ปราชญ์เมืองนครแนะชุมชนทำแผนพัฒนาปรับตัวรับอาเซียน-อ.จุฬาฯห่วงกระจายอำนาจไม่ถึงชุมชน
ประยงค์ รณรงค์ชี้แผนพัฒนาชุมชนสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางรอดคนรากหญ้า แนะเกษตรกรปรับตัวรับมือประชาคมอาเซียน ขณะที่อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯห่วงกระจายอำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นผิดวิธี ไม่สนองตอบความต้องการประชาชน
วันที่ 31 มี.ค.55 เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป มูลนิธิชุมชนไท และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดประชุมวิชาการแผนพัฒนา เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พลังชุมชนเปลี่ยนประเทศไทยในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 ณ ห้องปฏิรูป 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.)
นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านไม้เรียง ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชนของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2547 กล่าวว่า เรื่องการทำแผนเชื่อว่าทุกคนเคยทำมาแล้ว ส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยทำกันคือการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ เพราะแผนชุมชนนับเป็นกระบวนนการเรียนรู้ ที่ต้องลงมือทำทดลองใช้ ปัจจุบันส่วนใหญ่ทำแผนเพื่อให้ได้แผน หากแผนจะมีประสิทธิภาพต้องมีการเรียนรู้ ไม่ใช่แพนแล้วนิ่ง (planning) ต้องนำข้อสรุปร่วมกันสู่การปฏิบัติ จึงสามารถพัฒนาไปสู่สิ่งดีๆ ได้ อย่างการทำแผนที่บ้านไม้เรียง เราใช้เวลาทำถึง 2 ปี เน้นกระบวนการเรียนรู้ และทำไปทีละเรื่อง ทำข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ ถึงจะครอบคลุมข้อสรุปทั้งหมดของพื้นที่
"ข้อเท็จจริงต่างคนต่างทำแผนของตนเอง ถ้าแผนเป็นเครื่องมือ เมื่อจัดทำแล้วต้องแปลงไปสู่การปฏิบัติ จึงจะสร้างความเข้มแข็งชุมชนได้ และต้องมีวิธีการไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวโดยสอดคล้องกับสภาพปัญหา และหน่วยงานท้องถิ่นปฏิบัติได้ไม่สร้างความขัดแย้ง ถ้าทุกชุมชนทำแผนของตนเองแล้วจะทำให้ความหลากหลายเกิดขึ้น”
ปราชญ์บ้านไม้เรียง กล่าวต่อว่า งบประมาณไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบางอย่างเราไม่ต้องขอใคร อย่างโรงยางที่ไม้เรียง เกิดจากการระดมทุนจาก 37 ครอบครัว ร่วมกันตั้งโรงยางที่มีมูลค่า 1 ล้านกว่าบาทได้ หรืออย่างเครือข่ายยมนา จัดตั้งบริษัทที่มีเงินลงทุน 5 ล้าน แปรรูปข้าว ทำแป้งขนมจีน แปรรูปผลผลิตการเกษตร ที่เกิดจากการทำข้อมูล หากมีความเข้าใจ บวกความตั้งใจเชื่อมั่นว่าทำได้ บริษัทที่ชาวบ้านร่วมกันทำเคยมีคนขอซื้อด้วยเงิน 20 ล้าน แต่ชาวบ้านตัดสินใจไม่ขาย เพราะเชื่อว่าชุมชนทำได้และทำได้ดีด้วย ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวสามารถขายผลผลิตได้ถึงปีละ 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผน 11ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมุ่งพื้นฟูคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลไกทำแผนชุมชน แล้วเชื่อมกับแผน อบต. ยกสู่ระดับจังหวัด เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐตั้งงบประมาณที่จังหวัด เริ่มตั้งแต่ปี 55 ถึงปี 59 เราต้องร่วมกันทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้
“ต้องเน้นทั้งเรื่องมิติทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเพราะทุกอย่างเชื่อมร้อยต่อกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแยกออกจากกัน ถ้ากำหนดทิศทางเองได้ นี่คือการปฏิรูปประเทศไทย เพราะนับจากนี้อีก 3 ปีไทยเป็นประชาคมอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย แต่มีพิชเกษตรไม่ต่างกัน เราจะเอาอะไรไปสู้กับเขาคือประเด็นสำคัญ” นายประยงค์กล่าว
