ซาอุฯ ศึกชิงบัลลังก์กับการปราบคอร์รัปชั่น เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่วิสัยทัศน์2030
“...ข้ออ้างเรื่องคอร์รัปชั่นของการจับกุม การกักขังคนในราชวงค์มากมาย เพื่อทำให้ซาอุฯในสายตานักลงทุนต่างประเทศ เป็นซาอุฯ ที่กำลังเริ่มขึ้นใหม่ กำลังฉายภาพว่านับจากนี้จะไม่มีคอร์รัปชั่นเเล้ว วิสัยทัศน์ 2030 ต้องการสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน การที่บอกว่าเราจะจัดการคอร์รัปชั่นในประเทศ...”
(ภาพจาก http://csweb.brookings.edu/)
จากเหตุการณ์จับสมาชิกราชวงค์ระดับสูงของซาอุดิอาระเบีย โดยมงกุฏราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน(Mohummad Bin Salman) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นทายาทอันดับหนึ่งในการสืบทอดอำนาจ การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นเป็นศึกแย่งชิงราชบัลลังก์ หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม เศรษฐกิจของประเทศซาอุฯ
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นนี้ในเวทีเสวนา “ซาอุ Game of Thrones กับตะวันออกกลาง Winds of Change” ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.ศราวุฒิ มองว่า วิสัยทัศน์ หรือ Vision 2030 ของซาอุฯ ที่ประกาศไปเมื่อปีที่เเล้วมีความสำคัญมาก ตรงนั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เปลี่ยนภาพลักษณ์ (Look) ของซาอุฯ ไป โดยในแผนปฏิรูปนั้น กำลังพยายามที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมที่พึ่งพิงน้ำมัน ซาอุฯ วันนี้ต้องมองอนาคตว่า จะไปพึ่งพิงน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้ นับตั้งแต่ปี 2014 ราคาน้ำมันตกต่ำลงมาก ปัจจุบันราคาน้ำมันขึ้นไปครึ่งเดียวจากที่เคยสูงก่อนปี 2014
สิ่งนี้ไม่ได้กระทบแค่ซาอุฯ แต่กระทบกับประเทศที่พึ่งพิงน้ำมันทั้งหมด
“ซาอุฯต้องเปลี่ยน ต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น เราคงจำได้ว่า ข้ออ้างอย่างหนึ่งของการจับกุม การกักขังของเจ้าชายซัลมาลที่ออกมาล่าสุดบอกว่า ต้องจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะส่วนหนึ่งข้ออ้างนี้ ทำให้ซาอุฯในสายตานักลงทุนต่างประเทศ เป็นซาอุฯที่กำลังเริ่มขึ้นใหม่ จะไม่เป็นแบบเดิมส่วนหนึ่งที่ MBS(Mohummad Bin Salman) กำลังฉายภาพว่านับจากนี้จะไม่มีคอร์รัปชั่นเเล้ว วิสัยทัศน์ 2030 ต้องการสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน การที่บอกว่าเราจะจัดการคอร์รัปชั่นในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อตอบโจทย์นี้”
แต่วิสัยทัศน์ที่น่านสนใจ ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า ในช่วงแรกที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน นักวิเคราะห์ต่างมองว่า อันตราย เพราะไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือเรื่องของสังคมด้วย การอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ เป็นแรงงานได้ ก็เพื่อขยายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ปรับเปลี่ยน เช่น การลดบทบาทตำรวจศาสนาลง ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นเพียงช่วงการเปลี่ยนผ่านในช่วงแรกที่นักวิเคราะห์มมองว่า อันตราย อันเนื่องมาจากไม่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งมาในปี 1929- 1930 ซาอุฯ พัฒนามาตลอดในทางวัตถุ เรื่องของสังคมยังคงดำรงแบบเดิม
