คำถามต่อเกณฑ์ขอ ผศ. รศ. ศ. ใหม่
Q: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งตำแหน่งวิชาการเองหรือไม่?
A: สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แต่งตั้งตำแหน่งวิชาการฉบับใหม่ หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ พ.ศ.2560” ซึ่งเป็นผลงานของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากบุคคลในสายวิชาการ และบุคคลทั่วไป
สาเหตุสำคัญของปัญหาคือ ก.พ.อ. ออกหลักเกณฑ์โดยไม่มีการเปิดกระบวนรับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งอาจมีส่วนได้เสีย
ไม่เคยนำเสนอร่างดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการระดมความคิด ข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกต
กระทำการใช้อำนาจยกร่างหลักเกณฑ์และกำหนดผลโดยไม่มีทีท่าที่จะสนใจผู้ต้องตกอยู่ในบังคับ
จึงไม่น่าแปลกที่วันนี้ ก.พ.อ. ถูกตำหนิเรื่องการทำงาน
(ตัวอย่างเล็กๆ ในนั้น ที่น่าระอาในสายตานักกฎหมาย คือ การปรากฏ “ข้อ 2/1” ในประกาศดังกล่าว ทั้งที่ข้อที่มีเครื่องหมายทับเช่นว่านี้ จะเกิดได้เฉพาะแต่กรณีบทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแทรกเข้ามาในภายหลัง ไม่ใช่ปรากฏในประกาศฉบับแรกที่เป็นตัวตั้งต้น ผู้เขียนไม่ทราบว่า ก.พ.อ. ทำงานยกร่างเช่นนี้ได้อย่างไร)
และวันนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่สอดคล้องกับการทำงานทางวิชาการที่ควรจะเป็น และเรื่องความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งไม่เอื้อการพัฒนาความรู้ทางวิชาการของประเทศในภาพรวม
สำหรับในประเด็นข้อกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่า จากคำถามข้างต้น คือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งตำแหน่งวิชาการเองหรือไม่ นั้น
ผู้เขียนมีคำตอบดังนี้
(1) พระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหลายฉบับบัญญัติว่า “คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย” เช่น มาตรา 55 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551, มาตรา 70 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558
เพราะฉะนั้น สภามหาวิทยาลัยในแต่ละแห่งซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดที่จะตราข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดข้อบังคับเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น ผศ. รศ. หรือ ศ. ได้ด้วยตัวเอง
เป็นอำนาจตัดสินใจสูงสุดตามแนวคิดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ สภามหาวิทยาลัย เป็นผู้มีอำนาจดุลพินิจบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ของมหาวิทยาลัยของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคล และตัดสินใจว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผศ. รศ. และ ศ. ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องมีคุณสมบัติในสายตาของมหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างไร
เพราะฉะนั้น หากมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งใดที่เห็นว่า ประกาศ ก.พ.อ. ฉบับดังกล่าวสร้างปัญหาจากการกำหนดร้อยละในผลงาน สร้างปัญหาเกี่ยวกับการสร้างสองมาตรฐานระหว่างสายวิทยาศาสตร์กับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สร้างข้อห้ามการตุนผลงาน หรือสร้างภาระเกินจำเป็นในเรื่องอื่นใด ก็ย่อมที่จะตราหลักเกณฑ์ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัยตนเอง มิให้มีหลักเกณฑ์ที่เป็นปัญหาเช่นนั้นได้โดยชอบกฎหมาย
ข้อสังเกตคือ เพียงแต่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหลายแห่ง ไม่รู้อำนาจความเป็นจริงในพระราชบัญญัติของตน โดยร่างข้อบังคับของตนอิงกับประกาศ ก.พ.อ. มาโดยตลอดตั้งแต่สมัยประกาศ ก.พ.อ. ฉบับเก่า ยิ่งกว่านั้น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบางแห่งเลือกที่จะกำหนดในข้อบังคับของตนว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการขอตำแหน่งวิชาการ ให้เป็นไปตามประกาศ ก.พ.อ. ไปเสีย
(2) การที่ประกาศ ก.พ.อ. ฉบับดังกล่าว กำหนดไว้ในคำปรารภว่า “สภาสถาบันอุดมศึกษาอาจกําหนดหลักเกณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพันธกิจและนโยบายการพัฒนาอาจารย์ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่ ก.พ.อ. กําหนด”
คนอ่านข้อความนี้ผิวเผินก็จะเผลอเข้าใจว่า สถาบันอุดมศึกษาทั้งปวงในประเทศไทย ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลาง ที่ ก.พ.อ. กำหนดในประกาศฉบับดังกล่าว
ผู้เขียนขอเรียนให้ทราบว่า โปรดอย่าเข้าใจผิด โปรดอย่าตกหลุมพรางเพียงแค่การอ่านคำโดยผิวเผิน
คำว่า “สถาบันอุดมศึกษา” ในประกาศ ก.พ.อ. นี้ ต้องเป็นไปตามนิยามของกฎหมายแม่บท คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ที่มาตรา 4 นิยามคำว่า “สถาบันอุดมศึกษา” ว่าหมายถึง “สถานศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ”
ซึ่งปัจจุบัน ก็เช่น บรรดามหาวิทยาลัยราชภัฏหลายๆ แห่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฯลฯ
เพราะฉะนั้น คำว่า สถาบันอุดมศึกษาในประกาศ ก.พ.อ. ดังกล่าว จึงไม่อาจรวมถึงมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะมหาวิทยาลัยประเภทนี้ไม่ใช่ส่วนราชการ หากแต่อยู่นอกระบบราชการแล้ว โดยมีลักษณะเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการอิสระสำหรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของตนภายในกรอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง หาใช่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ก.พ.อ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สกอ. แต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจะยกประโยคในคำปรารภของประกาศนั้น เป็นข้อห้ามสภามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่จะออกข้อบังคับให้แตกต่างไปจากประกาศนั้น มิได้
....มาวันนี้ จะถึงเวลาหรือยังที่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะตื่นรู้ และสลัดตัวออกจากผลงานของ ก.พ.อ. ฉบับนี้ แล้วเป็นตัวของตัวเอง ให้สมกับเจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติจัดตั้งได้มอบให้ไว้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก nida.ac.th และ th.gofreedownload.net