ยาเสพติดโยงป่วนใต้...แต่ไม่ใช่รากเหง้าของ "เงื่อนไข" ที่ปลายขวาน
ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2555 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จับมือกับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กวาดล้างจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่โยงใยกับขบวนการฟอกเงินได้หลายราย
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 10 มี.ค.กับปฏิบัติการตรวจค้นร้านค้าที่รับแลกเงินในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก–ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และร้านจำหน่ายทองรูปพรรณในเขตเทศบาลตำบลสุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส สามารถยึดเงินสดสกุลต่างประเทศและเงินบาทไทยได้จำนวนมาก ตามข่าวระบุว่ามีเอกสารที่เกี่ยวกับบ่อนการพนัน โต๊ะพนันฟุตบอล สมุดบัญชีธนาคาร และหลักฐานการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดด้วย
ต่อมาวันที่ 17 มี.ค.นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาอีก 3 รายพร้อมทรัพย์สินที่อายัดได้จำนวน 155 ล้านบาท โดยระบุว่าทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับ นายยุสรี เปาะดาโอ๊ะ นักค้ายาเสพติดข้ามชาติรายสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดราชบุรี
คดีนี้ ตำรวจตามรวบนักค้ายาเสพติดชาวมาเลเซียได้ก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว และพบหลักฐานเชื่อมโยงกับเครือข่ายของนายยุสรี จึงแกะรอยเรื่อยมา กระทั่งพบคนในเครือข่ายนำเงินไปแลก (หรือฟอก) ที่ร้านค้ากับร้านทองใน อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี จึงตามจับกุมได้ชนิดที่เรียกว่า "ทั้งวงจร"
การจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดและฟอกเงิน โดยบางส่วนอาจโยงใยไปถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มติดอาวุธที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนด้วยนี้ เป็นปฏิบัติการอันน่าชมเชย ภายหลังจากที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เข้มงวดจับกุมกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวมากขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งยาบ้า ยาไอซ์ ยาแก้ไอ น้ำมันเถื่อน และสินค้าหนีภาษี โดยฝ่ายความมั่นคงเรียกธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ว่า "ภัยแทรกซ้อน" ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ จนทำให้สถานการณ์รุนแรงบานปลาย
อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การพยายามโหมประโคมทั้งข่าวสารและปฏิบัติการทำนองว่า "ปัญหายาเสพติด" เป็นปัญหาเดียวกับ "สถานการณ์ความไม่สงบ" ที่ปะทุรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่ปี 2547 และดำรงอยู่มานานกว่า 8 ปี
กลายเป็นว่า "ภัยแทรกซ้อน" ที่เคยเรียกกันนั้น กำลังจะกลายเป็น "ภัยหลัก" ไปเสียแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงหลายรายพูดถึงขนาดว่า เหตุรุนแรง 70-80% เกิดจากเครือข่ายค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และฟอกเงิน ซึ่งโยงกับกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น ส่วนกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงโดยอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้นมีเพียง 20%
หนำซ้ำยังได้รับการสนับสนุนหรือได้ประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายเสมือนเป็นกลุ่มเดียวกันด้วย จนนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่ว่า หากแก้ปัญหายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายได้ ไฟใต้ที่คุโชนมานาน 8 ปีก็จะดับมอดลง
หลายคนตั้งคำถามว่า การตั้งโจทย์แบบนี้...คิดรอบคอบดีแล้วหรือ?
