คกก.วัตถุอันตราย ถกแบน ‘พาราควอต’ 7 ธ.ค. 60-เอ็นจีโอหวังอิงข้อมูลรอบด้าน ไร้ประโยชน์ทับซ้อน
ไทยแพน-มูลนิธิชีววิถี เตรียมยื่น 5 ข้อเสนอ ต่อที่ประชุมคกก.วัตถุอันตราย 7 ธ.ค.60 ขอให้ยกเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส’ จำกัดการใช้ ‘ไกลโฟเซต’ พร้อมตั้งตัวแทนภาคประชาสังคมเป็นอนุกรรมการติดตามปัญหา ขณะที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยื่น ‘เตือนใจ ดีเทศน์’ ตรวจสอบปมละเมิดสิทธิ ด้านชาวสวนมะพร้าว จ.ราชบุรี เรียกร้องผ่านกรมวิชาการเกษตร รับผลกระทบจากการให้ข้อมูลของเอ็นจีโอ สารเคมีตกค้างในผลผลิต
วันที่ 6 ธ.ค.2560 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรพืช (ไทยแพน) ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าวตอบทุกประเด็นผลกระทบจากพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จ.นนทบุรี
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ธ.ค. 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต มีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ดังนั้นภาคีเครือข่ายจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้ดำเนินการพิจารณากำหนดให้สารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันการกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
2.การประชุมและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายตามข้อ 1 ต้องเป็นไปโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ต้องไม่มีผู้ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือทางอื่นใดเกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด โดยตรงและโดยอ้อม เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว
3.การนำเสนอข้อมูลหรือรายงานวิชาการอื่นใดเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือรายงานจากผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียหรือสนับสนุนโดยกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียมาใช้พิจารณา
4.ขอให้พิจารณาตั้งตัวแทนของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและติดตามเกี่ยวกับปัญหาและการเสนอแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 3 คน เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานอื่นใดที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 3 รายการดังกล่าว
และ 5.ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการ อนุกรรมกร หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ
น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการต่อขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ บัญชีรายการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตามรายชื่อของบริษัท และชื่อทางการค้า ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นหรือมีส่วนประกอบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 รายการ ที่ได้รับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้ว, เอกสารประกอบคำขอการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้หงมดตามข้อ 1 ได้ยื่นต่อกรมวิชาการเกษตร ยกเว้นข้อมูลความลับทางการค้า และ บันทึกการประชุม รายงาน และผลมติของอนุกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดที่มีการต่ออายุให้มีการขึ้นทะเบียน ตามสิทธิพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายมีความกังวลว่า ข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีขึ้นจะมาจากองค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสารเคมีเท่านั้น ทำให้ไม่ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งนี้ ยืนยันปัจจุบันมี 52 ประเทศ และหนึ่งในนั้น 17 ประเทศ จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด เช่น บราซิล มีนโยบายห้ามให้ฉีดพ้นจากมนุษย์ แต่อนุญาตให้ฉีดพ้นจากรถแทรกเตอร์เท่านั้น
ส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ในสมัยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรี อ้างว่าจำเป็นต้องต่ออายุขึ้นทะเบียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีมติจัดประเภทนั้น ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุ ในสมัยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูราน และเมโทมิล แม้จะยังไม่มีมติออกมาเช่นกัน เพราะเห็นว่า สารเคมีทั้งสองชนิดมีผลกระทบจริง จึงไม่เข้าใจทั้งที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีรายชื่อ ดังต่อไปนี้ นายสุทธิเวช ต.แสงจันทร์ สาขาวิชาเคมี, นางสมศรี สุวรรณจรัส สาขาวิชาวิทยาศาสตร์, นายวิสูตร ชินรัตนลาภ สาขาวิศวกรรมศาสตร์, นายวิชา ธิติประเสริฐ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์, นายภักดี โพธิศิริ สาขาวิชากฎหมาย, น.ส.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค, นางศุภวรรณ ตันตยานนท์ ตัวแทนองคืการสาธารณประโญชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค, นางชุติมา รัตนเสถียร ตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน, นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ ตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น และนายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะที่สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) นำโดย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือต่อนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต โดยขอให้ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของกรมวิชาการเกษตรและได้แจ้งกลับผลการตรวจสอบมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคภายใน 30 วัน นับจากได้ผลตรวจสอบด้วย โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่ามีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
ทั้งนี้ สสอบ. เห็นว่า การต่ออายุทะเบียนนำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าหญ้าพาราควอตของกรมวิชาการเกษตรครั้งนี้ เข้าข่ายการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ว่า มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษย์
ด้านเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ราชบุรีกว่า 20 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมวิชาการเกษตร กรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้ข้อมูลว่ามีสารพาราควอตตกค้างในมะพร้าว จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย .