ชาวปากช่อง ร้อง14ปี สู้มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช รัฐเมินสิทธิปชช.ไม่เปิดโอกาสมีส่วนร่วม
ชาวบ้านปากช่อง ร้อง 14 ปี สู้มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช รัฐไม่เคยรับฟังชาวบ้าน ขณะที่การประเมินราคาที่ดินเพื่อเวนคืนมีปัญหา ต่ำกว่าราคาตลาด ถูกข่มขู่ บางรายหมดเนื้อหมดตัว ย้ำไม่ได้ค้านความเจริญ แต่ขอส่วนร่วมตัดสินใจด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในงาน เสวนา ‘หยุด! เขื่อนยักษ์มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ’ จัดโดย TCIJ ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ที่ โรงแรมวิก 3 กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้นายณรงค์ เหล็งหวาน ตัวแทนชาวบ้านอำเภอปากช่อง หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา ได้เผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันของชาวบ้านในพื้นที่
นายณรงค์ กล่าวว่า วันนี้พวกเราถูกตราหน้าว่าคัดค้านโครงการฯ ทั้งที่ความจริงเราไม่ได้คัดค้าน เราสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพื่อความเจริญ ความก้าวหน้า เพียงแต่ว่า เราขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจความเจริญ อย่าเอาความเจริญมาประหัดประหารชาวบ้าน
"เมื่อรู้ว่าจะมีโครงการนี้ตัดผ่านบ้านเราในช่วงปี2546-2547 เราพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมลงความเห็นต่างๆ แทรกตัวเข้าไป ทั้งๆ ที่เขาพยายามปกปิด
เราทราบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ปากช่อง ถูกสร้างในลักษณะ ถนนยกสูงทึบและตัน ความกว้าง 55 เมตรและสูงตั้ง 2-12 เมตร ขณะที่กำแพงเมืองจีนกว้างเพียง 5 เมตรสูง7 เมตร หลายคนบอกว่าคำพูดเราเลื่อนลอย แต่ปัจจุบันเกิดภาพขึ้นมาแล้ว” นายณรงค์ กล่าว และเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพจริงที่กิโลเมตรที่ 105-107 นี่คือกำแพงยักษ์เกิดขึ้นจริงสูง 6 ม. กว้าง 50 ม. (ตามรูปประกอบ 1และ 2 ) มีทางระบายน้ำเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 เมตรเท่านั้น ที่เรากล่าวมาตลอดว่าหากสร้างจะมีปัญหา มีน้ำขัง เมื่อก่อนไม่เคยเกิด นี่ขนาดฝนหยุดมาตั้งนาน น้ำยังขัง ลักษณะกำแพงที่เกิดขึ้น เทียบกับความสูงดูจากขนาดรถสิบล้อ(ภาพประกอบ 3และ 4 )
(ภาพประกอบที่ 1)
(ภาพประกอบ 2 )
(ภาพประกอบ 3 )
(ภาพประกอบ 4)
นายณรงค์ กล่าวถึงแนวถนนขวางแนวภูเขา (ภาพประกอบ 5) ซึ่งโบราณบอกว่าห้ามเอามวลน้ำมารวมกัน วันนี้ถนนมากั้น แน่นอนว่าน้ำป่าจะมาท่วมตรงนี้ พวกเราไม่อยากรับถุงยังชีพ
(ภาพประกอบ 5 )
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีการออกพระราชกฤษฏีกาได้กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยเส้นทางดังกล่าวผ่านอำเภอปากช่องในท้องที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.กลางดง ต.หนองน้ำแดง ต.พญาเย็น ต.หนองสาหร่าย และต.ขนงพระ
นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า เรื่องเวนคืนในพื้นที่ปากช่องทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 563 แปลง ตีคร่าวๆ ประมาณ500 ครอบครัว และที่ดินในแนวที่ชิดมอเตอร์เวย์ราวๆ 800 แปลง ปัญหาชาวบ้านหลายส่วนที่ออกมา พอถูกเจ้าหน้าที่กดดันมากๆ พร้อมทั้งโดนข่มขู่สารพัด ถึงกลับยกให้ฟรีเลย เพราะว่าราคาที่กรมทางหลวงตีมาติดดินจนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้ เช่นกรณีหนึ่งเขาซื้อมาตารางวา 4พัน แต่พอเวนคืนขายได้แค่ 380 บาท เท่านั้นเอง เงินที่จะจ่ายค่าที่ดินจำยอมรับ จะไปซื้อที่ดินตรงไหน ไม่สามารถปลูกบ้านได้ ขณะเดียว ถูกบังคับให้ไปรับเงิน ทำไปทำมา เงินที่ได้จะเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะตีราคาต่ำกว่าตลาดมาก
