ธีรยุทธ บุญมี: เกษตรกรรมจะเป็น4.0 ได้ไหม? ถ้ายังติดที่ 2.0
“...การพัฒนาเกษตรกรรมบ้านเราไม่ได้รุดหน้าในเชิงการใช้เทคโนโลยี ปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพของคน รูปแบบการผลิต การเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของเศรษฐกิจ 2.0 วันนี้ยังเป็นภาพนี้ สะท้อนว่าเรายังมาไกลไม่มากนัก...”
ในปาฐกฏาพิเศษของศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ในงานเสวนา “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรกรรมยั่งยืน” จัดโดย โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับ เครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.60 ที่ผ่านมา
ศ.ธีรยุทธ มีมุมมองถึงประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรพอเพียง ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการมองพัฒนาการทางความคิดผ่านการ มองวิถีพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม และนโยบายไทยแลนด์ 4.0
อ.ธียุทธ บอกว่า ประเด็นทั้งหมดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ ในแง่มุมของการพัฒนาเกษตรกรรมในบ้านเราไปด้วยกัน หัวใจสำคัญคือว่า ต่อไปนี้การอยู่ในสังคมโลก ยุคปัจจุบันต้องเข้าใจทั้งตัวเราและโลกไปพร้อมๆ กัน และต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย
เขามองเห็นถึงพัฒนาการของเกษตรกรรมบ้านเราว่าค่อนข้างชัดเจนวันนี้เรายังเป็นเพียง2.0 ย้อนกลับไปตอน1.0 เริ่มจากสมัยเราเริ่มเปิดประตูประเทศให้ตะวันตกเข้า ซึ่งคือสมัยรัชกาลที่4-5 สมัยนั้นเศรษฐกิจเรากำลังเริ่มต้น ขายทรัพยากรธรรมชาติเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจประเทศ มีข้าว ไม้สัก ดีบุก ยางพารา เศรษฐกิจเราอยู่ในสภาพนี้มา 2500 เป็นเวลา 100 ปีที่เราอยู่ใน1.0
ต่อมาเราพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลักษณะเด่นชัดในทางเกษตรคือพืชเชิงเดี่ยว เน้น มันสำปะหลัง ข้าวโพด
“คนรุ่นผม จำได้สมัยเรานั่นรถเมล์ตามบ้านนอกจะเหม็นลานมันสำปะหลัง บ่อที่เอาปอไปแช่ก็เหม็น ซึ่งเป็นทุกข์คนละแบบ”
ในยุค2.0 ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า ได้เกิดอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น สิ่งทอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อยๆ เติบโตมาเรื่อยๆ ไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นแบบนี้ดำรงเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นภาพหลักของอุตสาหกรรมบ้านเราในวันนี้ จะเป็น 3.0 มีไม่กี่ภาคส่วนเท่านั้น
อุตสาหกรรมแบบ 2.0 สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวนา ที่ ศ.ธีรยุทธ อธิบายคือ ชาวนาบ้านเรา มีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีค่อนข้างไว มีเรื่องพันธุกรรม มีการเลือกสายพันธุ์ มีการใช้เครื่องมือเครื่องหมาย เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วย ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของเศรษฐกิจ 2.0 วันนี้ยังเป็นภาพนี้ สะท้อนว่าเรายังมาไกลไม่มากนัก
“เราไม่เคยเห็นภาพไร่นาบ้านเราที่ใช้เครื่องมือใหญ่ๆ เหมือนในยุโรป อเมริกา ภาพที่เห็นชินตาคือ เครื่องไถนา อุปกรณ์ทำนา สภาพความเป็นอยู่ แบบเดิมๆ เกษตรกรรม 4.0 จะรู้สึกสะดุดในความคิดและภาพ ยังไปไม่ถึง”
ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรม อาจารย์อธิบายว่า วันนี้เราพยายามคิดว่าจะกระโดดเป็นเสือตัวที่สี่ จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ก็เกิดความผันผวน เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาพความฝันไม่บรรลุ กลายเป็นเสือป่วยตัวที่4 และภาพนั้นไม่ได้จางหายไปจากสังคม
