เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แจงไม่เกี่ยวข้องข่าวถวายฎีกาปลดบิ๊กตู่ วอนหยุดโยงการเมือง
เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แจงไม่เกี่ยวข้องข่าวถวายฎีกาปลดบิ๊กตู่ วอนโยงชาวบ้านเทพากับการเมือง อย่าอคติยันไม่เกี่ยวข้อง ชี้แจงเหตุผลเดินเท้ายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
(ภาพประกอบจาก จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual))
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว กรณีนายเอกชัย หงส์กังวาน ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ขอนายกพระราชทาน เสนอปลดประยุทธ์เหตุบริหารประเทศไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย ขอให้ทรงแต่งตั้งบุคคลใหม่ที่มีความรู้-ความสามารถที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งนี้แทน ซึ่งมีการใช้ภาพประกอบเป็นภาพกลุ่มเครือข่ายคนสงขลาขปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือกลุ่มชาวบ้านเทพานั้น
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การกระทำดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องใดทั้งสิ้นกับประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงเรียนมาเพื่อทุกท่านทราบและเรียนมายังสื่อทั้งหลายว่าอย่าได้นำภาพใดของการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดอีก
ขณะที่ทางด้านนายสมบูรณ์ คำแหง หนึ่งใน 15 แกนนำที่ถูกจับไปช่วงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาได้รับการปล่อยตัวซึ่งเป็นการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยการใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณจำนวน6 คน ยื่นค้ำประกันแทนเงินสด
นายสมบูรณ์ กล่าวหลังได้รับอิสรภาพถึงการกระทำครั้งนี้ว่า การแสดงออก หรือจะเรียกว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องชาวบางหลิงในฐานะคนเทพาที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีเหตุมีผลดังที่พวกเขาทั้งหลายพยายามจะสื่อสารเพื่อให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้รับรู้ หรือรับทราบในข้อเท็จจริงและในความไม่เป็นธรรมต่อกระบวนการจัดทำโครงการดังกล่าวช่างเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้จะยื่นหนังสือ เดินทางไปร้องเรียนโดยตรงถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ก็แทบจะไร้น้ำหนัก ดังนั้นการเดินไปหานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่มาประชุมสัญจรกันที่จังหวัดสงขลา คือหนทางสุดท้ายก่อนที่โครงการจะได้รับอนุมัติโดยรัฐบาลเอง จึงเป็นความหวังสุดท้ายของคนกลุ่มนี้ ผมสามารถยืนยันได้ว่าทุกคนล้วนบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ได้ลงแรงในครั้งนี้
“การเข้าร่วมขบวนการในครั้งนี้ของผมถือเป็นความรู้สึกส่วนตัว และน่าจะเป็นความรู้สึกของเครือข่ายชุมชนรักษ์อ่าวปากบาราที่เดือดร้อนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จึงเข้าใจถึงความคับอกคับใจต่อเรื่องนี้ และน่าจะอยู่ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ผมจึงไม่ลังเลที่จะร่วมเดินกับพี่น้องในครั้งนี้”
นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับชาวบ้านที่เดินจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ความพลิกผันของเรื่องนี้ ซึ่งผมได้เขียนจดหมายน้อยร้องผ่านสื่อมวลชนไปแล้วว่า มันคือความไม่เคารพ และหวังที่จะยั่วยุให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องกระทำไปเช่นนั้น อย่างไม่ได้มีการวางแผนกันมาก่อน แต่เหตุผลของเหนื่อยล้าจากการเดินตลอดทั้ง 4 วัน และการถูกปิดการเดินทางเพื่อจะให้พวกเราทั้งหมดไปถึงจุดหมายซึ่งเป็นจุดพักรับประทานอาหารในอีก 500 เมตร ของการเดินในวันที่ 27 พ.ย. ซึ่งเป็นการเดินวันที่ 4 ก่อนที่เราจะขอยื่นหนังสือให้กับนายกฯในวันที่ 28 ในการประชุม ครม.สัญจรในวันเดียวกัน
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า แม้เราจะตั้งความหวังสูงสุดว่าอยากจะยื่นกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่เราก็เข้าใจดีถึงข้อจำกัดนั้น และรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงท่านได้ในสภาพของผู้คัดค้านและมีการแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มอย่างชัดเจนทั้งเสื้อ และธงสีเขียวซึ่งมีข้อความไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่การเจรจาดังกล่าวนั้นก็ยังไม่สิ้นสุด และยังดำเนินอยู่ตลอดการเดินทาง ซึ่งฝ่ายปกครองก็คงจะช่วยยืนยันได้ เพราะถ้าหากไม่ได้พบเราก็พร้อมที่จะยื่นให้กับตัวแทนของท่านนายกฯได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้ และคิดว่าอยากจะให้ใครสักคนที่มีอำนาจจริงๆ ที่จะส่งต่อให้กับท่านนายกฯได้ลงพื้นที่จริง ดูสภาพ และรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพียงแค่นี้เราก็พอยอมรับได้ ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นทุกอย่างก็จะไม่เป็นไปอย่างที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และคงจะจบลงด้วยดี
“ผมจึงไม่อยากให้ใครที่มีอคติกับชาวบ้านกลุ่มที่ออกมาคัดค้านโครงการ หรือจะตีเหมาไปถึงเอ็นจีโอที่แค่ออกมาร่วมขบวนกับพี่น้องในฐานะเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม จนกล่าวหาให้กล่ายเป็นเรื่องทางการเมือง หรือเรื่อง อื่นๆ มากไปจากนี้" นายสมบูรณ์กล่าวและว่าหากแต่ให้รับรู้ และเรียนรู้ถึงข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกับพี่น้องบางหลิง หรือคนเทพาในที่แห่งนั้นว่าเขากำลังเดือดร้อนกันอย่างไร และความไม่เป็นธรรมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้กระทำกับพวกเขาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านนี้คืออะไร อย่างไร นี่คือสาระสำคัญมากกว่าที่ต้องเปิดอกเปิดใจยอมรับกันมากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมจะได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนี้”