ฟังเสียง"คนพื้นที่"คลี่ปมบอมบ์หาดใหญ่-ยะลา กับปริศนา"สลับเลข"วันสถาปนาบีอาร์เอ็น
ข่าวสารและความเคลื่อนไหวหลังเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่ชายแดนใต้กำลังดำเนินไปในวงจรเดิมๆ คือผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและฝ่ายข้าราชการประจำลงพื้นที่, รุมประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุ, เปิดเผยความคืบหน้าทางคดี และแย้มรายชื่อผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่น่าจะเป็นกลุ่มคนร้ายที่ก่อการ
แต่แทบจะไม่มีการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงนอกเหนือจากการคาดการณ์ หรือปรับวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่แบบ "ยกเครื่อง" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนในพื้นที่ซึ่งยังต้องเสี่ยงตายทุกวัน
และผ่านไปสัก 1 สัปดาห์ ทุกอย่างก็จะค่อยๆ เงียบหายไป...
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจหากจะลองไปฟังประชาชนจริงๆ ในพื้นที่บ้างว่าพวกเขาคิดอย่างไร และมองอย่างไรกับเหตุการณ์ร้ายเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 ทั้งคาร์บอมบ์ที่อาคารลีการ์เด้นส์พลาซ่ากลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และย่านเศรษฐกิจของ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งว่ากันว่าร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งตลอด 8 ปีไฟใต้
วงวิเคราะห์ "ร้านน้ำชา" วิจารณ์หลากมุม
จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านตามร้านน้ำชาที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง พบประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายเสียงตั้งข้อสังเกตตรงกันว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นในห้วงที่หน่วยงานรัฐเองกำลังมีความขัดแย้ง และชิงการนำกันเรื่องการเจรจากับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หลายคนจึงเชื่อว่าเป้าหมายของการก่อการคือการ "ดิสเครดิต" หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่บางรายมองว่า กลุ่มก่อความไม่สงบกำลังแสดงศักยภาพว่าจะก่อเหตุที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ บางช่วงที่เงียบหายไปไม่ใช่ว่ากำลังเสียเปรียบอยู่ แต่เพราะเลือกที่จะไม่ทำเอง ส่วนบางรายเห็นว่าสถานการณ์ร้ายเกิดจากการขัดผลประโยชน์เรื่องยาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายซึ่งผสมโรงอยู่กับปัญหาก่อความไม่สงบและแยกดินแดน
ปริศนา "สลับเลข" วันสถาปนาบีอาร์เอ็น
มีประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันไม่น้อย คือเป็นการก่อเหตุในวาระวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น วันที่ 13 มี.ค.ของทุกปีหรือไม่ โดยปีนี้อาจจะใช้วิธีสลับเลข "1-3" เป็น "3-1" เพื่อหลบหลีกมาตรการป้องกันเข้มของเจ้าหน้าที่ที่วางกำลังเต็มที่ในวันที่ 13 มี.ค.
นายมะยูโซะ (นามสมมุติ) ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ามาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อส่งสัญญาณถึงรัฐว่าไม่ต้องการการเจรจาที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยกำลังทำอยู่
"หากมาถอดรหัสเหตุการณ์นี้ แม้จะเกิดขึ้นวันที่ 31 มี.ค. ขณะที่วันสถาปนาบีอาร์เอ็นจริงๆ คือวันที่ 13 มี.ค. แต่อาจเป็นการนำตัวเลขมาสลับกันก็ได้ เพราะคาดว่าวันที่ 13 มี.ค.กลุ่มขบวนการอาจไม่สามารถก่อเหตุได้ และก็เคยมีแนวปฏิบัติว่าอาจทำช่วงก่อนหรือหลังวันสถาปนา 7 วันก็ได้ สำหรับปีนี้อาจจะเลือกวันที่ 31 มี.ค.ซึ่งยังคงตัวเลข 1 กับ 3 อยู่เหมือนวันที่ 13"
เชื่อขบวนการไม่เอา"เจรจา-พื้นที่ปลอดภัย"
นายมะยูโซะ ซึ่งอ้างว่าได้ยินได้ฟังข้อมูลจากบรรดาแนวร่วมก่อความไม่สงบ บอกด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมามีหลายกลุ่มพยายามพูดคุยเรื่องพื้นที่สันติภาพ พื้นที่ปลอดภัย และการกระจายอำนาจ จึงเชื่อว่าเหตุระเบิดน่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ เพราะฝ่ายขบวนการไม่ต้องการ ที่สำคัญขณะที่เกิดระเบิดที่อาคารลีการ์เด้นส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทราบว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยกำลังพูดคุยกับกลุ่มองค์กรจากต่างประเทศบางองค์กรในโรงแรมไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุด้วย
