บันทึก "น้ำท่วมเมืองปัตตานี" ชาวบ้านบอก 10 ปีแล้วไม่เคยหนักขนาดนี้
ศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวปัตตานีต้องบันทึกไว้ เพราะมวลน้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมเมืองและเขตเศรษฐกิจชั้นในจนกิจกรรมทุกอย่างของประชาชนแทบจะต้องหยุดชะงัก
มวลน้ำจาก จ.ยะลา ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทัน ถนนเกือบทุกสายมีน้ำท่วมในระดับสูง บางคนเดินทางออกจากบ้านที่อยู่ต่างอำเภอเข้ามาในตัวเมืองเพื่อจับจ่ายซื้อของ แต่หาทางกลับไม่ได้ เพราะน้ำท่วมสูงเหมือนถูกปิดเมือง ไม่เว้นแม้พื้นที่เศรษฐกิจ หน้าตลาดที่มีร้านรวงต่างๆ ชาวบ้านบอกว่าถือเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี แม้แต่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีซึ่งไม่เคยถูกน้ำท่วมเลย แต่ปีนี้ระดับน้ำสูงถึง 20-30 เซนติเมตร
มารียัม แวอูมา ชาวบ้าน ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เล่าว่า ออกจากบ้านในตอนเช้า น้ำมีไม่มาก ถนนบางสายไม่มีน้ำ แต่พอสายหน่อย จะกลับบ้าน ปรากฏว่าไม่มีเส้นทางไหนออกจากเมืองได้ น้ำปิดเมืองหมดแล้ว ร้านค้าก็ปิดเพราะน้ำท่วมเร็วและเยอะมาก
ชัยนูรดีน นิมา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) บอกว่า น้ำท่วมใน จ.ปัตตานี ปีนี้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา และน้ำจาก จ.ยะลา ไหลมาจำนวนมากและแรง ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
มีรายงานว่า ยังมีชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ชั้นใน ห่างจากถนนใหญ่ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น หมู่ 1 และ หมู่ 2 ของ ต.ปะกาฮารัง อำเภอเมืองปัตตานี ขณะนี้ชาวบ้านต้องการอาหารแห้งและน้ำดื่ม รวมทั้งเรือพายเพื่อใช้เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน
ชาวบ้านหลายคนสะท้อนผ่าน "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การช่วยเหลือของทางราชการนอกจากจะไม่ทั่วถึงแล้ว ยังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย เพราะอาหารที่นำมาแจกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกล่อง ซึ่งไม่สามารถเก็บได้นาน ชาวบ้านต้องการอาหารแห้งและน้ำดื่มสะอาดมากกว่า เนื่องจากไม่รู้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะใช้เวลานานกี่วันกว่าน้ำจะลดเข้าสู่ภาวะปกติ
ก่อนหน้านั้น นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัตตานี มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยแล้ว 5 ราย คือ ด.ญ.ฮัยฟาห์ บือแน อายุประมาณ 1 ขวบ จมน้ำในพื้นที่หมู่ 3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง, ด.ช.มูฮำหมัดซาเฟียน เบญเจ๊ะมิ อายุ 1 ขวบเช่นกัน จมน้ำในพื้นที่หมู่ 3 ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน, นายสุไลมาน บาเหะ อายุ 16 ปี จมน้ำในพื้นที่หมู่ 4 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ, ด.ช.มูฮำหมัดริฎวน มามุ อายุ 7 ขวบ จมน้ำในพื้นที่หมู่ 1 ต.ดาโต๊ะ อ.หนองจิก และ นายแวฮามะ เตาะสาตู อายุ 69 ปี จมน้ำในพื้นที่หมุ่ 1 ต.ประจัน อ.ยะรัง
พื้นที่ประสบภัยครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอ 95 ตำบล 528 หมู่บ้าน 18,116 ครัวเรือน 32,514 คน โรงเรียนถูกน้ำท่วม 58 แห่ง พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 19,207 ไร่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศให้ปัตตานีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน
ที่ ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา พื้นที่รอยต่อของ จ.ปัตตานี ชาวบ้าน 67 หลังคาเรือน จำนวนกว่า 200 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากอุทกภัย เพราะน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านจนเกือบมิดหลังคา ระดับน้ำสูงประมาณ 2–3 เมตร การเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านทำไม่ได้ เพราะไม่มีเรือ และยังอยู่ห่างจากถนนใหญ่ถึง 3 กิโลเมตร ชาวบ้านต้องการข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
สำหรับสถานการณ์ที่ ต.ลำไพล อ.เทพา ปรากฏว่าเมื่อมีข่าวเผยแพร่ออกไป นายอำเภอเทพาได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัยทันที
ก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย. เกิดเหตุระทึกขวัญ ถนนขาดบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 53 ระหว่างบ้านกรุงอิตำ-บ้านเขาน้อย ต.สะกอม อ.เทพา โดยถนนทรุดตัวลงไป ลึก 4 เมตร กว้าง 6 เมตร และมีรถยนต์พุ่งตกลงไป โชคดีคนในรถไม่ได้รับบาดเจ็บ
ที่ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 447 พร้อมกำลังพลและแพทย์สนาม ต้องบุกน้ำที่มีระดับความสูงกว่า 1.5 เมตร เพื่อนำถุงยังชีพพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตลอดจนยารักษาโรคและน้ำดื่ม ไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านปาดังยอ บ้านบรือเดาะ และบ้านบรือมง หมู่ 3 ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส จำนวน 40 ครัวเรือน ที่ประสบภัยน้ำท่วมและได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา สร้างความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ศูนย์กู้ชีพกู้ภัยสันติปัตตานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอื้อเฟื้อภาพบางส่วน