นักรัฐศาสตร์ชี้ “กองทุนสตรี-กองทุนหมู่บ้าน” ยิ่งรวมศูนย์อำนาจ-ทำท้องถิ่นอ่อนแอ
นักรัฐศาสตร์ชี้ ทั่วโลกใช้การปกครองกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มั่นใจชุมชนมีศักยภาพจัดการตนเองได้หลายเรื่อง แขวะทุ่มงบกองทุนพัฒนาสตรี-กองทุนหมู่บ้านเเค่สร้างฐานเสียง ยิ่งรวมศูนย์-ขาดความยั่งยืนระยะยาว
วันที่ 30 มี.ค. 55 มีการประชุมวิชาการ “สมดุลอำนาจ ชุมชนท้องถิ่น/รัฐ” ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ “เพิ่มพลังพลเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ” ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา โดย นายสมพร ใช้บางยาง อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 มีเจตนารมย์ให้กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น แต่กระทั่งปัจจุบันระบบราชการไทยยังไม่ได้ตอบสนองมากนัก เพราะยังยึดติดกับนโยบายรัฐบาลที่สั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจ ดังนั้นการใช้อำนาจรัฐกับชุมชนท้องถิ่นจึงไม่สามารถสมดุลได้
“แม้จะถ่ายโอนการบริหารจัดการมากกว่าอดีต ก็เป็นการถ่ายโอนการทำงานเท่านั้น หากงบประมาณและการออกบังคับใช้กฎหมายยังถูกจำกัดและรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง”
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแบบแนวดิ่งที่สั่งการและกำกับให้ปฏิบัติตาม โดยท้องถิ่นไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ จึงต้องเรียกร้องให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบเพื่อให้เกิดอำนาจตรวจสอบซึ่งกันและกัน จึงจะสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทั้งหมดมิใช่แนวทางที่ดี เพราะบางเรื่องท้องถิ่นก็ไม่สามารถจัดการได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง เช่น ตลาดการซื้อขายสินค้า การบรรเทาสาธารณภัย การควบคุมโรคระบาด แต่หลายเรื่องที่สามารถโอนสู่ท้องถิ่นได้ เช่น การจัดการทรัพยากรในชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม
ศ.ดร.จรัส ยังกล่าวว่า รัฐบาลควรลดการแทรกแซงท้องถิ่นผ่านโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่เป็นการเพิ่มอำนาจและฐานเสียงของตนเอง เช่น กองทุนพัฒนาสตรี กองทุนหมู่บ้านละล้าน แต่ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นผ่านกิจกรรมที่ยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่จะเป็นผลดีระยะยาว
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ กล่าวว่าปี 2516 สังคมไทยเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นจนเป็นชนวนเกิดสงครามกลางเมือง หลายคนมีความรู้ประชาธิปไตยเพียงต้องมีรัฐธรรมนูญและสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความคิดเชิงเดี่ยวที่ผิด แต่ปัจจุบันความรู้ด้านประชาธิปไตยของคนไทยมีมากขึ้นว่าอำนาจที่แท้จริงของการปกครองต้องกระจายให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง เช่นเดียวกับทิศทางในหลายประเทศทั่วโลก
“เชื่อว่าชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพในการพัฒนา เพราะมีความเข้าใจในสังคมของตนเอง รัฐบาลเพียงสนับสนุนก็จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนประเทศได้ดี แต่หากรัฐยังไม่ให้ความสำคัญตรงนี้ อนาคตประเทศคงเสียหายจากการบริหารเพียงบุคคลกลุ่มเดียว” ดร.เอนก กล่าว
ทั้งนี้ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งนี้ จะมีการนำเสนอร่างมติที่เป็นข้อเสนอแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐและปรับสมดุลระหว่างรัฐและท้องถิ่น อาทิ การสร้างความเป็นธรรมด้านงบประมาณให้ท้องถิ่น เรียกร้องจัดตั้งองค์กรอิสระให้มีหน้าที่จัดทำกฎหมายเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น นอกจากนี้ให้ตรากฎหมายที่มีสาระครอบคลุมถึงการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้อปท. รายได้อปท. และการบริหารข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 238 และ 303 บัญญัติไว้.