“หลังจากนั้นเราก็พบว่า การพัฒนาเกษตรกรรมบ้านเราไม่ได้มีความรุดหน้าในเชิงการใช้เทคโนโลยี ปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพของคน รูปแบบการผลิต การเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ขณะที่ทุกประเทศที่เป็นพัฒนาทางเกษตรที่ดี การรวมตัวของเป็นสหกรณ์ เป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ หมายความว่า การจะก้าวต่อไปในเศรษฐกิจ เกษตรกรรมขั้นต่างๆ ต้องต่อเนื่องทั้งเทคโนโลยี ทั้งความรู้ คุณภาพของคน มีปรัชญาที่ถูกต้อง”
ศ.ธีรยุทธ วิเคราะห์ถึงสองกระแสหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในตอนนั้น ได้แก่
1. ประชานิยม คือแทนที่เราจะยกคุณภาพของเกษตรกร เรากลับใช้การทุ่มเทเงินออกไปแจกจ่ายบ้าง ให้ชนบทบ้าง ขณะที่การพัฒนาคุณภาพของคน การรวมกลุ่มของคนไม่ได้เกิด นี่คือเกิดขึ้นตั้งแต่ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่น่าสังเกตว่า แนวนโยบายนี้ยังคงสืบเนื่องต่อมาถึงยุคนี้ หมายความว่าสิ่งที่จะเชื่อมต่อ 2.0 ไป 4.0 ไม่เกิดขึ้นมา ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเราจะก้าวมาในทางอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
2. แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล เป็นสิ่งที่มาถูกจังหวะพอดีด้วย คือการให้เราหันมาสนใจ มรดกพื้นฐานของเรา การส่งเสริมการปลูกผสมผสาน เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช สมุนไพร ราคาของสิ่งเหล่านี้ก็สูงขึ้นพอดี ชาวนาไปปฏิบัติตามนี้ ฐานะก็ดีขึ้น เป็นวิสัยทันศ์ที่ถูกต้อง ถ้าใครมาในแนวทางนี้รายได้ค่อนข้างดี
มองปัจจุบันวันนี้ ศ.ธีรยุทธ ยืนยันว่าหนทางที่หลังจากเราอยู่กับสิงห์คะนองนา เรายังไม่ก้าวหน้าใน 3.0 เลย เรายังมีต้องการการแก้ไข ซึ่งคิดว่า ถ้าเปรียบเทียบนโยบายประชานิยม กับเศรษฐกิจพอเพียงต่างกันมาก ในการที่จะไปสู่จุดของประชาชน ฐานความมั่นคงของประเทศต่างกันพอสมควร เพราะฉะนั้นเราไม่เห็นกระบวนการอันนี้ พอเกิดรัฐบาล คสช.พร้อมกับทีมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล จนมาถึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เกิดเศรษฐกิจ 4.0 ขึ้น (อ่านประกอบ: ‘ธีรยุทธ’ วิพากษ์นโยบาย4.0 คิดแบบอวิชา เขียนกม.เอื้อนายทุนเขตเศรษฐกิจ )
ศ.ธียุทธทิ้งท้ายในสองประเด็นต่อเกษตรในปัจจุบันคือ เรื่องความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งอาจารย์มองว่าบ้านเรายังไม่น่าห่วงเท่าไร ยังกินใช้ได้ดี สามารถส่งออกได้ ต้องประคับประคอง ดูให้ดีน่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
ประเด็นที่สอง คือการพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม การจะบรรลุไปถึงจุดนั้นเราจะทำอย่างไร วันนี้ทั้งโลกให้ราคาของที่มีคุณภาพปลอดภัย เพราะฉะนั้นของที่จะมีคุณภาพ สุขภาพอนามัย ความเด่นเรื่องคุณค่าเฉพาะของผลิตภันณฑ์นั้นๆ อาศัยใบบุญของตัวเอง อาศัยความพยายามที่จะใช้โอกาสของการมีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ มีจิตใจที่ดีงาม
“ผมคิดว่าข้าว ผักผลไม้ เรามีชื่อเสียงค่อนข้างมาก ต้องเร่งทำ เร่งสร้าง ทั้งเรื่องราว ทั้งข้อมูลให้เกิดขึ้น การบรรลุสู่พรีเมี่ยมไม่ใช่เรื่องเกิดได้ง่ายๆ ต้องใช้ความพยายามหลายส่วนมาก การนำปรัญชาที่ถูกต้องมาใช้พัฒนาเราจะก้าวไปได้จริงๆ”