‘จรัญ’ แนะเลิกได้แล้ว ระบบแต่งตั้งผบ.ตร. ยังต้องพึ่งการเมือง
‘จรัญ’ ชี้กระบวนยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องสกัดการเมืองออก แนะดูระบบแต่งตั้งผบ.ตร. ยังต้องพึ่งการเมือง ควรเลิกได้เเล้ว ด้านไอลอว์ มองปราบทุจริต คอร์รัปชั่น อย่าสร้างให้สังคมรู้สึกว่าโจมตีแค่กลุ่มบางกลุ่ม จนเกิดวีรบุรุษ แม้โดนคดีแล้วหนี
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 60 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ องค์กรต่อต้านทุจริต คอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดเสวนา “ตามหาคน(โกง)หาย”
ศาตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากเอาตำรวจออกจากครอบงำทางเมืองก่อน พร้อมยกตัวอย่าง การจะย้าย ผบ.ตร. ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทั่งการแต่งตั้งผบ.ตร. ที่นายกฯ มีสิทธิ์เลือกผ่าน คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แบบนี้ก็จะไม่สามารถสลัดกระบวนาการทางการเมืองได้ เลือกก็ต้องอยู่ในสายบังคับบัญชา ฝั่งการเมืองสกัดคู่แข่ง แบบนี้ถ้าจะแก้ได้จะต้องถอดอำนาจการเสนอชื่อ ผบ.ตร. ให้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยใช้ระบบดูเเลกันเอง คล้ายกับศาล อัยการ ซึงแทรกแซงได้ยาก
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวว่า อำนาจที่สองที่อ่อนแต่เหนียวกว่านั่นคือ อำนาจเงิน เพราะสามารถจ้างให้ผีโม่แป้งได้ ทรงพลังมาก ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าระบบการเมือง ข้าราชการบางคนโตขึ้นมาโดยการสนับสนุนของเจ้าพ่อ เอาระบบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาไล่จับไม่ค่อยได้ เพราะเป็นอำนาจเถื่อน ใช้วิธีลูกเมียเดือดร้อน ระบบมาเฟีย แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเราจะแก้ ถอดการเมืองออกจากระบบยุติธรรมให้ได้ก่อน
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw กล่าวว่า นอกจากต้องไม่ทำให้ระบบยุติธรรมเป็นการเมืองแล้ว การตรวจสอบสอบสวนการคอร์รัปชั่นจะมุ่งเป้า(Target) บางคนไม่ได้ ความรู้สึกนั้นคือพลังงอีกก้อน คือพลังทางสังคม คนที่หนีต้องเป็นผู้ร้ายไม่ใช่วีรบุรุษ สังคมต้องรู้สึกถึงตรงนั้น แต่การไปถึงตรงนั้นกระบวนการสอบสวนต้องหลุดพ้นการกรอบการเมือง
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า หากดูเหตุการณ์สองครั้ง คือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระบวนการสอบสวนเกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น มีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ เมื่ออีกฝ่ายไม่มีอำนาจ กลายเป็นฝ่ายนั้นถูกดำเนินคดีมากมาย ขณะที่คสช.กลับยึด มาตรา 279 คือตรวจสอบไม่ได้เลย ออกกฎหมายอะไรก็ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น เพราะมาตรานั้นเขียนคลุมไว้หมดเเล้ว กระทั่งม.44 ทั้ง4 ฉบับที่ยกเว้นการรับผิดจากการกระทำเอาไว้เเล้ว จึงไม่แปลกที่วันนี้สังคมจะะรู้สึกว่า กระบวนการต่อสู้ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น จึงเป็นการมุ่งเป้าไปที่คนบางคน กลุ่มบางกลุ่ม กลายเป็นว่า พอคนหนี มวลชนยิ่งรัก ยังเป็นไอดอลเพราะถูกมองว่า โดนรังแก
"ถ้ากระบวนการต่อต้านทุจริตไม่เป็นไปตามการเมือง ทุกรัฐบาลถูกตรวสอบเท่ากัน คนที่มีความรู้สึกกลางๆ ก็จะรู้สึกถึงเป็นธรรมจริงๆ มากกว่า"
ด้านนายนิวัติ แก้วล้วน อดีตเลขาธิการสภาทนายความในพระบรมราชูปภัมภ์ กล่าวถึงข้อด้อย ป.ป.ช. คือ เป็นไปอย่างช้าๆ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) ก็เหมือนเล่นไปตามที่จ่าย คือช้ามาก คดีมากมายถูกส่งเข้าขวด เทออกไม่ได้ ติดคอขวด ไม่ได้เดินตามที่ควรจะเป็น
นายนิวัติ กล่าวถึงศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ด้วยว่า โครงสร้างดีมาก แต่เวลาเข้าไปสัมผัสจริงๆ กลับไม่ใช่ เพราะแค่จะเอาเอกสารฉบับเดียวยังยาก แต่ข้อดีคือเปิดให้ประชาชนฟ้องได้เอง อย่างนี้เราไปฟ้องเอง ถ้าเห็นว่าท้องถิ่นประพฤติไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้แต่ป.ป.ช.ก็ไม่ต้องง้ออัยการ ฟ้องเองได้ ในคดีศาลอาญาทุจริตฯ นอกจากภาคลงโทษ หากมีการหลบหนีก็ยังดำเนินการพิจารณาไปได้ หรือข้อกำหนดศาลมีข้อดี ระบบริบทรัพย์โจทก์จะขอไม่ขอก็ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ริบก็ริบได้ ถ้าริบทรัพย์แล้วไม่มีตัวตน ศาลให้ประเมินราคาหาเงินมาใช้ และวิธีการบังคับคดีก็จะกว้างขึ้น
"กฎหมายใหม่ถ้าจำเลยหนีระหว่างพิจารณาคดีไม่ให้เอา ม.98 มาใช้ เพราะมาตรานั้นบอกว่า หนีไปเลย ถ้าจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี หนีไปเลย หมดอายุความก็จบ แต่กฎหมายใหม่ไม่ได้เอาตรงนั้นมาใช้ กฎหมายป.ป.ช. มีประโยชน์เยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวัง บ้านเราถ้าเป็นมุมมองในการเมืองเพื่อตามล่าคนบางคน มุมของกฎหมายจะกลายเป็นไม่สากล" นายนิวัติ กล่าวทิ้งท้าย