เพราะจะว่าไปปัญหายาเสพติดกับไฟใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ "โจทย์" ที่เคยตั้งกันมาตลอดก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบและสภาพความไม่มั่นคงในพื้นที่ "เปิดช่องว่าง" ให้ขบวนการค้ายาและรวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสีดำอื่นๆ ทั้งค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน สถานบริการ บ่อนการพนัน และค้ามนุษย์ เฟื่องฟูขึ้นอย่างกว้างขวาง
สาเหตุสำคัญก็คือ "ความเป็นพื้นที่ชายแดน" ซึ่งมักมีปัญหาเหล่านี้โดยสภาพอยู่แล้ว เมื่อผนวกเข้ากับปัญหาความไม่สงบซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน จึงยิ่งทำให้ "ธุรกิจสีดำ" เหล่านี้ขยายตัว เพราะอำนาจรัฐไม่อาจครอบคลุมทั่วพื้นที่ได้
รายงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เมื่อปี 2552 ที่รายงานต่อรัฐบาล ก็แสดงความกังวลต่อสภาพการณ์ที่ว่านี้ กระทั่งต่อมามีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบภารกิจที่เรียกว่า "แก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน" ในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็หมายถึงงานปราบปรามแก๊งค้ายาและน้ำมันเถื่อน เพื่อไม่ให้กลายเป็นภัย "ซ้ำเติม" ปัญหาความไม่สงบนั่นเอง (ซึ่งศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ก็เคยทำสกู๊ปเรื่องนี้เอาไว้หลายชิ้น)
ด้วยเหตุนี้ "โจทย์" ที่เคยตั้งกันเอาไว้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางหน่วย บางคนซึ่งรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้อยู่พยายามให้ข้อมูลต่อสังคมในขณะนี้อย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่เป็นข่าวสารสู่สาธารณะไปไกลถึงขั้นว่า ขบวนการค้ายาเสพติดสะสมกำลังพลและอาวุธ จับมือกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน "จุดไฟใต้" ขึ้นที่ดินแดนปลายด้ามขวาน และมีการนำเงินจากธุรกิจค้ายาไปสนับสนุนกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
กระทั่งนำไปสู่หลักคิดในเชิงสมการที่ว่า เมื่อขบวนการค้ายาจับมือกับขบวนการก่อความไม่สงบ หากจัดการแก๊งค้ายาและยึดทรัพย์ได้หมด ไฟใต้ก็น่าจะดับลงได้ไม่ยาก...
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากหน่วยงานใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเอง ซึ่งรับผิดชอบภารกิจด้านต่อสู้ทางความคิดกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กลับให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป นายทหารหน่วยนี้มองว่า ความเชื่อมโยงของขบวนการค้ายาเสพติดกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนแม้จะมีอยู่จริง แต่ก็เป็นการเอื้อประโยชน์กันในลักษณะตัวบุคคลและพื้นที่ เช่น เทคะแนนเสียงของมวลชนแนวร่วมให้ในการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น เมื่อผู้นำรายนั้นชนะเลือกตั้ง ได้รับตำแหน่งไปครองแล้ว ก็หาช่องทางเอื้อประโยชน์กับกลุ่มขบวนการในระดับพื้นที่นั้นๆ อีกที ซึ่งแน่นอนว่าผู้นำท้องถิ่นหลายรายก็ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายเพื่อเป็นแหล่งเงินสนับสนุนทางการเมืองด้วย อย่างนี้เป็นต้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวมเป็นเนื้อเดียวกับขบวนการค้ายาเสพติด
เหตุผลสำคัญก็คือ โครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีจุดเด่นคือเป็น "องค์กรลับ" และใช้ "ศาสนา" กับ "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ของคนมลายูมุสลิมเป็น "เงื่อนไข" ในการระดมมวลชนเข้าขบวนการ ฉะนั้นหากโครงสร้างของระดับนำในขบวนการไปยุ่งเกี่ยวกับ "ยาเสพติด" ซึ่งผิดหลักศาสนาแน่นอน องค์กรนี้จะเดินหน้ามายาวนาน 7-8 ปี โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากมวลชนในพื้นที่ และมีแนวร่วมรุ่นใหม่เข้าไปทดแทนกลุ่มคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างไม่ขาดสายได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างของขบวนการค้ายาเสพติด ไม่ได้รวมตัวกันด้วยอุดมการณ์หรือความเชื่อ แต่เป็นการรวมตัวกันทาง "ธุรกิจ" จึงง่ายต่อการ "ล่อซื้อ" และทำให้องค์กร "เสียลับ" ส่วนขบวนการแบ่งแยกดินแดนมี "ฝ่ายเศรษฐกิจ" ทำหน้าที่ระดมทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่เอาผิดไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น การขอแบ่งรายได้จากการกรีดยางพาราจากสวนยางของแนวร่วมเดือนละ 1 วัน (สลับกันไปหลายร้อยหลายพันสวนในทุกพื้นที่ที่เป็นมวลชนของกลุ่มขบวนการ) เป็นต้น
