็นธรรมกับฝ่ายจำเลยมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเข้าข้างอาชญากร ไม่ใช่เราไม่เห็นใจผู้เสียหาย แต่เราต้องรู้ก่อนว่าผู้ต้องหาจำเลย ยังไม่ใช่อาชญากร ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ก่อน
ดังนั้นกระบวนการพิสูจน์ต้องเปลี่ยนทันที เปลี่ยนเป็นระบบตรวจสอบตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ศาล ต้องเลิกเสียทีการให้คู่กรณีต่อสู้ในคดีอาญา ต้องเลิกเด็ดขาด เราพยายามเปลี่ยนคดีต่อต้านทุจริต เอามาใช้กับอาญา ต้องมีระบบงานที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบทั้งสองด้าน เพื่อค้นหาคนร้ายตัวจริงอย่าเอาคนบริสุทธิ์มาลงโทษ
"ในชั้นอัยการท่านมีอำนาจแต่ขาดเครื่องมือ เมื่อมาถึงศาลต้องให้ หวั่นเฉาหมาฮั่นและจันเจาด้วย ไม่ใช่มีปากกาด้ามเดียวแล้วท่านเปาจะวิ่งหาพยานหลักฐานได้ที่ไหน เพราะฉะนั้นเราแก้กฎหมาย คดีทุจริตให้ศาลลงมาไต่สวน ไม่สำเร็จ เพราะท่านไม่มีเครื่องมือต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานมารองรับเพื่อให้เกิดการสอบสวนที่เป็นธรรม"
ความเหลื่อมล้ำในทางอาญา ที่ดูเหมือนจะมีปัญหามากสุด ศ.พิเศษ จรัญ มองว่า โทษปรับเหมือนจะดี คือ ตั้งใจจะช่วยให้เท่าเทียม อย่าเอาไปขังแต่โทษปรับของประเทศเราใช้ความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ คือทำผิดฐานนี้ปรับหนึ่งพันบาทก็ทำทั่วประเทศ แต่ถ้าความผิดฐานนี้ปรับสองแสนก็ทำทั่วประเทศ
“แต่หนึ่งพันบาทสำหรับชาวบ้านไม่ใช่ง่าย ใบละพันสำหรับคนบางคน สองแสนสำหรับบางคนเป็นเศษเงิน สำหรับชาวบ้าน สำหรับคนอย่างเราๆ ลำบาก ลงโทษปรับสองแสนคนกวาดถนนแบบนี้ยุติธรรมไหม ความเท่าเทียมไม่ยุติธรรมเสมอไป เพราะคนที่ถูกปฏิบัติไม่เท่ากัน เลยเสนอว่า ปรับตามรายได้ได้ไหม ปรับสิบเปอร์เซ็นของรายได้ หรือห้าเปอร์เซ็นของรายได้ ยังไม่พอต้องเปอร์เซ็นของฐานะทางเศรษฐกิจด้วย” ศ.พิเศษ จรัญ ให้ข้อเสนอ และอธิบายต่อว่า คนยากจนไม่มีเงินง่าย เอาขังแทนค่าปรับ ถูกขังเพราะจนไม่ใช่เพราะทำผิดที่ถูกขัง ดังนั้นต้องเลิกขังแทนค่าปรับ ทุกวันยังไม่ได้เลิก แต่ดีขึ้นให้ใช้วิธีทำงานแทนค่าปรับและให้ศาลดูเเล
แต่ปัจจุบันพอถามว่าจะไปทำงานแทนใหม่ ปราฏว่ายอมโดนขังมากกว่าไปทำงาน เรื่องโทษปรับยังมีอะไรต้องทำอีกมาก
มากันที่เรื่องการคุมขังในเรือนจำที่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะมีข้อครหาเร่ืองการให้อภิสิทธิ์คนรวย ผู้อิทธิพลอยู่ดีกินดีกว่าปกตินั้น
ศ.พิเศษ จรัญ ยอมรับว่า ในเรือนจำมีทั้งขาใหญ่ ขากลาง ขาเล็ก ในหนังสือราชาแห่งหนูคล้ายกันคือเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นราชาของหนู จุดนี้ไม่ได้อิจฉาใคร แต่ก็ควรทำให้พอเหมาะพอควร อย่าถึงขั้นเสพสุขอยู่บนวิมารนรก
ส่วนประเด็นริบทรัพย์ตามมูลค่านั้น ศ.พิเศษ จรัญ ก็มองว่า จำนวนเงินร้อยล้าน พันล้าน ได้แต่ตัวเลขไม่ได้อะไร เพราะไม่มีทรัพย์ให้ริบ แต่กฎหมายใหม่ให้ริบตามมูลค่า คือทรัพย์สินที่มีไปซุกไว้ที่ไหนแปรสภาพริบหมด ขยายมาใช้กับอาชญากรรมตรงนี้ทำไม่ยากใช้กฎหมายฟอกเงิน
ประเด็นการกันผู้ต้องหาเป็นพยานกฎหมายป.ป.ช.ดีมากขยายไปใช้กับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ ส่วนเรื่องกรอบเวลามีเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนว่าคดีนั้นๆ มีกรอบระยะเวลาว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่วัน กี่เดือนแล้วถ้าทำไม่เสร็จ ทำไงเขาก็บอกว่าก็ค่อยๆ ทำ ใช้มาตรา157 อย่างนี้เราไม่ปล่อยให้เกิน ต้องเสร็จ จะดีหรือไม่โทษไม่ได้
"เราอยากเสนอว่าในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ ในชั้นศาลยังไม่มีกรอบเวลาในคดีอาญา เพราะฉะนั้นศาลชั้นต้นต้องทำคดีให้เสร็จภายในหนึ่งปี ถ้าไม่เสร็จขยายได้ แต่ต้องผ่านการดูเเลของระบบ เพื่อไม่ให้เฉื่อย ขยายให้ทีละสามเดือน ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติการทำงาน เพราะฉะนั้นมันจะเร็วขึ้น"
ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ศ.พิเศษ จรัญ มองว่า ต้องปล่อยชั่วคราวทันที เพราะไม่ใช่ความผิดของเขา เเต่เป็นความผิดของระบบ ศาลอุทธรณ์ต้องเสร็จใน1 ปี ความจริง 6 เดือนก็ควรเสร็จ ชั้นฎีกาก็ต้องภายใน 6 เดือน ถ้าไม่เสร็จแล้วเขาหนี คนที่ทำช้าก็รับผิดชอบ แนวทางอย่างนี้ทำยาก แต่จะทำได้สำเร็จ ถ้าได้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านนายกฯ รัฐมนตรี อธิบดี ต้องสำเร็จ ถ้าให้องค์กรใดเต้นอยู่องค์กรเดียวไม่สำเร็จ...