"วันนี้ซาอุฯบอกจะเปลี่ยน ที่นี้ปัญหาไม่ใช่แรงท้าทายจากผู้นำอนุรักษ์นิยม แต่ยังเป็นลักษณะความท้าทายจากนักการศาสนาที่มีอิทธิพลด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ปราบคอร์รัปชั่น เมื่อพูดถึงจุดนี้เราต้องพูดการเมืองด้วย ธรรมเนียมปฏิบัติของซาอุฯ นับตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกที่ประสงค์ส่งต่ออำนาจให้กับลูกชาย ซึ่งคือกษัตริย์ไฟซอล แต่ไปๆ มาๆ เกิดการแย่งชิง ระบบกษัตริย์ของซาอุหรือราชวงค์อัล-ซาอูด มีปัญหา มีการช่วงชิงทางอำนาจมาตลอด เมื่อเกิดปัญหาตั้งแรก ทางราชวงค์เลยคิดหากลไกอะไรบางอย่างไม่ให้เกิดการช่วงชิง หมายถึงต้องยืนด้วยกัน ต้องล้มด้วยกัน จึงมีกลไกออกมา ผ่านวัฒนธรรมชนเผ่าของเรา”
(ผังราชวงค์อัล-ซาอูด ภาพจาก https://assets.bwbx.io)
กลายเป็นว่า หลังจากกษัตริย์องค์หนึ่งสวรรคตต้องมอบให้ผู้อาวุโสในราชวงค์ จนกระทั่งวันนี้กลายเป็นลักษณะการส่งไม้ต่อแบบแนวขวาง คือจากพี่สู่น้อง
แต่ว่าถึงกระนั้นยังมีปัญหาอยู่ ตอนหลังยิ่งมีปัญหา อันเนื่องจากปฐมกษัตริย์มีภรรยายหลายคน มีลูกเยอะ คนที่เป็นเจ้าชาย และมีอำนาจมีสิทธิครองราชย์มีมากถึงราวๆ 40-50 คน เราจึงเห็นได้ว่า มีลักษณะของการแข่งขันมีมาตลอดเวลา เมื่อคนที่มีสิทธิเป็นกษัตริย์มีมาก กลไกเครื่องมือที่จะระงับไม่เกิดการแย่งชิงอำนาจคือการแบ่งผลัดกันระหว่างตระกูลที่สำคัญ
ดร.ศราวุฒิ วิเคราะห์เพิ่มว่า ตระกูลสำคัญมีสองตระกูลใหญ่ๆ คือตระกูลราชวงค์ซูดัยรี เป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในการเมือง และมีอำนาจต่างๆ มาโดยตลอด คือลูกๆ ลูกของภรรยาปฐมกษัตริย์ และอีกตระกูลคือชนเผ่าที่ไม่ใช่ ซูดัยรี กลุ่มนี้ไม่มีอิทธิมากหนัก แต่มีจำนวนมากกว่าเป็นกลุ่มที่หากไม่เคลียร์ให้ดีจะเกิดปัญหาขึ้น
ตอนหลังนับตั้งแต่กษัตริย์ฟาฮัดถึงกษัตริย์อับดุลเลาะห์ถ้ามกุฎราชกุมารมากจากตระกูลซูดัยรีแล้วได้ขึ้นไปเป็นกษัตริย์ คนต่อมาต้องไม่ใช่เจ้าชายจากซูดัยรี เราจึงเห็นภาพกษัตริย์อับดุลเลาะห์ หรือกษัตริย์ต่อๆ มาระยะหลังแก่มาก เพราะกว่าจะเวียนมาถึงบรรดาพี่น้องต่างๆ ก็เริ่มแก่อายุมากขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนผ่านจะเกิดถี่ขึ้น เนื่องจากบรรดาลูกๆ ในสายตระกูลเริ่มชราลงแล้ว เมื่อเกิดถี่ขึ้นก็จะเกิดลักษณะการสะสมอำนาจในบรรดาชั้นหลาน เพราะฉะนั้นเจ้าชายแต่ละท่านต้องไปรักษาฐานอำนาจในรัฐบาลเพื่อวางตัวเป็นกษัตริย์
แต่พอมาถึง กษัตริย์ซัลมาน(พ่อของ MBS) ต้องการที่จะล้างฐานอำนาจพวกนี้ให้หมด หากดูรายชื่อคนที่ถูกจับ ผู้นำกองทัพก็ยังถูกจับเพราะฉะนั้น เมื่อเกิดลักษณะการเปลี่ยนในลักษณะจากเจนเนอร์เรชั่น(Generation)แรก สู่สองและจะเป็นเจนเนอร์เนชั้่นที่สามจึงถือช่วงที่สำคัญ
แน่นอนการช่วงชิง การกระชับอำนาจ เราจึงเห็น MBS จัดการทุกสิ่งในขณะนี้
(มงกุฏราชกุมารมูฮัมหมัดบินซัลมาน(Mohummad Bin Salman) ภาพจาก https://d3i6fh83elv35t.cloudfront.net)
ดร.ศราวุฒิ ให้มุมมองต่อว่า สิ่งที่วิสัยทัศน์ 2030 ต้องทำให้ได้นั่นคือ บททดสอบไม่ใช่แค่ซาอุฯ แต่คือในระดับโลกด้วย โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอก กรณีช่วงเปลี่ยนผ่านของซาอุฯ ที่สามารถเชื่อมโยงกับปัญหาภายนอก หากดูการเมืองซาอุฯ พูดได้สามแง่คือ
