'อ.ธีรยุทธ' มองนโยบายหนุน 4.0 ไม่ใช่ต่อยอดแต่คือติดยอด แนะมุ่งพัฒนาศักยภาพทางเกษตรฯ
อ.ธีรยุทธ มองนโยบายรัฐบาลหนุน 4.0 ไม่ใช่ต่อยอดแต่คือติดยอด โอกาสโตยังเสี่ยง เพราะคุณภาพคนยัง 2.0 ขณะที่ขาดการหนุนศักยภาพเดิมที่มี สูญเสียโอกาสทางวัฒนธรรมความหลากหลาย เผยสังคมไทยยังไม่สิ้นหวัง แต่ปฏิรูปจากหน่วยย่อยๆ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.60 ที่ห้องประชุมมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวัฒนธรรมข้าว จับมือภาคประชาชน มูลนิธิ องค์กรเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา จัดแถลงข่าวเทศกาลข้าวใหม่ โดยในงานศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษ “เทศกาลข้าวใหม่ในบริบทเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่”
ศ.ธีรยุทธ กล่าวว่า ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าถึง 70-80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP) ติดต่อกันมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งต่างมีตำนานที่น่าสนใจแตกต่างกันไป การรื้อฟื้นวัฒนธรรมข้าวใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ข้าวไทยยังคงเป็นเสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป
ศ.ธีรยุทธ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาประเทศยังคงน่าห่วง ในที่นี้ไม่ได้ขัดข้องกับเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แต่ที่ห่วงคือสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่การต่อยอด แต่เป็นการซื้อยอดทั้งเรื่อง ฮาร์แวร์(Hardware) และซอฟต์แวร์(Software) มาติด ซึ่งโอกาสที่จะต่อยอดไม่ติดมีสูงมาก ดูจากระดับความรู้ทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีขาดพื้นฐานการศึกษาและคุณภาพคน ประเทศไทยอย่างเก่งอยุ่ในระดับ 2.0 สิ่งที่รัฐทำจึงไม่ใช่การต่อยอด แต่คือการซื้อยอดนั่นเอง
“รัฐบาลต้องหันมาทุ่มเทคือศักยภาพที่เรามีในห่วงโซ่มูลค่า(Value Chain) คือ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ จิตใจงามของคนไทย เช่น มรดกทางพันธุ์กรรม ความหลากหลายพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ข้าว ปลา อาหาร รวมไปถึงประวัติศาสตร์ ประเพณี การท่องเที่ยว วันนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ถือนโยบายในมือ แต่ความทุ่มเทยังต่ำ เราใช้งบ2-3 ล้านล้านบาทสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและการต่อยอด 4.0” ศ.ธีรยุทธ กล่าว และว่า แต่ใช้งบเพื่อทรัพยากรพื้นฐานของเราเพียงในระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งคือ 1% หรือน้อยกว่า เทียบกับที่จีนเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารได้อย่างรวดเร็ว เช่น ศูนย์กลางอาหารจีน 10 แห่ง ส่งเสริมอาหารมีชื่อของมณฑลต่างๆ ตามตำนานบางอย่าง ขณะที่เกาหลีเองตั้งจากศูนย์มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอาหาร วัฒนธรรม หรือในญี่ปุ่นที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกในเรื่องอาหาร ญี่ปุ่นยกระดับทุกอย่างให้พรีเมี่ยมหมด ผลิตองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทุกด้าน
“เราเองกลับละเลยอย่างมาก เช่น ปล่อยให้คนจีนมาซื้อสวนทุเรียน มังคุด ลำไย และผูกขาดการขายผลไม้เหล่านี้ สภาพแหล่งท่องเที่ยวก็เสื่อมโทรมอย่างมาก ร้านอาหารเก่าแก่ในประเทศปิดตัวลงไป ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจ 1.0, 2.0 ของเราให้เข้มแข็งไปพร้อมๆ กับ 3.0, 4.0 ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังกว่านี้”
ศ.ธีรยุทธ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สังคมไทยในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหารยังไม่ไร้ซึ่งความหวัง แม้ดูเหมือนคนไทยจะเงียบเฉย แต่ความจริงการกระทำใดทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นของทหารหรือพรรคการเมืองจะยังคงถูกประเมินตัดสินอยู่ตลอดเวลา รวมถึงสังคมไทยยังมีพลังทางบวกซ่อนเร้นมหาศาล ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ใหญ่ 3 ครั้ง คือการชุมนุมมวลมหาประชาชนในปี 2557 ต่อมาในงานพระศพของพ่อหลวงร.9 และครั้งที่สามคือ การวิ่งของตูน บอดี้สแลม
ศ.ธีรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า สังคมไทยก็ใช่ว่าจะไร้ความหวัง บทเรียนประวัติศาสตร์บอกว่าการปฏิรูปโดยทหารหรือพลเรือนไม่เคยสำเร็จ เพราะไม่มีพลังจูงใจเพียงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักตั้งคณะทำงานผลิตแผนปฏิรูปและก็จบลง ความพยายามดึงเอาพลังสังคมมาช่วยเป็นพลังนำอาจเป็นแนวทางแบบใหม่ ที่ทำให้การปฏิรูปในจุดย่อยๆ เช่น ในท้องถิ่นเล็กๆ หรือเป็นประเด็นๆ เป็นโมเดลการแก้ปัญหาประเทศอย่างราบรื่นได้ แต่ถ้าทหารและพรรคการเมืองยังซ้ำรอยเดิม เส้นทางบ้านเมืองข้างหน้าก็จะสะดุดล้มอีกหลายหนก็ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเทศกาลข้าวใหม่ที่ทางเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวและพันธมิตรร่วมกันจัดขึ้นในครั้งนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2560 - วันปีใหม่ 2561 โดยกิจกรรมแรกคือ “งานบุญข้าวใหม่” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งการเกษตร” จากนั้นจะมีกิจกรรม “มอบข้าวใหม่ ทานข้าวใหม่ มงคลปีใหม่” ในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ โดยมุ่งสนับสนุนให้เกิดการบริโภคข้าวใหม่ในวันปีใหม่ เพื่อสร้างความเป็นมงคล และส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจในสินค้าเกษตร ซึ่งคือข้าวใหม่ จากข้าวสายพันธุ์ต่างๆ นั่นเอง