"ผมเชื่อว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อแสดงจุดยืนว่าเขาไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการการเจรจาและการกระจายอำนาจ หรือแม้แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะเขายังได้เปรียบอยู่ ยังสามารถก่อเหตุได้ และเป้าหมายของขบวนการคือให้แก้ไขปัญหาที่รากเหง้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐไทย แต่ประเด็นต่างๆ ที่กำลังทำเป็นเพียงปลายเหตุ"
"ทางขบวนการคิดว่าการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐไทยเป็นไปในลักษณะชนชั้นนำหรือผู้ปกครองดำเนินการ โดยไม่ได้ถามชาวบ้านหรือกลุ่มขบวนการเลย พวกเขาจึงก่อเหตุเพื่อส่งสัญญาณถึงรัฐไทย และน่าเชื่อว่าเขาไม่มั่นใจเรื่องพื้นที่ปลอดภัยหรือคนกลางที่จะเข้ามาประสานเรื่องเจรจาตามที่มีการดำเนินการกันอยู่" นายมะยูโซะ กล่าว
เปิดปูมประวัติ "บีอาร์เอ็น"
กลุ่มบีอาร์เอ็น หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (The Barisan Revolusi Nasionnal : BRN / National Revolutionary Front) เป็นองค์กรเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2503 ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการมีจำนวนมาก และได้จัดตั้งหน่วยทหารขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2511 ใช้ชื่อว่ากองกำลังติดอาวุธปลดแอกปัตตานี หรือ Angkatan Bersenjata Revolusi Patani : ABRIP
อุดมการณ์เริ่มแรกของ "บีอาร์เอ็น" คือยึดแนวความคิดการปกครองแบบสังคมนิยม แต่ต่อมาหันมาชูอุดมการณ์ด้านศาสนา อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความแตกแยกภายในขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนแตกเป็น 3 กลุ่ม คือ บีอาร์เอ็น คองเกรส (สายกองกำลังติดอาวุธ) บีอาร์เอ็น อูลามา (สายศาสนา) และ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (สายการเมืองและศาสนา) แต่ในปัจจุบันทางการไทยเชื่อว่าเหลือเพียงขบวนการเดียวที่ยังมีศักยภาพและมีบทบาทมากที่สุด คือ ขบวนการ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และน่าจะอยู่เบื้องหลังความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 8 ปีเศษที่ผ่านมา
หลักการสำคัญของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต คือ ยึดมั่นแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ไม่เจรจากับฝ่ายรัฐ และใช้วิธีการรุนแรงในการปฏิบัติการ โดยไม่เลือกว่าเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิมที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ (1)
"อดีตแกนนำ" ชี้เป้าโต้ ศอ.บต.ทำขบวนการเสียมวลชน
อดีตสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นระดับแกนนำรายหนึ่งซึ่งปัจจุบันออกจากขบวนการแล้ว ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่มีนัยยะส่งสัญญาณถึงรัฐไทย ส่วนสาเหตุที่ทำให้กลุ่มขบวนการต้องส่งสัญญาณคิดว่ามีหลายเรื่อง แต่ที่มีน้ำหนักกที่สุดน่าจะเป็นบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ทำให้ขบวนการเสียมวลชนไปไม่น้อย
"ระยะหลัง ศอ.บต.เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ทำให้กลุ่มขบวนการเสียประโยชน์ และแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐไทยเองก็เสียประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ที่ ศอ.บต.ทำดีมาก คือการไปช่วยเหลือแรงงานร้านต้มยำกุ้งที่มาเลเซีย ถึงขั้นจับมือกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อปล่อยกู้ช่วยดูแลเรื่องใบอนุญาตทำงาน เรื่องนี้แรงมาก เหมือนเป็นการตบหน้าฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าจุดนี้ที่ทำให้เขาต้องก่อเหตุรุนแรง เพราะหาก ศอ.บต.ทำสำเร็จ สถานการณ์สงบลง จะมีคนเสียประโยชน์หลายคนหลายกลุ่ม" อดีตสมาชิกบีอาร์เอ็น ระบุ
ทนายมุสลิมตั้งปมรุนแรงหนักหลังต่อ พ.ร.ก.
