เปิดผลวิจัยเหยื่อข่มขืน ‘ไทย-เวียดนาม’ หลายคนถูกขอให้ยอมความ ‘ล้มคดี’
เปิดรายงาน “พิจารณาคดีข่มขืน” ไทย-เวียดนาม พบทั้งสองประเทศ “ยอมความ ล้มคดี” ยังมีสูงตั้งแต่ขั้นตอนแรก เหตุปัจจัย ตร.ไม่รับแจ้งความ เตะถ่วงสืบสวน ศาลไต่สวนยืดเยื้อ ขาดหน่วยชำนาญการ
นับเป็นครั้งแรกของเอเชีย และเป็นครั้งแรกของไทยและเวียดนาม ที่มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าด้วย “การยอมความหรือการล้มคดี” (attrition) เรื่อง “ความรุนแรงทางเพศ” เพื่อสร้างความเข้าใจที่เด่นชัดในแง่การทำงานของฝ่ายตำรวจและฝ่ายอัยการในเรื่องความรุนแรงทางเพศ และผลกระทบจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการทำคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อผู้หญิงเจ้าทุกข์ในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ
โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empower of women:UN Women) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme:UNDP) และ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime:UNODE)
ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ใช้เวลาจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2556-57 ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสงขลา ของไทย และฮานอย และดักลัก ของเวียดนาม และจัดแถลงข่าวเปิดเผยผลการศึกษา “การพิจารณาคดีข่มขืน:ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
ผลการศึกษาค้นพบว่า ผู้หญิงที่แจ้งความในคดีข่มขืนในประเทศไทยและเวียดนามต้องเจอกับนโยบายและแนวปฏิบัติทางสังคม กฎหมาย และสถาบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน เครื่องขวางกั้นเหล่านั้นได้ยับยั้งไม่ให้ผู้เสียหายแจ้งความกรณีความรุนแรงทางเพศ และลดความเป็นไปด้ที่ผู้หญิงจะเดินหน้าเพื่อเรียกร้องการแก้ไขผ่านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังพบความเปราะบางต่อความรุนแรงทางเพศของผู้หญิงและเด็กหญิงที่หยั่งรากลึกและถูกกระทำซ้ำโดยค่านิยม แบบแผน และแนวปฏิบัติที่แบ่งแยกทางสังคมและวัฒนธรรม โดยมีผู้หญิงจำนวนมากยังมีความรู้เรื่องสิทธิเล็กน้อย และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิ รวมถึงไม่ทราบว่าสามารถและคาดหวังอะไรได้บ้างในระหว่างดำเนินคดีผ่านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ที่สำคัญ การยอมความหรือการล้มคดียังมีสูงมากในสองประเทศ และจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการติดต่อครั้งแรก และขั้นตอนการแจ้งความ ผู้เสียหายจำนวนมาก ถูกบอกปัด หรือเร่งรัดให้ไกล่เกลี่ยหรือวิธีการตกลงกันเอง นอกระบบยุติธรรมทางอาญาที่เป็นทางการ และหลายรายยังถูกขอให้เล่าเรื่องที่ประสบหลายครั้ง หรือได้รับการปฏิบัติอย่างขาดความเคารพและอ่อนไหว เจ้าพนักงานตำรวจจึงอาจไม่รับแจ้งความ หรือรับแจ้งความ แต่ไม่ดำเนินการสืบสวน หรือเตะถ่วงการสืบสวน
