นักวิชาการ ชี้ปรากฎการณ์ตูน สะท้อนระบบสาธารณสุขไทยมีปัญหา-ไร้ประสิทธิผล
นักวิชาการ จุฬาฯ คาดจบ ‘ก้าวคนละก้าว’ ยอดเงินบริจาคแตะ 1 พันล. สะท้อนมุมมองไม่แก้ปัญหาสาธารณสุขยั่งยืน อัดรัฐบริหารจัดการปกติ ‘รับมือไม่อยู่’ ปัญหาเงินไม่พอ -หลายคนยังไร้ระเบียบ ชอบเซลฟี่ ออกสื่อ ชี้ยากนำไปสู่ความปรองดอง ชม ‘ตูน’ เป็นกลางการเมือง ไม่ปะทะคารมกลุ่มค้าน
วันที่ 7 ธ.ค. 2560 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที ฬ.จุฬา นิติมิติ เรื่อง ปรากฎการณ์ตูน:ภาพสะท้อนระบบสาธารณสุขไทย ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งสะท้อนสังคมไทยผ่านปรากฎการณ์ตูน ‘โครงการ ก้าวคนละก้าว’ มุมมองในเชิงสังคมนั้น พบว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังขาดวินัย บางกลุ่มชอบถ่ายเซลฟี่ ชอบการออกสื่อ แม้จะมีความพยายามจัดระเบียบ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก หลายคนไม่ทราบว่า ตูนวิ่งเพื่ออะไร โจทย์ลึกเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขระบบการคลังของสาธารณสุขไทย
นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า นิสัยคนไทยชอบรอวีรบุรุษขี่ม้าขาว ทุกครั้งที่เจอปัญหาจะแก้ปัญหากันเองไม่ได้ แต่เมื่อมีฮีโร่จะยอมรับ ถามว่า เป็นวิถีการอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืนหรือไม่ หรือความจริงควรทำให้ระบบปกติเดินไปได้ในตัวเอง
"สำหรับผลที่เกิดขึ้นในเชิงบวกมีหลายประการเช่นกัน เช่น บางพื้นที่เกิดการเรียนรู้ มีการเตรียมการจัดระเบียบ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหากับนักวิ่งและการจราจร เยาวชนบางกลุ่มได้ฝึกระเบียบในการยืนรอ และเกิดการสร้างแรงบันดาลใจให้ที่ต้องการเดินรอยตามตูน"
รศ.วีระศักดิ์ กล่าวต่อถึงมุมมองในเชิงรัฐศาสตร์ สิ่งที่สัมผัสได้จากโครงการนี้ คือ ตูนไม่นำตัวเข้าไปฝักใฝ่เรื่องการเมือง ไม่ปะทะคารมกับกลุ่มไม่เห็นด้วย และถือว่าเป็นคนใจกว้างมาก ที่ยินดีเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ท่านอยู่ในจุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งนี้ ตูนยังรู้สึกว่า อย่าไปถือเป็นประเด็นการเมือง และไม่พูดทำนองต่อว่า ติเตียน แต่ได้แสดงกิริยานอบน้อม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดีในการสร้างความเป็นกลางทางการเมืองและความสมานฉันท์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงปรากฎการณ์ครั้งนี้ กระแสการเดินรอยตามตูน มักเกิดขึ้นในพื้นที่เครือข่ายศิลปินด้วยกัน แต่ไม่ค่อยเห็นปรากฎการณ์ในพื้นที่มีสีทางการเมือง ฉะนั้น การสร้างความปรองดองในบ้านเราในระยะใกล้ยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนมุมมองทางรัฐประศาสนศาสตร์และการคลังสาธารณะ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบงบประมาณที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2560 ราว 2.551 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 9.33 ของงบประมาณแผ่นดิน โดยเป็นงบประมาณแบบ Function+Area based 1.288 แสนล้านบาท และจัดสรรให้กองทุน สปสช. ผ่าน Demand-side financing 1.243 แสนล้านบาท จึงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาน่าจะอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการภาครัฐปกติไร้ประสิทธิผล รับมือไม่อยู่ ในการจัดการแก้ไขปัญหาการคลังเพื่อสาธารณสุข ดังนั้นจึงต้องมีโครงการฯ ดังกล่าวของตูน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี น่ายกย่อง แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน แม้จะได้รับเงินบริจาคเกินเป้า ซึ่งคาดว่าจะแตะ 1 พันล้านบาท เพราะเทียบได้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณที่จัดสรรให้กองทุน สปสช. .