วันสิทธิเด็กสากล ดร.สุภางค์ ชี้แรงงานประมง ละเมิดทางเพศ ปัญหาลด- พิสูจน์สัญชาติยังไม่สำเร็จ
20 พฤศจิกายน วันสิทธิเด็กสากล ศ.ดร. สุภางค์ โชว์คุ้มครองแรงงานประมง ละเมิดทางเพศ ไทยทำสำเร็จระดับหนึ่ง ที่ยังไม่ชัดเจน เรื่องการพิสูจน์สัญชาติเด็ก ด้านเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ระบุทำเรื่องการศึกษา ในรอบ 10 ปี สามารถพาเด็กข้ามชาติเข้าเรียนในระบบการศึกษาได้แล้วกว่า 13,000 คน
เนื่องในวันสิทธิเด็กสากล วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสในภาคการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (MAST) และสถาบันอิศรา จัดงานเสวนา “ประเทศไทยกับความสำเร็จหรือล้มเหลวต่อการคุ้มครองทางสังคมเด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงกิจการประมงต่อเนื่อง พื้นที่แค้มป์ก่อสร้าง เด็กข้างถนน และเด็กผู้หญิงในภาคบริการและข้อเสนอการจัดการปัญหา การพัฒนาความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ” และนิทรรศการภาพถ่าย ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงวันสิทธิเด็กสากล จะเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่า ผู้ใหญ่ยังทำงานเรื่องสิทธิเด็กไม่มากพอ ซึ่งต้องหาวิธีช่วยเหลือ คุ้มครองเด็กๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข ช่วยทำให้โลกปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
ขณะที่นางสาวปฏิมา ตั้งปรัชญากูล มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวถึงการทำงานกับเด็กข้ามชาติทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา รวมถึงไทย ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี กาญจบุรี ระยอง ตราด ที่ผ่านมาเราทำเรื่องการศึกษา ในรอบ 10 ปี (2548-2560) สามารถพาเด็กข้ามชาติเข้าเรียนในระบบการศึกษาได้แล้วกว่า 13,000 คน
นางสาวปฏิมา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การทำงานของเครือข่าย LPN ยังไปช่วยเด็กกว่า 400 คน ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ ถูกกระทำทารุณร่างกาย และทำทารุณกรรมทางเพศ แค่ปีที่ผ่านมา ปีเดียวพบกว่า 73 คน แบ่งเป็นหญิง 45 คน ชาย 28 คน.
สำหรับรูปแบบของเด็กต่างชาติที่เผชิญ นางสาวปฏิมา กล่าวว่า มีตั้งแต่เป็นแรงงานบังคับ ทำงานใช้หนี้ ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้ค่าแรง ถูกละเมิดทางเพศ และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่ง LPN มีข้อเสนอแนะนอกจากเรื่องการให้ศึกษาแก่เด็กต่างชาติเพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการที่เหมาะสมแล้ว ควรยกระดับความร่วมกับภาคธุรกิจ ยกสถานะของเด็กต่างชาติ โดยการส่งเสริมให้กระทรวงมหาดไทยจะทะเบียนเด็กต่างชาติ เป็น “ผู้ติดตาม” เพื่อให้เด็กมีเอกสารอยู่ในประเทศไทยกับผู้ปกครอง ส่วนด้านสุขภาพ 0-7 ฟรี แต่หากเด็กอายุมากกว่า 7 ปี เก็บวันละบาทเพื่อให้ผู้ปกครองซื้อประกันสุขภาพ เป็นต้น
ด้านศ.ดร. สุภางค์ จันทวานิช ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ไม่คุ้มครองแรงงานภาคเกษตร นี่กลายเป็นช่องโหว่ทำให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกตรวจสอบ
“ประเทศไทยที่ทำงานคุ้มครองทางสังคมให้เด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง การบริการทางเพศ ถือว่าทำสำเร็จระดับหนึ่งด้วยกฎหมายค้ามนุษย์บ้านเรารุนแรงมาก จึงทำให้นายจ้างเกิดความเกรงกลัว เช่น ที่จังหวัดสมุทรสาคร ต้องขายเรือเพื่อจ่ายค่าปรับ เป็นต้น”ศ.ดร. สุภางค์ กล่าว และว่า เด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง ภาพรวม ถือว่า ลดลง แม้จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม
ส่วนสิ่งที่ประเทศไทยยังทำไม่สำเร็จ หรือไม่ชัดเจน ศ.ดร. สุภางค์ กล่าวว่า คือ เรื่องสัญชาติของเด็กข้ามชาติ แม้จะมีความชัดเจนว่า ให้พ่อแม่พิสูจน์สัญชาติ เด็กก็จะได้พิสูจน์สัญชาติไปด้วยนั้น แต่แรงงานไม่ได้มาพิสูจน์สัญชาติทุกคน ซึ่งเรื่องนี้บ้านเรายังทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร หรือบางคนไม่มีแม้แต่หลักฐานการเกิด
“โอกาสทางด้านการศึกษา ประเทศไทยเปิดโอกาสให้เด็กต่างชาติเข้าเรียนหนังสือ ถือว่า ทำสำเร็จ แต่ยังมีความท้าทายทำอย่างไรจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างชาติในโรงเรียนปกติ ซึ่งมีทั้งอุปสรรคเรื่องภาษา และการศึกษายังไม่เหมาะสมกับเด็กต่างชาติ ไม่ตรงกับความต้องการ หรือแม้แต่การจัดศูนย์การเรียน ตามจังหวัดต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่รับรอง ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ศ.ดร. สุภางค์ กล่าวถึงการตระหนักรู้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ยังมีน้อย ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือ 18 ปี ทำงาน ขณะที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนก็ขาดการตรวจสอบอายุเด็กต่างด้าว หลายแห่งใช้วิธีให้นายหน้าหาคนมาให้ ไม่ตรงตามอายุจริง
“วันนี้กลไกการตรวจสอบแรงงานต่างชาติในบ้านเรายังอ่อน ผู้ตรวจแรงงานมีจำนวนเพียงหลักร้อย เมื่อเทียบกับแรงงานต่างชาติจำนวนหลักล้านคน ดังนั้นโอกาสให้เกิดการคุ้มครองแรงงานที่ดีจึงไม่เกิดขึ้น ซึ่งต้องการการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง อย่ามาแก้ไขที่ปลายเหตุ”