คนที่ใช่แบบไหนในสายงาน ‘เอเยนซี-โปรดักชั่น เฮ้าส์’ ที่องค์กรต้องการ?
ถอดบทเรียนประสบการณ์รับสมัครคนทำงาน สายงาน ‘เอเยนซี-โปรดักชั่น เฮ้าส์’ แบบไหนที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องการ เมื่อตอบรับยุคสื่อใหม่ที่กำลังเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็ว
ถึงเวลาแล้วที่คนต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากันกับความเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคดิจิทัลปัจจุบัน ทำให้เจ้าของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนหลายแห่งต้องเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด แล้วคนในลักษณะใดที่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องการ?
มีคำตอบจากเวทีสัมมนาวิชาการ ‘Change to Shine:สื่อเปลี่ยน คนต้องปรับ’ การเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ณ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์
‘โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ’ ประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเอเยนซีโฆษณา บอกว่าในแต่ละปีบริษัทเปิดรับสมัครคนเข้าทำงานจำนวนมาก อาจเป็นเพราะบริษัทตั้งอยู่ในกลางสยาม ซึ่งทุกครั้งการพิจารณาจะไม่สนใจหน่วยกิต แต่จะสนใจหน่วยเก่ง โดยพิจารณาจากทักษะความสามารถ ต้องทำให้เห็นว่า คุณอยากทำอะไร และบริษัทยินดีสนับสนุนให้พนักงานรุ่นใหม่ทำผิดบ่อย ๆ และลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความแม่นยำ
“ทุกคนเข้ามาจะไม่กล้าแสดงสิ่งที่อยากทำ เพราะกลัวเจ้านายจะหาว่าไม่รู้เรื่อง ดังนั้น ทุกครั้งที่รับพนักงานใหม่ บริษัทจะพยายามหาต่อมคันให้เจอ แต่ถ้าเข้ามาแล้วนิ่ง ๆ ลำบาก และต้องปรับตัวเข้ากับองค์กรให้ได้ด้วย” ประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ฯ กล่าว
ด้าน ‘วรปรียา อู่เจริญ’ ผู้แทนจากบริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) อีกหนึ่งบริษัทเอเยนซี กล่าวว่า บริษัทเอเยนซีเป็นความใฝ่ฝันของหลายคนอยากเข้ามาทำงาน เพราะจะได้แต่งตัวอิสระ แต่งหน้าจัด ซึ่งสมัยก่อนจะเข้ามาทำงานได้ต้องมีคนรู้จักชักชวนเข้ามา อย่างไรก็ตาม ยุคปัจจุบันจะต้องมีความรอบรู้ในด้านใดด้านหนึ่ง และมีความอยากเรียนรู้ ความอยากทำ ความอยากทุ่มเท และความอยากสร้างสรรค์ และนำเสนอออกมาให้เห็น
ส่วนเกรดเฉลี่ยและสถาบันที่จบการศึกษาสำคัญหรือไม่ เธอตอบทันทีว่า ขึ้นอยู่กับเรียนจบด้านใดมา เช่น เรียนเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ แต่ต้องการทำงานด้านโฆษณามาก ถึงขนาดขอฝึกงานโดยไม่รับค่าตอบแทน ต้องโชว์ความสามารถให้เห็น แต่ไม่ใช่มาสมัครทำงาน แล้วถามเรื่องเงินเดือนเป็นอันดับแรก ทั้งที่ยังไม่ได้โชว์ผลงาน ฉะนั้นเกณฑ์ในการคัดเลือกจึงอยู่ที่ความอยากและแสดงออกมาให้บริษัทเห็นให้ได้
นอกเหนือจากความอยากและการนำเสนอความอยากออกมาให้เห็นแล้ว การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะถูกนำมาพิจารณาคนเข้าทำงาน ‘นนท์วัฒน์ เขคม’ บริษัท โธธ โซเซียล จำกัด ผู้ให้บริการจัดการข้อมูลออนไลน์ครบวงจร ระบุว่า เมื่อสถานการณ์สื่อเปลี่ยนแปลงไป การใช้ประสบการณ์จากคนคนเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ฉะนั้นจะไปสู่จุดที่ก้าวหน้ากว่าคนอื่นได้ ต้องทำงานร่วมกัน พูดคุยกัน ซึ่งเด็กจบใหม่ หากนำเสนอได้ว่า มีวิธีทำงานเป็นกลุ่มอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ในสถานการณ์หนึ่ง จะกลายเป็นที่ต้องการทันที
“คนทำกิจกรรมเยอะ จะสามารถบอกได้ว่า คุณอยู่ส่วนไหนของกิจกรรม อาจมีบ้างที่เกรดเฉลี่ยมีผลต่อการพิจารณา แต่ไม่เท่ากับกิจกรรมที่เคยทำมา ซึ่งย่อมบอกว่า พวกเขาผ่านชีวิตมาอย่างไร และทำงานเป็นทีมได้หรือไม่” นนท์วัฒน์ กล่าว
เช่นเดียวกับ ‘วีรยุทธ ล้อทองพานิชย์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิ้งค์ วิ้งค์ โปรดักชั่น จำกัด กล่าวว่า งานโปรดักชั่น เฮ้าส์ เวลารับคนเข้าทำงาน จะรับคนที่เคยฝึกงานกับบริษัทมาก่อน คนไหนมีศักยภาพจะทาบทามไว้ โดยไม่สนใจว่าจะจบจากสถาบันใด และมีเกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ และเป็นไปได้จะเลือกเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน เพราะเด็กกลุ่มนี้ขยี้โอกาสได้มากที่สุด โดยเฉพาะเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ เรียกว่ามีโอกาสทำครั้งเดียว จะทำสุดชีวิต ทั้งนี้ จะต้องนิสัยดี และผลงานดีด้วย ถ้านิสัยดี แต่ผลงานไม่ดี ก็ไม่ได้
“ล่าสุด มีเด็กฝึกงานคนหนึ่ง มาฝึกงานถามหาโต๊ะทำงาน ผมยังไม่มีเลย แค่เขารับเข้าฝึกงานก็บุญแล้ว” วีรยุทธ กล่าว และว่า ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ต้องการเด็กพร่ำบ่น วิธีการพิจารณาคนเข้าทำงานในสายงานโปรดักชั่น เฮ้าส์ จึงดูจากการฝึกงานเป็นหลัก
เเล้วคุณล่ะ...มีคุณสมบัติที่ใช่ตรงตามที่องค์กรยุคใหม่ต้องการหรือไม่!