เครือข่ายปชช. ชุมนุมหน้าทำเนียบค้านร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ กดดันรัฐถอนออก
เครือข่ายประชาชนฯ ชุมนุมคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ชี้หลายจุดต้องแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม EIA ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบแท้จริง เอื้อทุนเต็มที่ ยันให้ถอนพิจารณาร่างดังกล่าว
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมตัวชุมนุมเพื่อคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ที่ปัจจุบันผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
โดยทางตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แถลงเจตนารมณ์ในการชุมนุมครั้งนี้ว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอย่างเร่งรีบ โดยไม่ยอมรับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะของภาคประชาชนที่ได้พยายามท้วงติงต่อรัฐบาลถึงข้อบกพร่องของร่างกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาของกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ(EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ(EHIA) ที่มีอยู่เดิมได้เเล้ว กลับจะยิ่งเอื้อให้โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก
“การรวมตัวชุมนุมกันในวันนี้จึงเป็นทางเลือกอันจำเป็น เพื่อช่วยกันส่งเสียงของประชาชนให้ดังไปถึงหูของผู้มีอำนาจ เพื่อยืนยันให้จุดยืนของประชาชนว่าเราไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนฉบับนี้” ตัวแทนเครือข่าย กล่าวและว่า ขอยืนยันความชอบธรรมของประชาชนในการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 44 ให้การรับรองคุ้มครองไว้ และขอยืนยันว่าเราได้ ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว
ด้าน นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เดิมพ.ร.บ.นี้ใช้มา 25 ปี มีการประเมินผลกระทบมา 10-15 ปี ภาคตะวันออกมีผลกระทบเยอะมาก ที่ผ่านมาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการมีปัญหาตามมาเยอะมาก เพราะกระบวนการที่มีไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการให้เจ้าของโครงการจัดจ้างที่ปรึกษามาปรึกษาเองเพื่อให้อีไอเอผ่าน เพราะฉะนั้นในเชิงชาการที่จะตอบว่ามีผลกระทบเหมาะสมหรือไม่ หรือจะจัดการอย่างไร ก็ไม่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สองที่ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ระบุถึงคือ เรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Environmental Assessment - SEA ซึ่งจำเป็นต้องใช้มากในพื้นที่ที่มีโครงการเข้าไปมากๆ อย่างภาคตะวันออก มาบตาพุดไม่เคยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มีปัญหาเต็มมาบตาพุด ชุมชนอยู่ไม่ได้ โรงเรียนต้องย้าย สิ่งเหล่านี้ต้องไปอยู่ในการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แต่ไม่มีอยู่เลย แถมกระบวนการที่ไม่ดีอยู่เดิมมีหลายข้อ กลับทำให้แย่ลงไป เช่นเรื่อง ม.44 ที่บอกว่า หากเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐ ไม่ต้องรออีไอเอผ่าน สามารถหาผู้ประมูลได้เลย แบบนี้อะไรจะเป็นตัวประกันในโครงการของรัฐที่มีผลกระทบมาก หรือในเรื่องมาตราที่เขียนว่า หากเป็นโครงการในลักษณะเดียวกันเช่น โรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกกะวัตต์ และอีกที่จะเปิดขนาดเท่ากัน ใช้เทคโนโลยี ใกล้เคียงกัน สามารถคัดลอกรายงานอีไอเอไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องศึกษาประเมิน ไม่ต้องมีส่วนร่วมกับพื้นที่นั้นๆ เราเห็นว่า แบบนี้จะทำให้การรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราเกิดขึ้นได้ยาก
ด้านดร.สมนึก จงมีวศิน ฝ่ายวิชาการเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวถึงข้อบกพร่องในร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่นี้ว่า ในมาตรา 50 ของร่างพ.ร.บ.นี้เป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ในมาตรา 58 กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการอันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรม ชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนิน
“แต่ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดไว้สำหรับเพียงโครงการหรือกิจการเท่านั้นซึ่งถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลงอย่างเห็นได้ชัด”
นอกจากนี้ ดร.สมนึก ยังชี้เพิ่มเติมว่า ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ยังขาดบทบัญญัติว่าด้วย ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่า ตนไม่ได้ทำให้มลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปล่อยมลพิษทั้งในเชิงความเข้มข้นและปริมาณการปล่อยรวมต่อพื้นท่ี ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษท่ีต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นท่ีด้วย
“ร่างพ.ร.บ.ต้องมี หลักความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และควรที่จะต้องมีการบัญญัติเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ให้ชัดเจน ต้องมีการกระจายอำนาจการมีส่วนร่วม เช่น การบัญญัติให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมประจำจังหวัด ขึ้นรับผิดชอบแผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด การมีมาตรการหรือกลไกที่ชัดเจนในการสนับสนุน อาสาสมัครสิ่งแวดล้อม องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน ในการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ดร.สมนึกกล่าวและว่าร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมต้องมีการระบุ "สิทธิชุมชน" ให้ชัดเจน ต้องมีบทบัญญัติที่รับรองการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม รวมไปถึงการคุ้มครองหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องมีการระบุไว้ให้ชัดเจนในร่างพระราชบัญญัตินี้
“ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.. ฉบับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคุณภาพด้อยกว่าฉบับเดิมมากมาย ผมจึงมีความเห็นว่า ต้องมีใครสักคนถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาจาก สนช. และมาร่วมกันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับที่สร้าง"ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม"ได้จริง ระหว่าง รัฐ และ ประชาชน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และหลักการสากลว่าด้วย 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs, Sustainable Development Goals) ที่ รัฐบาล คสช. ได้ไปตกลงไว้กับนานาชาติ เมื่อสองปีก่อน” ดร.สมนึก กล่าว.
ทางผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยืนยันว่าจะยังคงชุมนุมกดดันรัฐบาลบริเวณหน้าทำเนียบต่อไป จนกว่าจะมีการยืนยันว่าจะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านในทุกภาคของประเทศได้รับผลกระทบต่อความไม่ชอบธรรมในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ ท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และประเด็นเหมืองแร่ทางภาคอีสาน