ทีวีดิจิทัลรอดได้ นายกสมาคมฯ ชงใช้ม.44 แก้ เล็งไม่ขอจ่ายค่าใบอนุญาต
นายกสมาคมทีวีดิจิทัล ชงใช้ม.44 แก้ปัญหา กฎหมายบริการทีวีดิจิทัล เสนอไม่จ่ายค่าใบอนุญาต ชี้จะรอดหรือร่วง ต้องทำอะไรสักอย่าง
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.60 ในเวทีเสวนา “ทีวีดิจิทัลไทย: รอดหรือร่วง” จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าวถึงทีวีดิจิทัลรอดหรือร่วงขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำอะไรสักอย่างหรือไม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าปล่อยอย่างนี้ ร่วงแน่นอน ถ้าทำตามที่สมาคมฯ เรียกร้องจะรอด ประเด็นที่ว่า ทำไมทีวีดิจิทัลถึงมีปัญหานั้นมีทั้งเรื่องเก่าและใหม่ ตอนประมูลคิดกันว่า ทีวีดิจิทัลคือฟรีทีวี เราเข้าใจในเวลาต่อมาว่า ออกอากาศใหม่ๆ คนดูจะยังดูไม่ได้ แต่ให้เวลา กสทช. ช่วย โดยการแจกกล่องรับสัญญาณ ระหว่างนั้นเราออนแอร์ 1 เมษายน 57 แต่กว่าจะดูได้ 1 ตุลาคม57 หมายความว่าก่อนหน้านั้นเราจ่ายทุกวัน
นายกสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัลฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงข่ายมีปัญหามาก เอาเครื่องสถานีเราส่งไป คลื่นที่ส่งไปหายไปไม่ถึงกล่อง กล่องรับไม่ได้กลายเป็นของไม่ถึงมือ ถามว่าแบบนี้จำเป็นต้องจ่ายค่าโครงข่ายให้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน เราก็ทนกันมา สัญญาณภาพที่เข้าก็ไม่คมชัดแบบที่ประมูลได้มาแพงมหาศาล เมื่อเป็นอย่างนี้โฆษณาก็ไม่เข้า ถึงเข้าก็เสียเงินค่าโฆษณาถูกกว่าเข้าวิทยุ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ในสิบนาทีต่อชั่วโมงต่อให้ขายเวลาเต็ม ยังไม่พอค่าผลิตเลย ทั้งหมดนี้คือเรื่องเก่า
นายสุภาพ กล่าวถึงมหันตภัยใหม่ ปัจจุบันมีโทรศัพท์ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน เด็กรุ่นใหม่ไม่ดูทีวี ดูเหมือนจะดี แต่ไม่ดีต่อผู้ประกอบการ บริษัทโฆษณาทั้งหลายลังเลว่า เรตติ้งเชื่อได้ไหม ปัญหาเลยทับถมไปอีก กสทช.ก็ป้องกันไม่ได้ บางประเทศเยียวยาว่า เมื่อจ่ายมาแล้วจ่ายไป แต่ถ้าต่อมาฝ่ายรัฐป้องกันไม่ได้ ไม่ต้องจ่าย ทีวีดิจิทัลถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นหน้าตาของประเทศ เดี๋ยวนี้หลายประเทศรู้เเล้วว่า เรื่องนี้เป็นภัยคุกคาม เขาเลิกจ่ายใบอนุญาต
“ท่านอยากให้ทีวีดิจิทัลอยู่กับสังคมไหม ถ้าอยากต้องทำอะไรสักอย่าง ท่านรองนายกรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองาม ถามว่าเราเรียกร้องอะไร เมื่อเราประเมินความไม่พร้อมของ กสทช. ไม่เป็นไปตามข้อตกลงเดิม จากเดิมทุกคนต้องดูได้ สอง เทคโนโลยีใหม่ จะทำอย่างไร” นายสุภาพ กล่าว และว่า เราเสนอว่า ตัวเลขในการประมูล ทีวีดิจิทัล 5.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่จุฬาฯประเมินว่าราคาจริงคือ 1.3 หมื่นล้านบาท ประมาณการว่าราคาเท่านั้นเพียงพอเเล้วที่จะเอาไปแจกกล่อง วันนี้เราจ่ายไปแล้ว 60% คือ3.4 หมื่นล้านบาท ถือว่ากำไรเเล้ว ที่เหลือขอไม่จ่าย แต่คนบอกเห็นแก่ตัว เราไม่จ่ายเพราะว่า คุณไม่ได้ทำตามข้อตกลงเดิม
นายกสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัลฯ กล่าวด้วยว่า เราเสนอว่าทีวีดิจิทัล 24ช่อง และคลื่นสัญญาณที่เหลือที่บอกว่าเป็นทีวีสาธารณะ แต่ไม่มีใครเอา คลื่นที่เหลือคืนไปให้รัฐ ให้กสทช. ไปประมูลโทรคมนาคมมือถือ 4G, 5G ได้เงินมหาศาล ฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องจ่ายใบอนุญาตที่เหลืออยู่ได้ แปลว่า เรายอมให้เอาคลื่นที่เหลือไปหาประโยชน์อีกแสนๆ ล้านบาทได้
“ข้อเสนอนี้ รองนายกฯ ทุกฝ่ายเข้าใจหมด ท่านเลยแนะนำว่า ให้ไปร้องคณะปฏิรูปสื่อ ซึ่งก็เห็นด้วย ปลายทางจะอยู่ตรงไหน แก้กฎหมายก็ช้า ใช้ ม.44 ซึ่งเราไม่อยากให้ใช้พร่ำพรื่อ แต่มันไม่มีทางเลือก เราข้อแค่นี้” นายสุภาพ กล่าวทิ้งท้าย