งานวิจัยยังค้นพบด้วยว่า การไต่สวนในขั้นศาลมักยืดเยื้อและยาวนาน โดยเน้นไปที่หลักฐานทางร่างกายและนิติเวศ หรือความน่าเชื่อถือของผู้เสียหายมากกว่าความน่าเชื่อถือของเหตุการณ์ หรือการที่ผู้เสียหายไม่ยอมพร้อมใจด้วย การดำเนินงานที่ล่าช้านี้จึงสร้างความรำคาญให้กับผู้เป็นผู้เสียหายจำนวนมาก รวมไปถึงขาดหน่วยงานสืบสวนที่ชำนาญการเฉพาะในสถานีตำรวจ ในโรงพยาบาล ในหน่วยบริการทางแพทย์ ซึ่งมีการตรวจทางนิติเวช หรือในศาล ขณะที่คดีความรุนแรงทางเพศเป็นเหตุการณ์ซับซ้อน และท้าทายในงานสืบสวน แต่สิ่งที่ค้นพบกลับคือ เจ้าพนักงานสืบสวนไม่ได้รับการอบรมความชำนาญพิเศษ หรืออบรมทางวิชาชีพ หรือไม่ได้รับเลย และยังมีเจ้าพนักงานตำรวจหญิงหรือเจ้าพนักงานสืบสวนหญิงจำนวนน้อยอีก
“มายาคติ” ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
ในการศึกษาครั้งนี้ ยังค้นพบตัวบ่งชี้ที่ว่า มีความคิดแบบเหมารวมทางเพศเกี่ยวกับสถานะของผู้หญิงและเด็กหญิง เช่นเดียวกับมีมายาคติและความคิดเห็นผิด ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในทั้งสองประเทศ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้สะท้อนอยู่ในชุมชนโดยรวม ในตัวผู้ปฏิบัติงานยุติธรรมอาญา และบางครั้งอยู่ในตัวผู้เสียหายในคดีความรุนแรงทางเพศ
หนึ่งในมายาคติ คือ การข่มขืนจริง ต้องมีคนแปลกหน้า มีการใช้กำลัง มีการบาดเจ็บทางกาย และเกิดในที่สาธารณะ
ข้อเท็จจริงแล้ว จากการวิจัยพบว่า ความเชื่อดังกล่าวมิได้ตรงกับลักษณะขอคดีความรุนแรงทางเพศส่วนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นว่า ผู้เสียหายและผู้ต้องสงสัยเป็นคนรู้จักกัน โดยในประเทศไทย ร้อยละ 91 และเวียดนาม ร้อยละ 86 แจ้งว่ารู้จักกับผู้ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องห่วงใยมากกว่า คือ ความคุ้มครอง ความปลอดภัย และการบริการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย
ขณะที่คดีจำนวนมากไม่มีการบันทึกหรือข้อมูลเกี่ยวกับการบาดเจ็บทางร่างกาย ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนดำเนินคดีไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานทางนิติเวชหรือคำให้การพยาน โดยในประเทศไทย มีผู้เสียหายร้อยละ 68 ไม่มีร่องรอยบาดเจ็บให้เห็น และเวียดนาม มีผู้เสียหายร้อยละ 76 ไม่มีร่องรอยบาดเจ็บให้เห็น
ที่น่าตกใจ คือ การข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้าน หรือห้องพักในโรงแรม และบ่อยครั้งที่สุดเกิดในบ้านของผู้เสียหายและบ้านของผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีนัยยะต่อผู้ให้บริการด้านยุติธรรมว่า นั่นจึงจะไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์การประทุษร้ายและด้วยเหตุผลนี้ จึงมีแนวโน้มว่า ความไม่สมยอมของผู้เป็นเหยื่อจะเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดี
มายาคติต่อมา คือ สามีไม่สามารถข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อภรรยาของตัวเองได้
ผลวิจัยค้นพบว่า ในประเทศไทยและเวียดนามกำหนดให้การข่มขืนคู่สมรสเป็นความผิดทางอาญา แต่จากการศึกษาทำให้ทราบยังมีทัศนคติสามีสามารถข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศภรรยาของตัวเองได้ จึงเป็นตัวบ่งชี้ตามมาว่า เหตุใดจึงไม่ค่อยมีการแจ้งความในคดีข่มขืนคู่สมรส
สำหรับประเทศไทย มีค่านิยมที่ว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องภายใน ไม่ควรบอกเล่าหรือมีการแทรกแซงจากคนภายนอกครอบครัว ทำให้ผู้หญิงต้องปิดปากเงียบ ขณะที่เวียดนาม ไม่มีคดีข่มขืนกระทำชำเราในสมรสรวมอยู่ในแฟ้มคดีที่นำมาทบทวนเลย และไม่มีผู้ปฏิบัติงานยุติธรรมอาญาที่ให้สัมภาษณ์คนใดเคยทำคดีนี้ หรือเคยได้ยินว่าคดีนี้อยู่ในระบบ
ด้วยเพราะเป็นความเชื่อโดยทั่วไปว่า การสมรสคือการสมยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กันตราบเท่าที่การสมรสนันยังคงอยู่ สิทธิทางเพศไม่สามารถถูกบอกล้างได้
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมความ-ล้มคดี
แล้วปัจจัยใดที่เป็นสัญญาณเตือนนำไปสู่การยอมความหรือการล้มคดี พบว่ามาจากหลายปัจจัย เช่น หากไม่มีโครงการสนับสนุนทางสังคม ผู้เป็นเหยื่อจะไม่กล้าเข้าแจ้งความ หรือผู้ถูกกล่าวหามีความสามารถในการหลบหนีการรับผิดทางอาญาด้วยการอ้างว่า ตีความจากท่าทีของผู้เสียหายผิดว่า ให้ความยินยอมแล้ว หรือเมื่อเรื่องถึงตำรวจ อาจต้องเสียเวลา มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้รับการต้อนรับและช่วยเหลือที่ดี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เสียหายไม่แจ้งความ
ดังเช่น ตัวอย่างของเหยื่อรายหนึ่ง ต้องเดินทางไปสถานีตำรวจไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ก่อนที่เจ้าพนักงานดำเนินคดีจะพยายามไกล่เกลี่ยและให้ยอมความโดยเธอไม่เต็มใจ โดยให้ยอมรับเงินและถอนแจ้งความ เพราะถึงอย่างไร “ผู้ชายคนนี้ก็เป็นพ่อของลูก”
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางกฎหมายและระเบียบวิธีการที่เกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาทางอาญาที่ส่งผลกระทบต่อการยอมความและล้มคดี
ข้อค้นพบว่า ทั้งประเทศไทยและเวียดนาม มีการยอมความหรือการล้มคดีเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม นับจากขั้นตอนการแจ้งความ การติดต่อครั้งแรก ขั้นตอนการสืบสวน ขั้นตอนการฟ้องร้อง หรือก่อนพิจารณาคดี ขั้นตอนการพิจารณาคดี
ขณะที่ข้อมูลเชิงปริมาณจำกัด แม้ไม่สามารถสรุปเรื่องอัตราการยอมความและล้มคดีได้ แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพบ่งชี้ว่า มีปัจจัยสำคัญใดที่มีอิทธิพลต่อการทำให้คดีไม่สามารถดำเนินไปได้
งานวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ เช่น ให้จัดตั้งบริการยุติธรรมที่สำคัญและมีคุณภาพสำหรับผู้เป็นเหยื่อหรือผู้เสียหาย ซึ่งให้ความเร่งด่วนต่อความปลอดภัย การคุ้มครอง และการช่วยเหลือ ส่งเสริมให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทุกระดับของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งในไทยยังขาดหน่วยงานสืบสวนในสถาบันตำรวจแห่งชาติที่ชำนาญเรื่องความรุนแรงทางเพศ ขณะที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รับนักเรียนนายร้อยหญิง เพื่อเพิ่มจำนวนเจ้าพนักงานสอบสวนหญิงสำหรับคดีที่เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก รวมถึงต้องพัฒนากลไกการกำกับดูแลและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยและเวียดนามยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลสม่ำเสมอและเป็นระบบอย่างแพร่หลายของความรุนแรงทางเพศ
ทั้งหมดเพื่อประกันสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและยุติความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงนั่นเอง .