นักวิชาการ ชี้ระบบการศึกษาไทย สร้างความแตกต่างทางชนชั้น อยู่ภายใต้ระบบธุรกิจ
คณะสังคมศาสตร์ มก. จัดเวทีวิพากษ์ การศึกษากับอนาคตสังคมไทย มุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม นักวิชาการ ระบุศึกษาสร้างความแตกต่างทางชนชั้น รูปแบบการศึกษาผูกโยงระบบทุนนิยม พร้อมยกตัวอย่างอยากเก่งภาษาอังกฤษ นอกจากต้องฝึกฝน ใช้ความพยายามแล้ว ยังมีต้นทุนที่สูง ขณะที่ดร.เดชรัต ชี้ปัญหาการเรียนการสอนในบ้านเรา คือ เน้นถ่ายถอดเนื้อหา ไม่เน้นพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน
วันที่ 28 พ.ย. 60 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ การศึกษากับอนาคตสังคมไทย มุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม” ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 6 ตึก 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.อาวุธ ธีระเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการศึกษาไทยในมิติทางประวัติศาสตร์ กับหัวข้อ คนไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษ ว่า เกิดจากบริบทที่เราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน หากต้องการจะเก่งภาษาอังกฤษต้องมีการฝึกฝนด้วยตนเอง อาจต้องใช้ความพยายามที่ค่อนข้างสูง รวมไปถึงต้นทุนที่สูง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดชนชั้น
“คนมีต้นทุนสูงอาจได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีครูที่ดี แม้ว่าจะมีระบบการศึกษาที่เอื้อต่อประชาชน ระบบการศึกษาเองก็ได้มีการสร้างความแตกต่างทางชนชั้น สังเกตได้ว่าในสมัยก่อนมีการเรียนภาษาอังกฤษเฉพาะในหมู่นายหรือข้าราชการเพื่อใช้ในการทำงาน ซึ่งต่างจากประชาชนทั่วไปไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเพราะไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไร จึงสะท้อนให้เห็นถึงระบบการเรียนปัจจุบันและอนาคตว่า รูปแบบของการศึกษามีการผูกโยงระบบทุนนิยม” ดร.อาวุธ กล่าว และว่า ระบบการศึกษาในทุกวันนี้อยู่ภายใต้ระบบธุรกิจ ภาษาอังกฤษยังคงเป็นความรู้ชั้นสูงและเป็นความต้องของคนชั้นสูงต่อไป ในส่วนของรัฐอาจเข้ามาแทรกแซงในเรื่องของการจัดการระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมทั่วหน้า หรือตัวประชาชนเองอาจอาศัยภาวะของโลกของโลกาภิวัตน์ในการศึกษาหรือเรียนรู้ด้วยตนเองก็ได้
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการศึกษาทางเลือก กล่าวถึงปัญหาของการเรียนการสอนในบ้านเราคือ การเน้นถ่ายถอดเนื้อหาของวิชา แต่ไม่เน้นการพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน โดยคิดว่า เมื่อรู้เนื้อหาวิชาแล้ว ผู้เรียนจะคิดต่อได้เอง แต่ที่ผ่านมาพบว่า ไม่ค่อยเป็นจริง ในทางตรงกันข้าม ด้วยระบบ IT ในปัจจุบัน หากผู้เรียนมีกระบวนการคิดที่ถูกต้องแล้ว การเข้าถึงและการถ่ายถอดเนื้อหาวิชาที่ผู้เรียนสนใจเป็นเรื่องง่ายดายมาก
ขณะที่เด็กชายแดนไท สุขกำเนิด ผู้เรียนในระบบการศึกษาทางเลือก กล่าวถึงระบบการศึกษาทางเลือกว่า การเรียนในระบบแบบนี้ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน มีเวลาว่างพอที่จะค้นหาเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างลึกซึ้ง สามารถทำอะไรก็ได้เวลาใดก็ได้ สามารถจัดการเวลาของตัวในแบบที่ตัวเองต้องการ ไม่จำกัดกรอบทางความคิดและเวลา และลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเทอม เพิ่มรายได้จากการทำงาน
ส่วน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education) กล่าวถึงการศึกษาในด้านของชุมชนและสังคม ว่า ในแต่ละปีของการศึกษามีนักเรียน 45 คนจาก 100 คน ไม่ได้รับการศึกษาต่อ การศึกษาที่อยู่ในรูปแบบการแข่งขันจึงทิ้งเด็กจำนวนหนึ่งไว้ ซึ่งเด็กจำนวนนี้ก็ยังคงอยู่ในสังคม แต่อาจเป็นสังคมที่ไม่ดีเท่าที่ควร และวันใดวันหนึ่งเด็กเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมที่ไม่ควรต่อสังคม เพราะฉะนั้นหากเราไม่คิดถึงสังคมที่ดูแลกัน เราไม่เชื่อเรื่องการศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้สังคมดีขึ้น หากเรายังคงเชื่อแค่การศึกษาเป็นเรื่องของใครของมัน อุดหนุนแค่เด็กบางกลุ่ม สังคมจะน่าเป็นห่วงมาก การศึกษาไม่ใช้เป็นแค่ภาพสะท้อนสังคมแต่การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคม