องค์การอนามัยโลก ชี้เชื้อดื้อยาคร่าชีวิตคนสูงปีละกว่า 7 แสนคน มากสุดทวีปเอเชีย-ไทยไม่ใช่ย่อย
สถานการณ์เชื้อดื้อยาคร่าชีวิตประชากรโลก ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง ถึง 3.5 พันล้านล้าน ยันไทยศึกษาเบื้องต้นพบ เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 3 หมื่นคน สูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.2 หมื่นล้าน ด้าน 25 องค์กร ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนงานแก้ปัญหา พร้อมเปิดตัวพันธกิจ ‘ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา’
วันที่ 23 พฤศจิกายน มีการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย โดยมี 25 องค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พร้อมกับเปิดตัวพันธกิจ ‘ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา’ โดยตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยา 50% ภายใน 4 ปี ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ โดยมีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม
แพทย์หญิง มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข กล่าวถึงความสำคัญของเชื้อดื้อยาว่า เป็นวิกฤติร่วมของคนทั่วโลก เนื่องจากเชื้อโรคมีการดื้อยาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยาต้านจุลชีพในการรักษาเชื้อดื้อยามีจำนวนที่จำกัด ซึ่งนั้นแปลว่า เราอยู่ในยุคซบเซาที่ยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผล เป็นยุคที่แม้ว่ามีการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยก็อาจมีการเสียชีวิตได้ ส่งผลให้การรักษาโรคหลายชนิดที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพ เช่น วัณโรค เบาหวาน ติดเชื้อในกระแสเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ การรักษามะเร็ง เป็นต้น มีความยากลำบากในการรักษามากขึ้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื่อดื้อยา คือการใช้ยาไม่เหมาะสมกับคน สัตว์ และพืช ไม่ถูกต้องต่อเวลา ต่อเชื้อโรค รวมทั้งการพัฒนาของเชื้อในการอยู่รอดทำให้เชื้อมีการดื้อยา และที่สำคัญเชื้อดื้อยามีการกระจายไปในพื้นที่ต่างๆได้เหมือนกับโรคระบาด ดังนั้นการแก่ปัญหาจึงไม่เพียงแค่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกประเทศทั่วโลกที่จะต้องร่วมมือกัน จึงส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์ในการจัดการเชื้อดื้อยา
แพทย์หญิง มยุรา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า จากสถานการณ์เชื้อดื้อยาปัจจุบัน คร่าชีวิตประชากรในแต่ละปีสูงถึง 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน พ.ศ. 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ประเทศในทวีปเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 30,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการเชื้อดื้อยา ประกอบด้วยทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์
1. เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อตรวจสอบจับเชื้อดื้อยา และป้องกันการระบาดทั้งในคนและสัตว์ สิ่งแวดล้อม แจ้งเตือนการระบาดได้อย่างทันท่วงที
2. ควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพ สร้างและพัฒนาระบบควบคุมและติดตามการกระจายยาต้านจุลชีพแบบบูรณาการทั้งยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ ร่วมกับมาตรการทางกฎหมาย
3. ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม เน้นการทำงานแบบบูรณาการของบุคลากรทางแพทย์และคบคุมการใช้ยาทั้งในสถานพยาบาล และร้านยา
4. ป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาพการเกษตรและสัตว์เลี้ยง เน้นการเฝ้าระวังและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์เพื่อการบริโภค สัตว์เลี้ยง และพืช พร้อมสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรเพื่อลดการใช้ยาในกระบวนการผลิต
5. ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน
6. บริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายสัตวแพทย์ ธนิตย์ อเนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาในภาคของการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา โดยสร้างกลไกลการขับเคลื่อนการต้านเชื้อดื้อยาจุลชีพ ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน รวมทั้งมีการปรับโครงสร้าง และเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ ได้มีการตั้งกองควบคมอาหารและยาสัตว์ กรมประมง ได้บรรจุเจ้าหน้าที่แพทย์เฉพาะด้านนี้โดยเฉพาะ
นายสัตวแพทย์ ธนิตย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการดำเนินการในสร้างกลไกลหรือควบคุมเชื้อดื้อยานั้น กระทรวงเกษตรได้ออกกฎในเรื่องของการควบคุมการใช้สารต้านจุลชีพในการผสมในอาหารสัตว์ มีการห้ามใช้สารจุลชีพในการเร่งการเติบโต อีกทั้งมีมาตรการในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ มีสัตวแพทย์ควบคุมในทุกสาขา รวมทั้งมีการปฏิบัติที่ชัดเจน
ด้านพลเรือเอก ณรงค์ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย มีเป้าหมายลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อลง 50% ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% และในสัตว์ 30% รวมถึงประชาชนมีความรู้มากขึ้น 20% ท้ายที่สุดประเทศไทยจะมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการศึกษาของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาพบว่า พฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยที่ส่งผลต่อเชื้อดื้อยา เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นใน 3 โรคยอดฮิตอย่างหวัด เป็นแผล และท้องเสีย รวมถึงการซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่นและหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ในต่างจังหวัดยังพบการกระจายยาในร้านชำที่ขาดความรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ จึงเน้นให้ความรู้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียน เกษตรกร และชุมชน รวมถึงการศึกษาข้อมูลการใช้ยาและพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยโดยร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ ตลอดจนทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการจัดการเชื้อดื้อยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มากกว่า 30 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลการใช้ยาอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย 25 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) (สรพ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แพทยสภาเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)