แกะปม "เจรจา-ปราบยา-ดิสเครดิต" กับวิกฤติความรุนแรงอีกครั้งที่ชายแดนใต้
เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้เมื่อวันสุดท้ายของเดือน มี.ค.2555 แม้กรณีระเบิดในลานจอดรถของอาคารลีการ์เด้นส์พลาซ่ากลางเมืองหาดใหญ่จะยังไม่มีบทสรุปอย่างเป็นทางการร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นการก่อวินาศกรรม แต่กรณีคาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางเมืองยะลาไม่อาจสรุปเป็นเรื่องอื่นได้
รวมถึงเหตุระเบิดในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี พื้นที่นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุร้ายที่ชายแดนใต้ในระยะหลังค่อนข้างสับสนอลหม่าน และหาข้อสรุปแบบ "ฟันธง" ได้ยากว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ เพราะหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยพยายามโยงสถานการณ์ไฟใต้ว่าเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด อิทธิพลเถื่อน น้ำมันเถื่อน และสินค้าหนีภาษีอย่างแยกไม่ออก จนแทบจะกลายเป็น "สูตรสำเร็จ" ในการตอบคำถามสื่อไปแล้ว
ทว่าหากไล่เรียงดูความเคลื่อนไหวทั้งในปีกของรัฐเอง และปีกขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน (ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่ามีอยู่จริง) จะพบร่องรอยที่อาจพอคลำหาสาเหตุของเหตุร้ายเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็น "วันโลกาวินาศ" อีกวันหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้...ไม่มากก็น้อย
ความเคลื่อนไหวที่ว่านั้น พอสรุปได้ดังนี้
1.มีการเปิดเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรืออ้างว่ามีส่วนในสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้หลายครั้ง โดยครั้งที่มีการกล่าวถึงและยอมรับตรงกัน ได้แก่
- ช่วงที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2555 ครั้งนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เปิดวงพูดคุยกับกลุ่มขบวนการอาวุโสกลุ่มหนึ่ง
- ช่วงที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบปะกับกลุ่มที่เรียกกันว่า "ต้มยำกุ้ง" เมื่อราวต้นเดือน มี.ค.2555
- ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้เปิดการพูดคุยหารืออย่างลับๆ กับแกนนำขบวนการที่อ้างว่ามีอิทธิพลต่อกลุ่มติดอาวุธที่สร้างสถานการณ์อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้
- ช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 2554) มีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบางกลุ่ม โดยมีนายตำรวจไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน กระทั่งเกิดข้อเสนอ "หยุดยิงบางพื้นที่"
ผลที่ตามมาจากโต๊ะพูดคุยสันติภาพ (ไม่มีใครอยากให้เรียกว่าการเจรจา) สรุปได้หลายแง่มุมตามข้อมูลที่หลุดออกมาจากแต่ละฝ่าย ดังนี้
- การพูดคุยของคณะนายกรัฐมนตรีที่จัดโดย สมช.สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหาร เนื่องจากไม่ได้มีการประสานกันก่อน และฝ่ายทหารยืนกรานว่ากลุ่มที่ไปพูดคุยกับคณะของนายกฯนั้น ไม่ใช่ตัวจริง หรืออาจจะเป็นตัวจริง แต่ไม่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่ ณ ปัจจุบันแล้ว
- การพูดคุยของ พ.ต.อ.ทวี นั้น เจ้าตัวปฏิเสธอย่างแข็งขันกับ "ทีมข่าวอิศรา" โดยยืนยันว่าการไปพบปะกับกลุ่มต้มยำกุ้ง เป็นการพูดคุยเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานร้านต้มยำ (ร้านอาหารยอดนิยมในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่มีคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นลูกจ้าง ทั้งกุ๊กและเด็กเสิร์ฟภายในร้าน) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5-1.9 แสนคนทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย โดยได้ให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไปปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตทำงาน (work permit)
อย่างไรก็ดี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กลับให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ส่วนกลางอย่างชัดเจนว่า พ.ต.อ.ทวี ไปเปิดเจรจาลับกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
- กรณีการพูดคุยระหว่างแม่ทัพภาคที่ 4 กับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่ง ได้ข้อสรุปที่ฝ่ายทหารเชื่อว่า "ไปไกลกว่าด้านอื่นๆ" กล่าวคือทางฝ่ายแกนนำขบวนการยืนยันไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษ หรือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ที่ติดอาวุธและสู้รบกับรัฐต้องการ "เอกราช" แต่กระนั้นก็ยอมรับว่าเหนื่อยล้ากับการสู้รบเต็มที หากจะคลี่คลายปัญหาด้วยวิธีการกระจายอำนาจหรือวิธีการอื่นใด ก็ต้อง "นิรโทษกรรม" กลุ่มที่มีหมายจับหรือติดคดีทุกคน
ประเด็นนี้เองที่นำมาสู่ท่าทีของ พล.ท.อุดมชัย ที่เคยเสนอผ่านสื่อไปถึงรัฐบาลว่าต้องการให้นำหลักการของมาตรา 17 สัตต ในพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งยกเลิกไปแล้ว) มาใช้ นั่นก็คือการ "อภัยโทษ" หรือ "นิรโทษกรรม" กลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่อต้านรัฐ เหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีก่อน แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ตอบสนอง
- กรณีการพูดคุยในช่วงท้ายของรัฐบาลประชาธิปัตย์กับแกนนำขบวนการที่อ้างว่ามีอิทธิพลกับกองกำลังติดอาวุธที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ไม่ปรากฏความคืบหน้าอีกเลยนับตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์หมดอำนาจ เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้สานต่อ
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 คือมีความไม่ลงรอย ทับเส้น และไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องการ "พูดคุยสันติภาพ" หรือจะเรียกว่า "เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ" ของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง มีความอิหลักอิเหลื่อกันพอสมควร กระทั่งอาจเป็น "ช่องว่าง" ของการประสานงานด้านข้อมูลการข่าว จนเกิดเหตุร้ายครั้งใหญ่เที่ยวล่าสุด
3.การเดินเกมของ พ.ต.อ.ทวี ที่ไปช่วยเหลือแรงงานร้านต้มยำกุ้ง ส่งผลสะเทือนในแง่บวก โดยเฉพาะกับความรู้สึกของคนในพื้นที่มากพอสมควร เพราะแรงงานต้มยำนั้น ถูกมองเสมือนหนึ่ง "วีรบุรุษ" ของพี่น้องมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนที่ไปทนลำบากตรากตรำทำงานไกลบ้านเพื่อส่งเงินกลับมาหาเลี้ยงครอบครัว
เหตุนี้จึงอาจเป็นไปได้ตามบทวิเคราะห์ของนายทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (หลังเกิดเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.) ว่าเป็นการสั่นคลอนฐานมวลชนของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนและเลือกใช้วิธีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐ จึงต้องก่อเหตุครั้งใหญ่เพื่อประกาศจุดยืนและสร้างความหวาดกลัวให้กับมวลชนที่กำลังเทใจให้รัฐผ่าน ศอ.บต.
