ยุติการชุมนุม เครือข่ายปชช.ยันให้รัฐถอนร่างกม.สิ่งแวดล้อม ให้เวลาจัดการ1 เดือน
เครือข่ายปชช. ยันขอให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ออกจาก สนช. สั่งยุติชุมนุม เตรียมล่ารายชื่อเสนอกฎหมายฉบับภาคประชาชน ให้เวลา 1 เดือน หากไม่ปรับจะกลับมาชุมนุมใหม่
สืบเนื่องจากการปักหลักชุมนุมของ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รวมตัวเพื่อคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ที่ปัจจุบันผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและอยู่ในการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (อ่านประกอบ : เครือข่ายปชช. ชุมนุมหน้าทำเนียบค้านร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ กดดันรัฐถอนออก )
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 60 ซึ่งเป็นวันที่สองของการชุมนุม ทางเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เครือข่ายประชาชนฯได้แถลงผลการเข้ายื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอแล้ว โดยยืนยันว่าจะให้เวลากับภาครัฐและ สนช. เพียง 1 เดือน เพื่อนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมาย ขณะเดียวกันภาคประชาชนจะได้ล่ารายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อเป็นขั้นต่ำ เพื่อเสนอกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับภาคประชาชนคู่ขนานไปด้วย แต่ถ้าหากว่าภายใน 1 เดือน รัฐไม่มีการดำเนินการใดๆภาคประชาชนยืนยันจะมาที่ทำเนียบอีกครั้งแน่นอน
โดยในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 นั้นระบุว่า ตลอด 8เดือนของการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 และแนวนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทย
แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงฯ ได้ทำการบิดเบือน ด้วยการนำร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ทำไว้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาปัดฝุ่น และเร่งรัดการจัดทำให้เป็นไปตามกรอบเวลา 240 วัน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 278 โดยไม่ได้มีการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน และเฉพาะเจาะจงไปยังการปฏิรูประบบ EIA/EHIA ที่เป็นปมปัญหาความขัดเเย้ง ความรุนแรง และความสูญเสียในทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เป็นผลมาจากปัญหาการจัดทำ EIA/EHIA โครงการพัฒนาด้านต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ หรือการก่อสร้างตึกสูง เช่น คอนโดมีเนียม โรงแรมขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
ขณะที่เนื้อหาสาระของการร่างกฎหมายก็ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการของการปฏิรูป ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรมการประเมินผลกระทบ เช่นการไม่บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือ SEA (ทั้งที่เรื่องนี้เป็นดำริของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560) ในทางกลับกัน ยังเป็นการถอยหลังคลอง เพราะมีการเปิดช่องให้เกิดการยกเว้นไม่ต้องทำ EIA เร่งรัดตัดตอนการพิจารณาโครงการและให้อำนาจ ครม. อนุมัติให้มีการจัดหาเอกชนเข้ามารับงานไปก่อนในระหว่างที่รอผลพิจารณารายงาน EIA ซึ่งผิดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังได้ขอวิงวอนให้สังคมช่วยกันกดดันให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม เกิดการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเกิดการเคารพสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯประกาศที่จะยุติการชุมนุม และจะกลับมาอีกครั้งใน 1 เดือนข้างหน้า หากยังไม่เห็นความพยายามในการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน