เมื่อเด็กหนุ่มจากนราฯ ขึ้นพูดกลางสภา เตือนรัฐอย่าเลือกปฏิบัติ
"ผมกับกลุ่มเพื่อนในละแวกบ้านมักถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเป็นพิเศษ ทำให้คิดว่าเป็นเพราะผมนับถือศาสนาอิสลามหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ถึงได้เข้มงวดแบบนี้"
นี่คือความในใจตอนหนึ่งของ ชารีฟ ภควันต์ เยาวชนจาก จ.นราธิวาส ที่้ลุกขึ้นเปิดไมโครโฟนพูดกลางห้องประชุมรัฐสภา ระหว่างร่วมกิจกรรมกับสภาเด็กและเยาวชน เพื่อยื่นข้อเสนอแนะการยุติความรุนแรงต่อเด็กให้กับรัฐบาล โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี มารับฟังด้วยตนเอง
กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโครงการเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ย.60 โดยมีเยาวชนกว่า 200 ชีวิตจากทั่วประเทศเข้าร่วม ภายใต้หัวข้อ "Every child can be a HERO" หรือ "เราทุกคนเป็นฮีโร่ได้" ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กับสภาเด็กและเยาวชน
ข้อเสนอ 4 ข้อที่กลุ่มเยาวชนเรียกร้องก็คือ
1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนบทบาทการมีส่วนร่วมของเด็ก พร้อมป้องกันและช่วยเหลือผู้อื่นจากความรุนแรง
2.การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐให้สามารถช่วยเหลือเยาวชนจากความรุนแรงได้
3.บริการทางสังคมที่เหมาะสมกับเยาวชนผู้ถูกกระทำและกระทำความรุนแรง
และ 4.พัฒนาระบบบริหาร กฏ ระเบียบในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกอยู่ในวงจรความรุนแรง
นอกจากข้อเสนอในภาพรวมทั้ง 4 ข้อแล้ว ยังมีเยาวชนบางคนสะท้อนเรื่องราวปัญหาของพวกตนจากพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นของการเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งก็คือความรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจ ชารีฟ ภควันต์ นั่นเอง
"ผมไม่อยากให้เจ้าหน้าที่มองแค่การแต่งกายเท่านั้น เพราะคนมุสลิมมลายูที่เขาใส่ชุดโต๊ปสีขาว พร้อมจะไปทำพิธีละหมาด หรือชุดมลายูอื่นๆ เป็นชุดที่เขาตั้งใจไปประกอบศาสนกิจ ซึ่งหมายความว่าพวกเขากำลังจะไปทำความดีกัน แต่ทุกครั้งที่ใส่ชุดแบบนี้ กลับกลายเป็นจุดสังเกตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และก็ขอตรวจค้นอย่างละเอียดทุกครั้ง"
ชารีฟ ยังบอกติดตลกว่า ทุกครั้งที่ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านด่านของเจ้าหน้าที่ ก็จะถูกเรียกตรวจตลอด
"แน่นอนว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ของเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านบางคนจดจำในมุมที่แตกต่างกัน หากใครเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มีภารกิจแบบนี้ก็เป็นมุมหนึ่ง แต่ถ้าบางคนไม่เข้าใจ เขาก็จะคิดอีกแบบหนึ่งได้ ฉะนั้นควรปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม" ชารีฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าว
ขณะที่เด็กจากชนกลุ่มน้อยชายขอบ ก็เผชิญกับแรงกดดันในการดำเนินชีวิตปกติไม่แพ้กัน อย่าง นพิณ ลายใส สาวน้อยชนเผ่าดาราอาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บอกว่า แม้เธอจะเกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินไทย แต่กลับมีปัญหาการยืนยันสัญชาติ ทำให้เสียสิทธิ์ในหลายเรื่อง รวมถึงพื้นที่ทางสังคม จึงอยากให้ภาครัฐหันมาใส่ใจแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที
"ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือการไม่ได้รับความสนใจในเรื่องการยืนยันสถานะ ที่ผ่านมาทั้งทางอำเภอและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ค่อยให้ความสนใจ ก็อยากให้ทางภาครัฐช่วยมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะพวกหนูก็มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว" นพิณ บอก
เมื่อเยาวชนได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาผ่านผู้ใหญ่ในรัฐบาลโดยตรงแบบนี้ ทำให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะเร่งผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข
ขณะที่ตัวแทนองค์การยูนิเซฟ นายโธมัส ดาวิน บอกว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและนโยบายสำหรับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กข้ามชาติ ให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กเหล่านี้กลับเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากผู้คนในสังคม การต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริการขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความกลัวที่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่การย้ายถิ่นที่อยู่ ฉะนั้นภาครัฐควรมีทางออกให้กับเยาวชนเพื่อลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง
เพราะเด็กและเยาวชนในวันนี้ ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า อนาคตของประเทศย่อมอยู่ในมือของพวกเขา...
----------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์
บรรยายภาพ :
1, 3 ชารีฟ ภควันต์ เยาวชนจาก จ.นราธิวาส
2, 4 และ 5 บรรยากาศการประชุมสภาเด็กและเยาวชน (ภาพสุดท้าย คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เดินเข้าไปคุยกับเด็กๆ และเยาวชน)
ขอบคุณ :
ภาพชารีฟ : ณรงค์กร สุบงกช เนชั่นทีวี
ภาพอื่นๆ : สุขุม ปรีชาพานิช ยูนิเซฟ