ภาคประชาสังคมชูแคมเปญ 'ถึงเวลาเผือก' หลังพบคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะสูงเกิน 50%
เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ชูเเคมเปญ 'ถึงเวลาเผือก' สร้างกระบวนการเเทรกเเซง เมื่อพบเห็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศบน 'ระบบขนส่งสาธารณะ' หลังผลสำรวจพบมีผู้ใช้บริการ 35% เคยพบเห็นเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เลือกนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง เดินหนี มีเเจ้งพนง.เเค่ร้อยละ 14.6 เเนะรัฐกำชับติดตั้งกล้องวงจรปิด โดยเฉพาะรถร่วม
วันที่ 21 พ.ย. 2560 เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง นำโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเคลือข่ายสลัมสี่ภาค จัดแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” เรียกร้องให้ประชาชนไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรื่อง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอดประเทศไทย กล่าวถึงแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่อยู่ร่วมกันในเมือง ร่วมกันช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่นิ่งเฉยเมื่อพบเห็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในพืนที่สาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาการที่ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากภาครัฐมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเข้ามาคุ้มกันและดูแลประชาชน หากรัฐให้ความสนใจในเรื่องนี้จะทำให้ประชาชนอยากเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีที่ประชาชนหรือเพื่อนร่วมทางพบเห็นสถานการณ์และยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยพลังเผือกของทุกคน เเละเชื่อว่าจะสามารถยับยั้งปัญหาหากคุกคามบนระบบสาธารณะได้
ด้าน ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือปฎิกิริยาของคนรอบข้างที่พบเห็นเหตุการณ์การคุมคามทางเพศ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า มีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะถึงร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ที่ระบุว่าเคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดกับผู้โดยสารอื่นร่วมเส้นทาง แต่มีการแทรกแซงตอบโต้เมื่อถูกคุมคามในอัตราส่วนที่น้อย
นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีการนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี ร้อยละ 25 และมีการแจ้งพนักงานประจำรถเพียงร้อยละ 14.6 เท่านั้น จึงได้จัดการรณรงค์ “ถึงเวลาเผือก” เพื่อให้คนในสังคมช่วยกันคิดค้นหาวิธีการแทรกแซงหรือตอบโต้ รวมทั้งสร้างทักษะในการแทรกแซงเพื่อหยุดพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่เห็นตรงหน้า
ขณะที่นางยงค์ ฉิมพลี ตัวแทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวเพิ่มเติมในส่วนเรื่องของการคุมคามทางเพศบนรถโดยสาร ขสมก. ยอมรับว่าในปัจจุบันยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยส่วนมากจะพบในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ เรื่องความปลอดภัยบนรถ ขสมก. ขอให้ผู้โดยสารไว้วางใจ เพราะมีการฝึกเพื่อรับมือในเรื่องนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งในปัจจุบันได้มีการปิดกล้องวงจรปิดในรถ ขสมก.ในเกือบทุกคัน
สุดท้าย น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหา สิ่งแรกที่ต้องแก้ไขคือทัศนคติ ที่ต้องทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นว่าการคุกความทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และไม่ควรนิ่งเฉยต่อการกระทำเหล่านี้ นอกจากเราควรรณรงค์แล้ว เรื่องของการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อผู้กระทำผิดก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ควรมีการแบ่งชั้นความผิดหรือแก้กฏหมายการคุกคามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนสิ่งที่ต้องแก่ไขถัดมาคือความต่อเนื่องในนโยบายภาครัฐ เช่นกรณีของกล้องวงจรปิด ทราบว่ามีติดเฉพาะในรถขสมก. แต่หากดูในรถร่วมให้บริการ ยังคงมีติดน้อยมาก อยากให้ภาครัฐมีการกำชับ ทั้งรถร่วมบริการ และรถขสมก.ให้อยู่ในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจ ปี 2560 พบมีเหตุการณ์คุกคาทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นกว่า 52% อันดับ 1 คือ รถเมล์ อันดับ 2 รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อันดับ 3 รถแท็กซี่ อันดับ 4 รถตู้ อันดับ 5 รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งความถี่ของการพบเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ มักสอดคล้องกับปริมาณการใช้บริการขนส่งสาธารณะประเภทนั้นๆ หรือขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการมาก ก็มักมีเหตุคุกคามทางเพศสูงตามไปด้วย