“โซนนี้ทั้งโซนคนปากช่องเรียกว่า แผ่นดินทอง มีแปลงสวย ราคาที่ที่ดินเส้นนี้ไร่ละ 20 ล้านบาทขึ้นไป ปรากฏว่ากรมทางหลวงประเมินราคา 563 แปลง มีราคาถึง2ล้านบาท 1แปลง ที่เหลือุแปลง ราคาล้านเศษๆ ทั้งหมดที่เหลือต่ำกว่าล้านหมดเลย ถามว่า อ.ปากช่อง ไปหาพื้นที่ต่ำกว่าล้านเป็นไปไม่ได้” นายณรงค์ กล่าว และว่า “เราเริ่มร้องเรียนตั้งแต่2546-47 ที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม แต่เรื่องเงียบ หลังจากนั้นที่ผ่านมาก็เริ่มมีรูปธรรมขึ้นมา เราได้รับการช่วยเหลือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้คำปรึกษาหลายๆ ด้าน ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งวันนี้เรื่องยังไม่จบ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ลงพื้นที่ได้ ได้ข้อสรุปเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ ว่าโครงการมอเตอร์เวย์ฯนี้ ผิดหลักสิทธิมนุษยชน”
นอกจากนี้ นายณรงค์ เผยอีกว่า รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ในที่ช่วง กม.107-113 ของโครงการ ซึ่งมีกิจกรรมเยอะมาก เช่น จุดให้เป็นจุดบริการทางหลวง( Service Area ) มีการละเว้นไม่มีการทำ EIA ในพื้นที่ช่วงนี้ ต.หนองน้ำแดง ต.ขนงพระ แต่ที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน เราปล่อยให้ผ่านไปได้ยังไง แถมเมื่อถามถึงแบบอาคาร ทางผู้รับผิดชอบให้ข้อมูลว่ายังไม่มี ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านผู้ได้ผลกระทบโดยตรงทั้งนั้น ตลอดเวลา 14 ปีที่ต่อสู้มา เหมือนทางรัฐไม่เคยฟังข้อเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่เลย ข้อเรียกร้องชาวปากช่องตั้งแต่ต้น ว่าขอให้ปรับแนวเส้นทางบนถนนมิตรภาพ 2 ให้เป็น ทางยกระดับ ตลอดแนวเพราะศักยภาพถนนเส้นนั้นมีพร้อม เป็นเส้นทางที่ผ่านเขตอำเภอปากช่อง หรือเวนคืนที่ราชพัสดุ 29,000 กว่าไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่ายแทน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการสัตว์ทหารบก แต่ทางกรมทางหลวง เจ้าของโครงการ ยังคงเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามรายงานผลการตรวจสอบที่มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรังปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง จากทางคณะกรรมการสิทธิฯถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าทาง คณะกรรมการสิทธิฯพิจารณาแล้วเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯเป็นไปไม่ทั่วถึง การจัดทำรายงานการวิเคราะห์EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นเวลานานกว่า 10 ปี บางส่วนไม่ครบสมบูรณ์ ทางคณะกรรมการสิทธิฯ จึงมีมติให้มีมายังคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 247(1)และ(3) โดยเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบดังนี้
1.คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ว่าด้วยเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้รายงานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคชก. มีอายุไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
2.คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ให้สอดคล้องกับหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560