สภาพัฒน์ฯ แนะจับตาเทรนด์ใหม่อุตฯใช้เครื่องจักรแทนคน ขณะที่ “หนี้สินเสียผ่อนบ้าน” เริ่มทะยาน
สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มแตะ 1.22% เหตุน้ำท่วม-เอกชนยังไม่จ้างงานเพิ่ม จับตาเทรนด์ใหม่อุตฯใช้เครื่องจักรแทนคน ขณะที่ “หนี้สินเสียผ่อนบ้าน” เริ่มทะยาน หลังหมดโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก
วันที่ 7 ธันวาคม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2560 โดยระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวได้ดี แต่อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ได้ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 1.19% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราว่างงาน 0.94% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4 แสนคน ในขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.5% โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1.สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการว่างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตรยังคงชะลอตัว เนื่องจากภาคการผลิตและอุตสาหกรรมยังเน้นการระบายสินค้าแทนการจ้างแรงงานเพิ่ม ตลอดจนมีการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น
2.การผลิตกำลังคนของภาคการศึกษายังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง แม้ว่าปัจจุบันผู้ว่าจ้างยังคงมีความต้องการกำลังคนที่เป็นกลุ่มช่างเทคนิค และช่างฝีมือในจำนวนที่สูง
และ3.แนวโน้มการนำเครื่องจักรมาใช้ผลิตสินค้าแทนคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าการลงทุนใหม่ของภาคเอกชน จะเป็นการลงทุนที่สร้างผลผลิตมากขึ้น และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่กลับมีการจ้างคนงานน้อยลง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ภาครัฐต้องติดตามและหามาตรการรับมือ
“การว่างงานที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ดีขึ้นนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น น้ำท่วม เอกชนยังมีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ แต่เทรนด์ใหม่ที่จะมีผลต่อการจ้างงาน คือ ต่อไปอุตสาหกรรมจะใช้คนน้อยลงและใช้เครื่องจักรแทน หรือในภาคค้าปลีก-ค้าส่ง ก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี เช่น การขายออนไลน์ ทำให้มีการใช้พนักงานหน้าร้านลดลง ส่วนการลงทุนใหม่ๆ จะเริ่มเห็นว่าเป็นการผลิตเยอะๆ ใช้เงินลงทุนเยอะ แต่ไม่จ้างแรงงานมาก ซึ่งภาครัฐต้องเตรียมรับมือในการย้ายแรงงานข้ามเซ็กเตอร์”นายปรเมธีกล่าว
นายปรเมธี กล่าวว่า สศช.คาดว่าในช่วงจากนี้ไปอัตราการว่างงานจะลดลง และการจ้างงานมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3 พบว่า จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่า 11.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งให้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.44% เทียบกับไตรมาส 1 ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.71%
ตารางสินเชื่อคงค้างอุปโภคบริโภค
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3 จะพบว่า หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 เป็น 5.5% ในไตรมาสนี้ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 5.7% ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 6.5% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวม พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 2.66% หรือคิดเป็นหนี้เสียจำนวน 1.04 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 เป็น 2.74% หรือคิดเป็นหนี้เสียจำนวน 1.1 แสนล้านบาท ในไตรมาสนี้ โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มจาก 3.06% ในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็น 3.26% ในไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงปี 2557 สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเข้าสู่ช่วงที่สิ้นสุดเงื่อนไขโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรก
“ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวังลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในไตรมาสที่ 2 เป็น 3.26% ในไตรมาสนี้”รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ระบุ
ตารางหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับเกิน 3 เดือนขึ้นไป มีจำนวน 8,964 ล้านบาท ลดลง 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปมีจำนวน 7,217 ล้านบาท ลดลง 39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตารางสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับและสินเชื่อบัตรเครดิต