เวทีการศึกษาทางเลือก แนะเลิกตัวชี้วัด “เอเน็ต-โอเน็ต-เอ็นทรานซ์”
เวทีพลังพลเมืองชี้อุปสรรคการศึกษาไทยคือตัวชี้วัดที่ไร้มาตรฐานทั้ง เอเน็ต-โอเน็ต-เอ็นทรานซ์ เสนอแก้กฏหมายเปิดกว้างให้การศึกษาทางเลือก ผลักดันปรับหลักสูตรแกนกลางให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาเองได้
คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย รายงานว่าในงานสมัชชาปฎิรูประดับชาติ ที่ไบเทคบางนา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.55 มีการเสวนา “พลังพลเมืองปฎิรูปการศึกษา” โดยจากข้อมูลของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย พบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกกว่า 209 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแบ่งตามภูมิภาค คือ ภาคเหนือ 58 แห่ง ภาคกลาง 50 แห่ง ภาคอีสาน 51 แห่ง และภาคใต้ 50 แห่ง โดยมีการจัดแบ่งการศึกษาทางเลือกออกเป็น 7 ฐานการเรียนรู้แตกต่างกันไป
1)การศึกษาทางเลือกจัดโดยครอบครัว 2)การศึกษาทางเลือกที่อิงระบบรัฐ 3)การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา 4)การศึกษาทางเลือกศาสนาและวิถีปฏิบัติธรรม 5)การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ 6)การศึกษาทางเลือกของการเรียนรู้ 7)การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ ซึ่งแม้กระบวนการแตกต่างกัน แต่ทิศทางเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนามนุษย์ทั้งกาย จิตใจ สู่การเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
นางรัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่อดีตเคยเป็นครูสอนในระบบมากว่า 11 ปี กล่าวว่าโรงเรียนในหมู่บ้านเด็กจะเน้นการมองหาความสุขของการศึกษา ซึ่งการลุกขึ้นมาจัดการการศึกษาก็เพราะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในไทยที่มีความหลายหลายทางวัฒนธรรม ต้องการการศึกษาที่เหมาะกับผู้เรียน และผู้เรียนควรมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนด ดังนั้นจึงต้องมาดูระบบการศึกษาในจินตนาการใหม่ ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ระบุว่าที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการศึกษาในระบบของการเรียนในห้อง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ ทำให้เยาวชนไม่เกิดทักษะประสบการณ์การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน วิกฤตินี้กำลังขยายและหากผลผลิตเป็นเช่นนี้ก็จะนำไปสู่ความอ่อนแอ และสามารถเดาอนาคตในสังคมได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการการศึกษาและรวมตัวเป็นสภาการศึกษาทางเลือก
“ที่ผ่านมามีการทำวิจัยอุปสรรคของการศึกษาทางเลือกและข้อเสนอ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การวิจัยเรื่องหลักสูตรและการเทียบโอนของการศึกษาทางเลือก โดยปัจจุบันระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญกับกำแพง 3 ชั้น ผี 3 ตัว กำแพง 3 ชั้นก็คือปัญหากฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ส่วนผี 3 ตัวคือการสอบเอเน็ต โอเน็ต เอ็นทรานซ์ ที่ไร้มาตรฐาน ทำให้การประเมินผลสอบที่ผ่านมาตกกันทั้งประเทศ จึงไม่น่าจะนำมาเป็นตัวชี้วัดได้”
ดังนั้นสภาการศึกษาทางเลือก จึงต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง 1.พัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดการเท่าทัน มีจิตสาธารณะ 2.สื่อสารกับสังคมให้กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ 3.การขับเคลื่อนนโยบาย 3 ข้อ คือ 1)ผลักดันให้เกิดการปรับหลักสูตรแกนกลางสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมาจัดการเรียนของชุมชนและองค์กรเอกชน 2)การศึกษาทางเลือกจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 3)การพัฒนากฎหมายลูก
ด้านนายชาตรี เนาวธีรนนท์ นายกสมาคมบ้านเรียนไทย และในฐานะพ่อที่จัดการศึกษาให้ลูกตัวเอง มาจนอายุ 13 ปี กล่าวว่าการจัดการศึกษาโดยโฮมสคูลเป็นการปฏิเสธกฎเหล็กที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางไว้ว่าต้องเข้าระบบ ลูกก็มีความสุขกับการเรียนแบบโฮมสคูล พ่อแม่ก็มีความสุข เพราะหากไปโรงเรียนก็ไม่รู้จะต้องเจอกับอะไร
“นี่เป็นความรู้สึกของพ่ออีกคนหนึ่งที่มีต่อระบบการศึกษาไทย ประชาชนสามารถจัดการศึกษาด้วยตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ แม้วันนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่การเข้าระบบคงไม่มีอะไรดีกว่าการไม่เข้าระบบ”.