ด้านทนายมุสลิมในพื้นที่ (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข่าวระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่สังคมไม่รู้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในที่นี้คือใคร รู้แค่ว่ามีศักยภาพสูง สามารถกำหนดพื้นที่ รูปแบบทฤษฎี และยุทธวิธีในการก่อเหตุรุนแรงได้อย่างเสรีอย่างน่าตกใจ
"ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งการโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่ที่บ้านส้มป่อย อ.ระแงะ จ.นราธิวาส การเผยแพร่คลิปอนาจารสาวมุสลิม เกตุกราดยิงชาวบ้านที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 ถล่มบ้านนายนัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย ผมคิดว่าทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน รวมทั้งเหตุรุนแรงครั้งล่าสุดที่ อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองยะลาด้วย"
"สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ เหตุการณ์นี้มาเกิดช่วงหลังการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เพียงไม่นาน แสดงว่าเขาต้องการบอกอะไรหรือเปล่า หลังจากต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว เหตุการณ์ในพื้นที่ก็ยิ่งแรงขึ้นอย่างนั้นหรือเปล่า"
ทนายมุสลิมรายนี้ ยังเห็นว่า สถานการณ์ในพื้นที่ปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน หลายกลุ่มหลายขบวนการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทั้งยาเสพติด กลุ่มอิทธิพลการเมือง และการสร้างสถานการณ์เพื่อดิสเครดิตกันเอง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองบางระดับก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับบางเรื่อง เช่น การค้าธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้สถานการณ์มั่วไปหมด
"การเมือง-ผู้นำศาสนา"ปักใจโยงกลุ่มผลประโยชน์
ด้านความเห็นของผู้นำทางการเมืองและศาสนา นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องทบทวนการกระทำที่ผ่านมาว่าได้ไปจี้จุดตรงไหนหรืออะไรบ้าง เพราะเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากจุดนั้น
นางสุณี หมัดสุหลง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านดอน ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ซับซ้อนสับสนมาก ทุกกลุ่มโยงกันหมด แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองบางครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้องในหลายๆ เรื่อง ส่วนตัวจึงได้แต่ทำใจ เวลาเกิดเหตุร้ายขึ้นก็ไม่อยากคิดมาก แค่เอาตัวเองให้รอดก็พอ
ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นหญิงรายหนึ่งจาก จ.ยะลา มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติด ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงกำลังจี้ถูกจุด และอาจสาวไปถึงนักการเมืองระดับสูง
"เมื่อรัฐไม่หยุด เขาก็ต้องก่อเหตุเพื่อแสดงศักยภาพว่าเขาทำได้ทุกเมื่อ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เป็นการบอกกับรัฐว่าอย่ามายุ่งกับเขา สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้มีกลุ่มผลประโยชน์เชื่อมโยงกันหมด ยิ่งหน่วยงานรัฐพยายามไปเจรจากับคนของกลุ่มขบวนการในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มเหล่านี้ยิ่งได้ใจ" นักการเมืองท้องถิ่นหญิงจาก จ.ยะลา กล่าว
นายมะ อับดุลเลาะ อิหม่ามประจำมัสยิดแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนได้ประโยชน์จากปัญหาภาคใต้ จึงอยากให้มองไปยังกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ทีละกลุ่ม อย่าเพิ่งด่วนสรุป
"เหตุการณ์ความรุนแรงนั้น พวกที่ได้ประโยชน์ก็อยากให้มีอยู่ ฉะนั้นอย่าไปมองที่คำตอบที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นเหมือนอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วต้องเป็นกลุ่มขบวนการ หลายครั้งที่เกิดเหตุในพื้นที่ ข่าวประโคมไปว่ากลุ่มนายคนนั้นนายคนนี้ทำ แต่สุดท้ายสืบไปสืบมากลับไม่ใช่ หลายเรื่องจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว จะขอคืนก็ไม่ได้ ต้องปล่อยไป จึงอยากให้ช่วยกันมองปัญหาใหม่ เพราะสถานการณ์ซับซ้อนขึ้นกว่าแต่ก่อน" นายมะ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเสียหายของตึกรามบ้านช่องใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังเกิดคาร์บอมบ์ครั้งรุนแรง (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
หมายเหตุ : (1) ข้อมูลจาก จุลสารความมั่นคงศึกษา โดย รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข และคณะ