มาตรฐาน ก.สาธารณสุข! กรณีหมอขับรถชนคน กับกรณี เงินทอน-จัดซื้อจัดจ้าง
"...กรณีการกล่าวหาในเรื่องจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน เวลาผ่านมาประมาณ 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องผลการสอบสวนที่ชัดเจน และยังไม่ดำเนินการโยกย้ายผู้เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ “เพื่อความสะดวกในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง” เหมือนกรณีหมอยอร์น..."
มีข้อแตกต่างอย่างชัดเจนต่อการบริหารจัดการภายในองค์กรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างข้าราชการที่ขับรถชนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บาดเจ็บสาหัส กับ ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาพัวพันกับเรื่องจัดซื้อจัดจ้างในโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง กล่าวคือ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาให้ นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 12 เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อความสะดวกในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ดำเนินการสืบข้อเท็จจริง ในทุกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งการสืบข้อเท็จจริงเป็นการทำคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลออกมาอย่างไร ก็จะดำเนินการตามระเบียบของทางราชการต่อไป (อ้างอิงข่าวจาก http://news.thaipbs.or.th/content/267791)
ทั้งนี้ นพ.ยอร์น เป็นผู้ต้องหาในคดี ขับรถชน นายสมชาย ยามดี (นายนัท) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข ภายในกระทรวงสาธารณสุข อาการสาหัส ขณะนี้ รักษาตัวอยู่ใน รพ.เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เวลา 20.30 น. ที่ผ่านมา
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ข้าราชการในโรงพยาบาล 2 แห่งตกเป็นข่าวเกี่ยวพันกับการจัดซื้อจัดจ้าง แห่งแรก กรณี การรับเงินทอน จากบริษัทยา- เครื่องมือแพทย์ จำนวนกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ,การจ้างเหมา CT - MR1 (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) โดยจัดจ้างเอกชน มาดำเนินการมีราคาจ้างเหมาสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ 2 – 3 เท่าตัว รวมมูลค่า 33.6 ล้านบาท/ปี และ การก่อสร้าง ตกแต่งภายในห้องผ่าตัด 14 ห้อง รวมมูลค่า 159 ล้านบาท มีราคาวัสดุสูงเกินกว่าจริง ตกเป็นข่าวว่าถูกร้องเรียน เมื่อกลางเดือน ส.ค.2560 หรือเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
แห่งที่สองกรณีหอพักแพทย์ ใน รพ.นครชัยศรี จ.นครปฐม งบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท สร้างตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ทำให้กลายสภาพเป็นหอพักร้าง ตกเป็นข่าวเมื่อต้นเดือน ต.ค.2560 (อ่านประกอบ:พบตึกร้าง รพ.นครชัยศรี 9.1 ล.สร้างเสร็จ 7 ปีไร้คนอาศัย-จนท.แจงรอหอพักพยาบาลก่อน)
กรณีข้อกล่าวหาจัดซื้อจัดจ้างโรงพยาบาลแห่งแรกนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 นายโสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สั้น ๆ ว่า เบื้องต้นสั่งการให้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 6 (ปัจจุบัน เป็นรองปลัดกระทรวงฯ) เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างดำเนินการ (อ่านประกอบ:เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ)
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า ‘ผู้ใหญ่’บางคนพยายามทำให้เรื่องดังกล่าวเงียบหาย หรือ ไม่สอบสวนตามประเด็นร้องเรียน
ส่วนโรงพยาบาลกรณีหลังไม่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข สอบสวนหรือดำเนินการ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่
กรณีการกล่าวหาในเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง เวลาผ่านมาประมาณ 4 เดือน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องผลการสอบสวนที่ชัดเจน ยังไม่ดำเนินการโยกย้ายผู้เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ “เพื่อความสะดวกในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง” เหมือนกรณีหมอยอร์น
สะท้อนถึงการใช้ ‘หลักการ’ บริหารจัดการปัญหาที่แตกต่างกัน ระหว่างการกระทำผิดทางอาญาของบุคคล เรื่องทางสังคม เรื่องภาษีประชาชน และเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ? ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลเหมือนกัน
หรือว่า เรื่องคอร์รัปชัน เรื่องประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องปกติธรรมดา ด้านชาทุกยุคทุกสมัย ครับ?