4.การก่อวินาศกรรมครั้งรุนแรงยังอาจเป็นการประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่า ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน "ตัวจริง" ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการ "พูดคุยสันติภาพ" หรือ "การเจรจา" แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่าขบวนการสายเก่าหรือสายอาวุโสที่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุ หรือคุมสถานการณ์ไม่ได้จริง ยอมพูดคุยกับรัฐหมดแล้ว ไม่ว่าจะผ่านทาง ศอ.บต. ทหาร หรือรัฐบาล
5.กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่มีหลายกลุ่ม และมีบริบทแยกส่วนกันชัดเจนกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพ
6.นอกเหนือจากการเจรจา ยังมีความเคลื่อนไหวค่อนข้างแรงในปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด อิทธิพลเถื่อน สินค้าเถื่อน และฟอกเงินในพื้นที่ชายแดนใต้ในรอบเดือนเศษที่ผ่านมา หากโจทย์ที่ฝ่ายทหารตั้งเอาไว้ว่าขบวนการเหล่านี้จับมือกันเป็นเนื้อเดียวและให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเป็นความจริง เหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ล่าสุดก็อาจเป็นการล้างแค้น ตอบโต้ของขบวนการที่ว่านี้ก็ได้
แต่หาก "โจทย์" ที่ตั้งเอาไว้ผิด ย่อมหมายความว่าขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนไม่พอใจกับการสร้างกระแสและปฏิบัติการข่าวสารของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่พยายามโยงเรื่องอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเข้ากับขบวนการค้าเสพติดในลักษณะต้องการ "ดิสเครดิต" ในเวทีโลก จึงก่อเหตุใหญ่เสมือนหนึ่ง "ดิสเครดิต" รัฐกลับ ซึ่งก่อนเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เที่ยวนี้ก็มีข่าวกระเส็นกระสายในพื้นที่อยู่เหมือนกันว่าฝั่งขบวนการไม่พอใจเกมของฝ่ายความมั่นคง
7.การเลือกวางระเบิดจุดหนึ่งที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอนำร่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงมานานแล้ว ย่อมกลายเป็นแรงกดดันไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม ซึ่งก็จะเข้าทางทั้งกลุ่มขบวนการและ "แนวร่วมมุมกลับ" ทั้งหลาย เพราะเมื่อไม่ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ก็จะยังมีข้อหาว่าด้วยการ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ในประเด็นต่างๆ ต่อไปทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.
8.หากพิจารณาภาพรวมสถานการณ์จะพบว่า ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงเป็นผู้กำหนดทิศทางในพื้นที่การรบ ส่วนฝ่ายความมั่นคงยังอยู่ในสถานะตั้งรับ โดยฝ่ายผู้ก่อการยังปฏิบัติการได้อย่างค่อนข้างเสรี โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันก็มีข้อมูลหลุดมาจากบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลของฝ่ายขบวนการว่า จะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น แสดงว่ามีการเตรียมวางแผนกันมาอย่างดี และปฏิบัติจริงได้บรรลุตามเป้า
ขณะที่ฝ่ายรัฐยังคงมีปัญหาเรื่อง "เอกภาพ" ไม่ว่าจะในมิติ "พูดคุยเจรจา" หรือมิติ "ระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหา" ก็ตาม เพราะจนถึงปัจจุบันโครงสร้างการบริหารจัดการในลักษณะ "บูรณาการ" ที่เสนอโดย กอ.รมน.ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายการเมือง ส่วนร่างนโยบายดับไฟใต้ที่เป็น "แม่บท" ของ สมช.ก็ยังรอกระบวนการของรัฐสภาที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ
ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจะต้องนั่งลงพูดคุยและสางปัญหาที่ละเปลาะ ทีละปมด้วยกัน แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน และเดินหน้าไปพร้อมกันอย่างมีเอกภาพ
ที่สำคัญต้องไม่ถลำเข้าไปติดบ่วงพรางความรุนแรงอันจะทำให้สถานการณ์ภาคใต้จมปลักอยู่กับวังวนเดิมๆ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความสูญเสียจากเหตุบอมบ์ 3 ลูกในย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)