2 มาตรฐาน กอ.รมน.หนุนชุมนุมเชียร์ถ่านหิน ชาวบ้านค้านโดนสั่งผิดกม.
นักวิชาการ ชี้รัฐ 2มาตรฐาน หลังสั่งห้ามชาวบ้านเทพาเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผิดพ.ร.บ.ชุมนุม แต่กอ.รมน.กลับหนุนอีกฝั่งได้ ชาวบ้านวอนนายกฯเห็นใจเลิกโครงการฯ
วันที่ 27 พ.ย.60 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranew.org รายงานถึงกรณีการเดินคัดค้านแผนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยล่าสุดมีประกาศจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แจ้งกลับเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังมีการยื่นขอชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเทพา โดยทางตำรวจวินิจฉัยว่า การเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาครั้งนี้ ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ขอให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ
ขณะที่ล่าสุด มีรายงานว่า ทาง กอ.รมน. ภาค4ส่วนหน้า มีหนังสือแจ้งสื่อมวลชนให้ไปทำข่าวการชุมนุมสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ ที่ว่าการอำเภอเทพา
ด้านกลุ่มชาวบ้านเทพาซึ่งเดินเท้ามาจากอ.เทพาเพื่อจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในโอกาส การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ โดยทางกลุ่มชาวบ้าน กล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่า พวกเราคิดว่าการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินโครงการจะเข้าใจและยึดต่อสัจธรรมความดีงาม จริยธรรมที่ถูกต้อง จะรับฟังและล้มเลิกโครงการ เห็นแก่ประชาชนมากกว่านายทุน และคนมีตำแหน่งบางกลุ่มที่คอยโกหกมดเท็จรอบตัวของท่านนายกฯ ด้วยการสร้างตัวละคร สร้างสถานการณ์ขึ้นมาที่ทำอยู่ในขณะนี้
“พวกเราเจ็บปวดมากที่ต้องมาต่อสู้กับรั้วเขียวของชาติไม่เฉพาะนายทุน และพวกเขาได้ประกาศการเป็นศัตรูต่อประชาชนอย่างชัดเจน พวกเราหวังในพลังของพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง เหมือนครั้งหนึ่งที่พวกท่านได้ร่วมพลังเปลี่ยนผู้นำประเทศใน 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเคารพ พวกเราไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝง ไม่มีความแอบแฝงในตำแหน่ง เกียรติยศ เงินตรา แต่พวกเรามีเจตนาปกป้องทรัพยากรของชาติให้คงอยู่เพื่อลูกหลานเท่านั้น”
ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การต่อสู้ของชาวเทพาก็คือการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในวิถีชีวิตและสิทธิชุมชน ท่ามกลางการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐที่รวมหัวกันผลักดันโครงการนี้
“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่หน่วยงานรัฐรวมหัวกันละเมิดสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ครม.ไฟเขียวให้ประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว และว่า เมื่อหน่วยงานรัฐไม่ให้ความยุติธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และยังสร้างความทุกข์เชิงสังคมซึ่งเป็นความทุกข์ที่เรียกว่า "ความเจ็บช้ำน้ำใจ" จากการไม่ได้รับความยุติธรรมที่เกิดจากโครงสร้างของราชการ สังคมก็ต้องช่วยชาวเทพา
ขอบคุณภาพ Supat Hasuwannakit และ Wanchai Phutthong