ธีรยุทธ บุญมี :ข้อสังเกตประเทศไทยและสังคมไทย 4.0
"...เราปล่อยให้คนจีนเขามาซื้อสวนทุเรียน มังคุด ลำไย ฯ และผูกขาดการขายส่งผลไม้เหล่านี้ สภาพแหล่งท่องเที่ยวส่วนมาเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ร้านอาหารเก่าแก่ซึ่งนับเป็นมรดกประเทศปิดตัวลงหลายแห่ง การพัฒนาเศรษฐกิจ 1.0, 2.0 ของเราให้เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับ 3.0, 4.0 ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังกว่านี้..."
ทิศทางประเทศไปให้ถูกทาง
ดูจากระดับความรู้ทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจากพื้นฐานการศึกษาและคุณภาพคน ประเทศไทยอย่างเก่งอยู่ในระดับ 2.0 สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่การต่อยอด แต่เป็นการซื้อยอดทั้ง hardware, software มาติด ข้อดีคือประเทศได้ตื่นตัวสนใจและได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ข้อเสียคือราคาแพง และโอกาสต่อยอดไม่ติดสูง ทางแก้อยู่ที่การยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและคุณภาพคนอย่างเร็วที่สุด อีกทางหนึ่งคือหันมาทุ่มเทกำลังให้กับสิ่งที่เรามีอยู่จริงและมีศักยภาพในห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) คือ “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ จิตใจงามของคนไทย” เช่น มรดกทางพันธุกรรม ความหลากหลายของพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ข้าว ปลา อาหาร และผลผลิตแปรรูป ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประเพณี หัตถกรรม การท่องเที่ยว ฯ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ถือเป็นนโยบายอยู่แล้ว แต่ความทุ่มเทยังต่ำไป รัฐบาลใช้งบ 2-3 ล้านล้านบาทสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและการต่อยอด 4.0 แต่ใช้งบเพื่อทรัพยากรพื้นฐานของเราเพียงในระดับหมื่นล้านบาท คือ 1% หรือน้อยกว่า เทียบกับที่จีนเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของตนได้อย่างรวดเร็ว เช่น เมืองศูนย์กลางอาหารจีน 10 แห่ง ส่งเสริมอาหารมีชื่อของมณฑลต่าง ๆ ตามตำนานบางอย่าง เช่น เป็ดนึ่งเค็มของเมืองนานจิง จากร้านเล็ก ๆ สหกรณ์ของรัฐได้เข้าไปส่งเสริมจนปัจจุบันขายได้ปีละหลายพันล้านหยวน (เรามีไก่ย่าง หมูย่าง ปลาหลากหลายรอโอกาสอยู่) เกาหลีเองตั้งจากศูนย์มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอาหาร วัฒนธรรมมีชื่อ อาหารญี่ปุ่นเองได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก ญี่ปุ่นยกระดับอาหารของตนเป็นพรีเมียมได้หมด มีสถาบันกำหนดมาตรฐาน ลำดับขั้น ผลิตองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ปัจจุบันมีภัตตาคารญี่ปุ่นหลายหมื่นแห่งทั่วโลก รวมทั้งจำนวนมากในประเทศไทย
เราเองกลับละเลยอย่างมาก เช่น ปล่อยให้คนจีนเขามาซื้อสวนทุเรียน มังคุด ลำไย ฯ และผูกขาดการขายส่งผลไม้เหล่านี้ สภาพแหล่งท่องเที่ยวส่วนมาเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ร้านอาหารเก่าแก่ซึ่งนับเป็นมรดกประเทศปิดตัวลงหลายแห่ง การพัฒนาเศรษฐกิจ 1.0, 2.0 ของเราให้เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับ 3.0, 4.0 ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังกว่านี้
สังคมไทยยังไม่ไร้ความหวัง
ข้อสังเกตสังคมไทยปัจจุบัน มี 2 มุมใหญ่ ๆ คือ
- สังคมไทยยังไม่ไร้ความหวัง 3 ปีหลังรัฐประหารดูเหมือนคนไทยจะเงียบเฉย ให้ทำอย่างไรก็ทำ คนในรัฐบาลพูดจาอย่างไรก็รับฟังไม่มีความเห็น ไม่โต้ตอบ แต่ผมสังเกตว่าการกระทำทางสังคมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นของทหารหรือพรรคการเมืองจะถูกสังคมประเมินตัดสินอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงตระหนัก
- สังคมไทยยังมีพลังทางบวกซ่อนเร้นหรือเพาะตัวอย่างมหาศาล สะท้อนออกใน 3 เหตุการณ์ใหญ่ คือ การชุมนุมมวลมหาประชาชน 1.5 ล้านคนในปี 2557 การแสดงออกถึงศรัทธา ความรัก อยากกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของคนไทยทั่วประเทศ ในงานพระศพของพ่อหลวง ร.9 กิจกรรมของคน ๆ เดียว แต่ได้รับความสนใจสนับสนุนไปทั้งประเทศคือการวิ่งของตูน บอดี้สแลม ครั้งแรกในปี 2559 และครั้งที่ 2 ในปัจจุบัน
มองปรากฏการณ์ดังกล่าวในมุมสังคมโดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรืออุดมการณ์การเมือง มีมุมที่น่าสนใจคือ
ก. ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเอกเทศไม่ขึ้นอยู่กับรัฐหรือภาคเอกชนขนาดใหญ่ สะท้อนว่าพลังสังคมเริ่มมองข้ามรัฐ พรรคการเมือง หรือเอกชน เป็นการเกิดขึ้นแบบข้ามขั้วข้ามฝ่าย (ยกเว้นเหตุการณ์แรก)
ข. พลังนี้เป็นพลังทางบวก คือ อยากหลุดพ้นกระบวนการซึ่งเป็นความขัดแย้งแบบเก่า ไม่ฝักใฝ่หรือโจมตีผู้อื่น สังเกตจาก 2 เหตุการณ์หลัง พลังนี้มีอยู่ทุกที่ แต่จะมารวมตัวกันมีขนาดใหญ่โตได้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเหตุมีปัจจัยที่ลงตัว เช่น กรณีตูน บอดี้สแลม
ค. บทเรียนประวัติศาสตร์บอกว่าการปฏิรูปโดยทหารหรือพลเรือนไม่เคยสำเร็จ เพราะไม่มีพลังจูงใจเพียงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักตั้งคณะทำงานผลิตแผนปฏิรูปแล้วก็จบลง ความพยายามดึงเอาพลังสังคมมาช่วยเป็นพลังนำอาจเป็นแนวทางแบบใหม่ ที่ทำให้การปฏิรูปในจุดย่อย ๆ เช่น ในท้องถิ่นเล็ก ๆ หรือเป็นประเด็น ๆ นี่อาจเป็นโมเดลการแก้ปัญหาประเทศอย่างราบรื่นได้ แต่ถ้าทหารและพรรคการเมืองยังซ้ำรอยเดิม เส้นทางบ้านเมืองข้างหน้าก็อาจสะดุดหกล้มกันอีกหลายหนก็ได้
หมายเหตุ: บทความโดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์