ด้านนายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เมื่อปี 42 ได้เรียนรู้จากการทำงานของชุมชนไม้เรียงนำมาปรับใช้ แผนจะสำเร็จได้ต้องมุ่งพัฒนาคนเป็นสำคัญ มีการออกแบบสอบถาม นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ มุ่งเก็บข้อมูล เพราะข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่เอามากำหนดทางออกของปัญหา รวบรวมสังเคราะห์เป็นความรู้ของตนเอง แผนที่ดีต้องมีทางออกของชุมชน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือแผนที่เราทำเอง ไม่ต้องรอใคร แผนทำร่วม เชิญนักวิชาการ หน่วยงานสังเคราะห์ข้อมูล วิชาการ และเป็นแผนการทำขอ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟ จากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"หลายเรื่องได้ผลเพราะเป็นเรื่องที่เราทำเอง เช่น ร้านค้าชุมชน โรงสีข้าว ที่ปัจจุบันเติบโตอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นได้จริง เราให้น้ำหนักอย่างมากกับเรื่องประชาธิปไตยชุมชน เพราะในอดีตตำบลเรามีความแตกแยก แต่หลังจากทำกระบวนการที่ต่อเนื่องมา 16 ปี มีการประชุมพูดคุยกันทุกเดือน ทำข้อมูลข้อเสนอเสร็จก็เอามาผ่านสภาประชาชน ยกร่างแล้วให้ชาวบ้านลงมติ เมื่อชาวบ้านเห็นด้วยจึงกำหนดขึ้นเป็นแผน ทำแบบเล็กๆ ไม่ต้องเริ่มแบบใหญ่ๆ เชื่อมั่นว่าชุมชนทำได้" นายโชคชัย กล่าว
ขณะที่รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แผนชุมชนถึงขนาดเปลี่ยนสังคมไทยได้หรือเปล่าเป็นโจทย์หนัก ควรพัฒนาทีละขั้นบันได อย่างชาวบ้านที่สันกำแพง เชียงใหม่ มีแผนที่เกิดจาก คำถามง่ายๆ ว่าสหกรณ์โคนมมีสมาชิกประมาณ 700 คน มีวัวประมาณ 100 ตัว มีปัญหาเรื่องขี้วัวจากการเลี้ยงโค สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากขี้วัว ชาวบ้านช่วยกันคิดจึงเกิดการดึงน้ำจากคลองส่งน้ำมาช่วยทำให้ปัญหาก็หมดไป
"กระบวนการผลักดันแผนเพื่อเอางบมาจากท้องถิ่น พบปัญหามากหาทางออกลำบาก หน่วยงานท้องถิ่นยังไม่สามารถสนองตอบแผนชุมชนได้ เพราะยังไม่มีการเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมในการจัดทำแผนมีบางกระบวนการที่ขาดหาย ความฮึกเหิมจึงไม่เกิด ชุมชนสามารถระดมทรัพยากรตนเองมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา จุดสำคัญต้องยึดกุม ไม่ใช่ไปขอทานร้องขอ โดยส่วนตัวไม่เชื่อในวิธีกระจายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าการกระจายอำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง" อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯกล่าว
ส่วนนายแก้ว สังข์ชู คณะประสานงานเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค กล่าวว่า ตนทำแผนชุมชนมากว่า 18 ปี เป็นการยกระดับจากการรับรู้ไปสู่นโยบาย และขบวนมีความเป็นหนึ่ง จากการปฏิบัติกับตัวเอง เริ่มจากแผนครอบครัว เชื่อมั่นว่าแผนเป็นทางออกและทางรอดของสังคมได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำแผนเน้นวิธีการ มากกว่ากระบวนการเรียนรู้เราต้องพัฒนาท่ามกลางปฏิบัติ ใช้เหตุ ใช้ผล พูดด้วยข้อมูล จะสร้างให้เกิดผลผลิตสองระดับ คือการเรียนรู้ตัวเอง และนำไปสู่การจัดการของชุมชน แม้ยังมีจุดอ่อนอยู่ทั่วประเทศ แต่ก็เป็นความท้าทาย กระบวนการที่สำคัญหัวใจอยู่ที่ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน
"การเสนอในเชิงยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เอาเครื่องมือลงสู่การปฏิบัติ กระบวนการจัดทำแผน บ้านใครบ้านมัน สร้างจุดร่วมและยกระดับ แต่ที่ผ่านมายังขาดการประมวลผลพื้นที่อยู่แบบไหนอย่างไร พัฒนาให้เข้ากับมีส่วนร่วมตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะนำพาไปสู่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างแท้จริง"