นายทหารจากหน่วยงานนี้ฟันธงว่า หากขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวมเป็นเนื้อเดียวกับขบวนการค้ายาเสพติดจริง โครงสร้างองค์กรน่าจะถูกทำลายไปนานแล้ว
สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตแม่ทัพสีกากีภาคใต้ ปัจจุบันนั่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ส. ที่เคยบอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้เมื่อปลายปี 2553 ว่ามีหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายค้ายากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในระดับล่างเท่านั้น และไม่ค่อยชัดเจนนัก
ขณะที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพิ่งพูดเมื่อเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เที่ยวล่าสุด โดยให้น้ำหนักปัญหาความไม่สงบว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองมากกว่าปัญหายาเสพติดหรือค้าของเถื่อน
ยิ่งไปกว่านั้น มีคำถามอันแหลมคมที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เคยพูดถึงเลยก็คือ หากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมวงด้วย ธุรกิจใต้ดินจะเฟื่องฟูได้ขนาดนี้หรือ?
และหากสถานการณ์ไฟใต้ถูกจุดขึ้นด้วยเครือข่ายค้ายาเสพติดกับธุรกิจผิดกฎหมาย การปราบปรามก็น่าจะกระทำได้โดยไม่ต้องใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหมือนที่ทำอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ...หรือมิใช่?
การกล่าวหาและประโคมข่าวลักษณะนี้ หากมุ่งแต่จะ "ดิสเครดิต" ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในเวทีโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) ว่าเป็นองค์กรไร้อุดมการณ์ เพราะพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างแยกไม่ออกโดยไม่ได้มีหลักฐานและความรอบคอบเพียงพอ ระวังจะกลายเป็นเงื่อนไขรอบใหม่ที่ชายแดนใต้
อย่าลืมว่าคดีความมั่นคงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2554 มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องถึง 78% ฉะนั้นหลักฐานในชั้นจับกุมกับการพิสูจน์ในชั้นศาล พอเอาเข้าจริงๆ อาจเป็น “หนังคนละม้วน” ได้
การให้ข่าวเกี่ยวกับผลการ “อายัดทรัพย์ต้องสงสัย” จำนวนมหาศาล ต้องตามดูด้วยว่าถึงที่สุดแล้วในชั้นศาล “ยึดจริงเท่าไหร่” หากมุ่งแต่จะเปิดเกมรุกโดยมุ่งแต่ "แต้มต่อ" เท่านั้น ระวังปัญหาจะบานปลายเหมือนเมื่อครั้งสงครามยาเสพติดยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ฝุ่นตลบช่วงก่อนเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
กระนั้นก็ตาม ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า การกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรทำมาตั้งนานแล้ว แต่ปัญหาก็คือไม่ใช่ไป "จงใจ" ตั้งโจทย์ว่าไฟใต้ที่คุโชนมานานเกือบ 1 ทศวรรษมาจากปัญหาเหล่านี้เท่านั้น แล้วละเลยที่จะพูดถึง "ต้นตอ" หรือ "รากเหง้า" ที่แท้จริงของปัญหาในมิติอื่นๆ ที่สำคัญกว่า
โดยเฉพาะเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์และความไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐไทยแทบไม่เคยขยับเพื่อแก้ไขอย่างจริงจังเลย!
---------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทบรรณาธิการชิ้นนี้ เขียนขยายความจากบทความของผมเองที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน
บรรยายภาพ : เงินสดทั้งสกุลต่างประเทศและเงินบาทไทยที่ยึดได้จากร้านรับแลกเงินใน อ.สุไหงโก-ลก
ขอบคุณ : ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เอื้อเฟื้อภาพประกอบ