เรื่องแรก คือ ภัยคุกคามจากข้างนอก ซาอุฯ มองว่า ตนเองกำลังเจอสิ่งนี้ ที่ผ่านมาซาอุฯ เผชิญมาโดยตลอด ตอนนั้นมีกาม้าล อับดุลนัซเซอร์ ที่ต้องการโค่นล้มระบบกษัตริย์ ทางการซาอุฯมองว่า นั่นคือภัยคุกคามจากข้างนอกประเทศ พอมาถึงยุคซัดดัม ฮุดเซน ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซัดดัมตอนนั้นมีแผนที่จะบุกเข้าไปซาอุฯ ก็ถือเป็นภัยคุกคามอีกครั้ง แม้กระทั่งการปฏิวัติในอิหร่านก็เช่นกัน เพราะตอนนั้นผู้นำปฏิวัติ อย่างอายาตุลเลาะห์ โคมัยนี่ บอกว่า การดำรงอยู่ของราชวงค์ซาอูดไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม รวมถึงการขยายอิทธิพลของอิหร่านในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นหลังสงครามอิรักปี 2003 มีการเผยแพร่อิทธิพลในอิรัก เลบานอน กลุ่มฮิซซบุลลอฮฺ และในซีเรีย
ในภาวะแบบนี้นักวิเคราะห์มองว่า ลักษณะคล้ายกับ เป็นจันทร์เสี้ยว แม้แต่ปัจจุบันนี้คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ วันนี้เราจึงเห็นบทบาทซาอุฯแตกต่างจากอดีต มองเราย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ มีการอุดหนุนองค์กรการกุศลมากมาย วันนี้กลับไปทำสงครามทิ้งระเบิดในเยเมน เพราะกลัวอำนาจอิทธิพลจากอิหร่านที่จะเข้ามาประชิด
เรื่องที่สอง คือ ต้องการการคุ้มครองจากภายนอก แล้วประเทศที่ให้การคุ้มครองได้ดี คือ สหรัฐอเมริกา จริงๆ ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้มีมานานแล้ว นั่นคือ oil security ความมั่นคงทางน้ำมัน แต่ถึงยุคบารัค โอบาม่า เริ่มมีปัญหากับกษัตริย์อับดุลเลาะห์ เพราะตอนนั้นซาอุฯไม่ต้องการพึ่งพิงสหรัฐฯ มาก ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ครั้งแรกที่ท่านเริ่มรับตำแหน่งท่านไปเยือนรัสเซียเป็นประเทศแรก
พอเปลี่ยนมามายุคตระกูลซูดัยรี ที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ จึงเห็น MBS ซี้มากกับทรัมป์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นความสัมพันธ์มีปัญหาหลายเรื่องเหมือนจะแตกหักกันด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้กลับตัลปัตร กลายเป็นทำงานร่วมกัน เพราะว่าหลังจากที่เจอภัยคุกตคามก็ต้องการการคุ้มครอง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่เราต้องเข้าใจ วันนี้ซาอุฯ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนในสิ่งที่ซาอุฯกำลังเผชิญ
( โดนัลด์ทรัมป์และภริยาในโอกาสเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางการ ภาพจาก https://consortiumnews.com)
เรื่องที่สาม คือ การกดดันจากภายนอกทั้งจากสหรัฐฯ ที่กดดันต้องการให้ซาอุฯเปลี่ยนแปลงประเทศ ระบบการศึกษา องค์กรการกุศล นโยบายภายใน ท้ายที่สุดกลายเป็นภัยคุกคาม ซึ่งดูจากเหตุการณ์ 911 สหรัฐฯพยายามกดดันให้เปลี่ยนแปลง วันนี้เราเห็นซาอุฯขยับเเล้ว ต้องการเป็นอิสลามสายกลาง ซาอุฯต้องการเปิดประเทศ ให้สิทธิกับสตรี นอกจากการกดดันมาจากสหรัฐฯแล้ว ยังมาจากกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียด้วย
“สิ่งสำคัญที่ต้องทบทวนคือ เหตุการณ์อาหรับสปริงที่เกิดขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประชาชนไม่กลัวเผด็จการ นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นการกดดันจากภายนอกที่ซาอุฯ ต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กฎหมายอิสลามที่มองดูน่าจะเป็นมิตรกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เเต่ภาพกลายเป็นคู่ตรงข้าม กลุ่มที่เป็นขบวนการอิสลามวันนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนในกลุ่มประเทศอาหรับ ซาอุฯต้องรับกับเข้าสิ่งเหล่านี้ เราจึงเห็นปราฏกการณ์ในปัจจุบัน” ดร.ศราวุฒิ วิเคราะห์ ซาอุ Game of Thrones กับตะวันออกกลาง Winds of Change ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ...