ชาวบ้านโวย ป่าไม้ใช้กำลังรื้อถอนพื้นที่เตรียมออกโฉนดชุมชนจาก รบ.ก่อน
ชาวบ้านพื้นที่ผ่านการสำรวจเตรียมออกโฉนดชุมชนจาก รบ.ก่อนโวย ป่าไม้ใช้กำลังรื้อถอน ระบุ รบ. ยิ่งลักษณ์ ไม่สานต่อเพราะมองเป็นการเมือง “ดร.เพิ่มศักดิ์”แนะ ปชช. เข้าชื่อแก้ กม. ที่ดินลดคดีคนจน
จากกรณีนายณรงค์ศักดิ์ รอดรักษ์ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดร้องเรียนเรื่องนายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำเจ้าที่ป่าไม้กว่า 50 นายเข้ารื้อถอนสวนยางพาราในพื้นที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง จำนวน 3 ไร่ นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังระบุว่ายังมีกรณีปัญหาที่คล้ายกัน คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้เตรียมรื้อถอนสวนยาง-สวนปาล์มในพื้นที่บ้านหลังมุข ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้เข้าไปจับกุมชาวบ้านในพื้นที่บ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ซึ่งทั้ง 3 กรณีล้วนผ่านการตรวจสอบเพื่อเตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนจากรัฐบาลก่อน
“ต้นยางพาราอายุ 3 ปีแล้ว ตนไม่ได้บุกรุกป่า หัวหน้าเขตอุทยานฯ ก็เคยเป็นกรรมการจัดทำแนวเขตโฉนดชุมชนที่แต่งตั้งโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และยังเคยให้สัญญาว่าในพื้นที่นี้จะไม่เข้ามายุ่ง” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายสมชัย หัวหน้าอุทยานฯ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าได้เข้าไปรื้อถอนสวนยางจริง แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาออกโฉนดชุมชนจากรัฐบาล และยังมีการบุกรุกจนป่าถูกทำลาย จึงสามารถดำเนินการจับกุมตามกฎหมายได้ ซึ่งตนก็ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ทั้งนี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ยังได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากความไม่แน่นอนในนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐบาลปัจจุบัน ส่งผลให้ข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะ ทส.ไม่ปฏิบัติตาม นำไปสู่กรณีปัญหาซึ่งมี 3 พื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างปัญหาที่เกิดกับพื้นที่ที่ได้รับรองพื้นที่จากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) จากรัฐบาลที่แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้ และอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยยังเคยมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินคดีในพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน
“กังวลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันอาจปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ข่มขู่คุกคามรื้อถอนพื้นที่โฉนดชุมชนทั่วประเทศ เพื่อผลทางการเมืองที่ว่าการรับรองพื้นที่โฉนดชุมชนของรัฐบาลชุดที่แล้วดำเนินการผิดพลาดและส่งเสริมให้คนบุกรุกป่ามากขึ้น” แถลงการณ์ระบุ
เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตาม ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 มีการเสวนา “คดีที่ดินว่าด้วยคนจน เหยื่อของการเข้าถึงที่ดิน” โดยนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ กล่าวว่าจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีคดีที่ดินของคนจนอยู่ระหว่างการพิพากษากว่า 800 คดี ซึ่งคงเป็นเพียง 1 ใน 100 ของคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงเสนอให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมา รวบรวมรายชื่อยื่นเสนอกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นธรรม
“จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น การบังคับคดีที่ไม่ได้ทำความผิด สะท้อนความไม่เป็นธรรมที่รับฟังพยานเอกสารมากกว่าพยานบุคคล แม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าอยู่มานานก็ไม่มีน้ำหนัก ส่งผลให้ร้อยละ 90 ของคดีที่ดิน คนจนมักแพ้คดี ติดคุก ถูกตัดสินให้ย้ายออกไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้นต้องแก้ไขกรอบกฎหมายเดิมๆ ทบทวนประมวลกฎหมายที่ดินทั้งหมด รวมทั้งภาคประชาชนเองก็ควรลุกขึ้นมา รวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นธรรม
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาคปท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีความเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน บุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งหมด 6,711 คดี หรือถูกจับกุมวันละ 19 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และถูกพนักงานของรัฐฯ คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท/ไร่ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้โลกร้อน กลับไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ.