2 เดือนท้ายปี ต.ค.-พ.ย. เหตุรุนแรงลด 57% แต่ยังใช้กฎหมายพิเศษต่อ!
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปลายปี มีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง ด้านหนึ่งเป็นเพราะผลจากการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะในพื้นที่ช่วงนี้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก และน้ำท่วม ทำให้ช่วงท้ายของปีมักเป็นช่วงที่มีสถิติเหตุรุนแรงค่อนข้างน้อย
สัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย.60 เกิดเหตุระเบิดขึ้น 1 ครั้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย. บนถนนสายเจาะไอร้อง-บ้านยานิง ในเขต อ.เจาะไอร้อง โดยคนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังแก๊ส น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ไปซุกไว้ในท่อลอดใต้ถนน ก่อนจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร ช่วงที่รถยนต์ของทหารชุดพัฒนาสันติ 2 คันกำลังแล่นผ่าน จนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่น โชคดีที่รถของกำลังพลเป็นรถหุ้มเกราะ จึงไม่มีใครได้รับอันตราย แต่สะเก็ดระเบิดกระเด็นไปโดนชาวบ้านที่ค้าขายอยู่ริมทางได้รับบาดเจ็บ 2 คน
กำลังพลชุดนี้ กำลังเดินทางไปบรรยายถึงโทษภัยของยาเสพติดให้กับนักเรียนในพื้นที่รับผิดชอบได้ฟัง แต่ถูกโจมตีด้วยระเบิดระหว่างการเดินทาง
วันเดียวกันนั้น ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้แถลงสรุปสถิติเหตุการณ์ภาพรวมในช่วง ต.ค.ถึง พ.ย.60 โดย พ.ต.อ.ศักดิ์รินทร์ บำเพ็ญสมัย โฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า ผลการปฏิบัติที่สำคัญของกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2560 มีคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่รวม 454 คดี เป็นคดีความมั่นคง 161 คดี คดีอาญาทั่วไป 293 คดี
สำหรับคดีความมั่นคง แยกเป็นเหตุยิง 51 คดี ระเบิด 96 คดี วางเพลิง 8 คดี ทำร้าย 2 คดี และมีคดีอื่นๆ อีก 4 คดี หากเทียบเฉพาะเดือน พ.ย.ของปี 60 กับปี 59 พบว่า ลดลง 22 คดี โดยพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ไม่มีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นเลย ทั้งปี 59 และ 60
โฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังบอกอีกว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการออกหมาย ฉฉ. (หมายเรียกที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) รวม 6,931 หมาย จับกุมผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยได้ 5,068 หมาย เสียชีวิต 94 หมาย ถอนหมายและขาดอายุความ 1,595 หมาย คงเหลือหลบหนีอยู่ 174 หมาย
ขณะที่การออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (หมาย ป.วิอาญา) เฉพาะคดีความมั่นคง มีการออกหมายทั้งสิ้น 5,935 หมาย จับกุม 3,214 หมาย เสียชีวิต 553 หมาย ถอนหมาย และที่ขาดอายุความ 743 หมาย คงเหลือหลบหนีอยู่ 1,351 หมาย ทั้งสองกลุ่ม (หมาย ฉฉ. และหมาย ป.วิอาญา) ที่ยังหลบหนีอยู่ รวมทั้งสิ้น 1,525 หมาย
พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.60 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 74 เหตุ เป็นเหตุความมั่นคง 16 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 38 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในห้วงเดียวกันของปีที่แล้ว เหตุความมั่นคงลดลง 22 เหตุ คิดเป็นร้อยละ 57 การสูญเสีย ลดลง 96 ราย คิดเป็นร้อยละ 58
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่สถิติเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่องตามการแถลงเป็นระยะของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ฝ่ายความมั่นคงยังคงเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 32 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นการต่ออายุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 48 จนถึงขณะนี้มากกว่า 50 ครั้งแล้ว
เช่นเดียวกับในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการต่ออายุการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 รวมทั้ง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ด้วย ดังที่เป็นข่าวการต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคง ช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีบางฝ่ายเข้าใจผิดว่าเป็นการประกาศเพื่อใช้ดำเนินการกับผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา โดยการต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยปกติจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ย.ของทุกปี เพราะต้องประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เพื่อไม่ให้ขาดตอน ทั้งๆ ที่หลายๆ ช่วงเวลาไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลยตามข่าวแถลงของกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่เข้าตรวจหลุมระเบิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่ และหน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่