เกินความคาดหมาย "ใบบัวบก" ผักพื้นบ้าน ไทยแพน สุ่มตรวจพบมีสารพิษตกค้างมากสุด
ใบบัวบก ก็ไม่รอด ! ไทยแพน สุ่มตรวจพบมีสารพิษตกค้างมากสุด กระเพราพบสารพิษตกค้างมากกว่ากระหล่ำปี ติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ส่วนผลไม้ องุ่นกับแก้วมังกร มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเกือบเท่าๆ กัน ตามด้วยกล้วยหอม และมะละกอ ที่ปลอดภัยสุด "มะพร้าวน้ำหอม-สับปะรด"
วันที่ 24 พ.ย. 2560 ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ปี 2560
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานเครือข่ายไทยแพน กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้จากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่าง เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2560 จากผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปี ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง สายบัว และกระชาย ผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว และสับปะรด ครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดใน 5 จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ มีตราแสดงมาตรฐาน และซุปเปอร์มาร์เก็ต
ผลการสุ่มตรวจพบว่า โดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึงร้อยละ 46 ยังคงดีกว่าเมื่อปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ก็ถือว่า ยังเป็นจำนวนที่มากอยู่
การสุ่มตรวจครั้งนี้ได้ส่งไปวิเคราะห์ห้องทดสอบที่ประเทศอังกฤษ สามารถวิเคราะห์สารตกค้างได้ทั้งหมด 480 ชนิดใน 76 ตัวอย่าง จาก 150 ตัวอย่าง มีสารเคมีที่ประเทศไทยอนุญาตใช้เพียงแค่ครึ่งเดียว อีกทั้งยังพบสารต้องห้ามที่มีอันตรายในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เช่น เมทามิโดฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ในครั้งนี้ได้ใช้สุ่มตรวจผักยอดนิยมต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไปและผลไม้ พบว่าผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 64 ผักพื้นบ้านยอดนิยมร้อยละ 43 และผลไม้ร้อยละ 33 โดยผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่นนอก แก้วมังกร ซึ่งพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง ส่วนสายบัวกับกระชาย ไม่พบการตกค้างเลย
"กระเพราพบสารพิษตกค้างมากกว่ากระหล่ำปี ซึ่งเป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้วที่กระหล่ำพบสารพิษน้อยกว่ากระเพรา แต่มีสารพิษหลายตัวที่เราไม่ได้วิเคราะห์ ส่วนถั่วฝักยาว พบตกมาตรฐาน 9 ใน 10 ตัวอย่าง ซึ่งในถั่วฝักยาวพบสารเคมีที่เลิกใช้ไปแล้วอย่าง เมทามิโดฟอส ตกค้างอยู่ ที่เก็บมาจากห้ามแมคโคร ส่วนพริก ยังเป็นผักที่เจอสารพิษตกค้างสูงสุด หลายหลายชนิด ผักคะน้า เจอสารพิษตกค้างที่เลิกใช้ไปแล้ว คือ อีพีเอ็น 1 ตัวอย่างที่จังหวัดสงขลา"
นางสาวปรกชล กล่าวว่า ผลการสุ่มตรวจครั้งนี้เป็นที่น่าตกใจ เกินความคาดหมาย ผักพื้นบ้านอย่างใบบัวบก มีการตกค้างมากที่สุด 9 ใน 10 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างมากถึง 5-18 ชนิดต่อหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งไม่คิดว่า ใบบัวบกจะมีสารพิษตกค้างเยอะขนาดนี้
"ส่วนใหญ่สารพิษที่พบ คือ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เกินกว่าค่ามาตรฐาน"
นางสาวปรกชล กล่าวถึงผลไม้ องุ่นกับแก้วมังกร มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเกือบเท่าๆ กัน ตามด้วยกล้วยหอม พบ 1 ตัวอย่าง และมะละกอ ส่วนมะพร้าวน้ำหอมกับสับปะรดไม่พบสารพิษตกค้าง
"โดยรวมผักและผลไม้ที่มาจากตลาดเหมือนจะได้มาตรฐานมากกว่าผักและผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตเสียอีก"
ทางด้านนางสาวกิ่งแก้ว นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบข้อมูลให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการก็จะนำข้อมูลระบุแห่งที่มาแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เป็นปัญหาไปดำเนินการแก้ไขต่อไป