นักชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาฯ ชี้คนไทย ทุก ๆ 3 คน มี 1 คนเสี่ยงเป็นมะเร็ง
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิด "ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ” นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ยันชีววิทยาเชิงระบบ สำคัญมากต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อศึกษาทำความเข้า "มะเร็ง อัลไซเมอร์" ระบุชัด มะเร็งคร่าชีวิตคนไทยหญิง-ชายอันดับต้น ๆ ผู้ป่วยรักษาแล้วหายขาด พบเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน แถมต่อคนใช้เงินเฉลี่ยมากถึง 8 ล้าน ขณะที่การนำเข้ายา Biologics จากต่างประเทศ 100%
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเปิดศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ เผยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ล้ำสมัย ในงาน ERROR NO MORE ณ ห้องPlayhouse โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSB) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อและปฏิบัติงานในบทบาทนักวิทยาศาสตร์ ประจำสถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติ National Institutes of Health (NIH) สหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่า ชีววิทยาเชิงระบบ (Systems Biology) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ และในประเทศไทยควรจะมี เพราะเป็นการศึกษาทำความเข้าใจความซับซ้อนภายในสิ่งมีชีวิตที่เป็นระบบใหญ่ โดยหาความสัมพันธ์ทางชีววิทยาที่เชื่อมโยงกันในระดับโมเลกุล ยีน โปรตีน รวมถึงยังสามารถนำมาใช้หาความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะตรวจพบได้อย่างละเอียดถึงตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุได้ จนสามารถนำไปต่อยอดการเข้าใจในกลไกของโรคต่าง ๆ อย่างเช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ เป็นต้น แถมเป็นการช่วยพัฒนาการรักษาโรคที่ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น งานชีววิทยาเชิงระบบ เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นศาสตร์ที่นำไปใช้ได้จริง
นพ.ไตรรักษ์ กล่าวถึงการเปิด “ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ” ภายในศูนย์จะมีความร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ แพทย์เภสัชกร นักวิจัยชีววิทยาด้านมะเร็ง นักชีววิทยาด้านภูมิคุ้มกัน นักคอมพิวเตอร์ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทดลอง สัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรม รวมถึงมีนักวิจัยชาวต่างชาติ เข้ามาร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่จะนำไปใช้พัฒนาการบริการทางวงการการแพทย์ไทยในรูปแบบใหม่
นพ.ไตรรักษ์ กล่าวอีกว่า คนไทยทั้งหญิงและชายที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยสถิติพบว่า ร้อยละ 40 ของแต่ละคนมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ และทุก ๆ 3 คน จะมี 1 คนที่โชคร้ายที่จะเป็น
"ที่น่าเสียใจยิ่งกว่าคือการรักษาผู้ป่วยจะพบผู้ป่วยที่รักษาแล้วหายขาด เพียงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมะเร็ง และอีกร้อยละ 50 ที่เสียชีวิตมักจะพบว่า ระหว่างการรักษามีโรคแทรกซ้อนด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องรักษาให้หาย ซึ่งอาจจะไม่หายขาดก็ได้ ต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยมากถึง 8 ล้านบาทต่อคน เพราะการรักษาแบบฉายรังสี การให้คีโมก็ยังไม่ใช่การรักษาที่หายขาดได้ ส่วนยา Biologics รวมถึงแอนติบอดีเป็นยาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจับและยับยั้งการทำงานของโมเลกุลผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้ายา Biologics จากต่างประเทศ 100% จึงทำให้มีราคาแพงมาก คนไทยส่วนใหญ่จึงเข้าไม่ถึง และเบิกไม่ได้ด้วย"
ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ในการวิจัยและพัฒนายา Biologics หรือ ยาภูมิต้านมะเร็งในประเทศไทย ถือเป็นโจทย์ของศูนย์ฯ ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นยาที่คนไทยเข้าถึงได้ โดยการใช้ชีววิทยาเชิงระบบเป็นกระบวนการพัฒนายาให้สำเร็จ หากทำได้ผลที่ออกมาจะไม่เพียงแต่เป็นเรื่องสุขภาพของประชาชน แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้ายาไปได้ถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แถมยังจะช่วยผลักดันผลักดักเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ เพราะในตลาดของยาภูมิต้านมะเร็งนั้นมีมูลค่ามากถึง 9 ล้านล้านบาทต่อปี
"แต่ก็มีข่าวดีให้ผู้ป่วยคนไทยบ้างในขณะนี้ ทางศูนย์ได้มีการเริ่มดำเนินการวิจัยไปแล้วบางส่วน คือ การนำก้อนเนื้อของผู้ป่วยมาตรวจหาการกลายพันธุ์และกำลังอยู่ในขั้นตอนการลองผลิตวัคซีน หรืออยู่ในช่วงของขั้นตอนที่ 2 แล้ว"
ด้าน ดร.พิริยะ วงศ์คงคาเทพ 1 ในทีมนักวิจัยของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSB) กล่าวถึงการนำชีววิทยาเชิงระบบ (systems biology) ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย แต่ว่าเป็นหมายที่สำคัญของศูนย์ฯ จะต้องทำให้ได้ กลุ่มแรกที่จะเน้นยำคือโรคมะเร็ง โรคที่รักษายากและมีโอกาสหายขาดไม่ถึง 50% แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งประเภทไหน และการรักษาที่ผ่านมาจะใช้วิธีการผ่าตัด การฉายรังสีและการใช้ยาคีโม เพื่อทำการรักษาเพียงแค่ให้เซลล์มะเร็งยุบลงไปได้ อัตราของผู้รอดชีวิตจึงไม่ได้มีเพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบ 30-40 ปีก่อน ก็เพิ่มขึ้นมาแค่ 20% เท่านั้น
" 2 ปัจจัยการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เน้นกลุ่มที่ชอบสูบบุหรี่"
ด้าน ดร.ชาติกร บุญไกร 1 ในทีมนักวิจัยของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSB) กล่าวเสริมถึงแนวทางที่ร่างกายใช้ในการกำจัดเซลล์ ว่า คือการใช้ระบบการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีเซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นตัวสำคัญที่สุด เพราะมีหน้าที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในร่างกาย และช่วยกำจัดสารพิษ ของเสียบางชนิด รวมทั้งช่วยกำจัดเศษเซลล์ต่าง ๆ ที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติ แต่ด้วยการเซลล์มะเร็งมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจดจำและกำจัดให้หมดออกไปได้ และเซลล์มะเร็งเหล่านั้นยังมีกลไกการแสดงออกกับโปรตีน ทำให้เมื่อเซลล์มะเร็งไปโดนเซลล์เม็ดเลือดขาวก็จะไม่สามารถกำจัดได้เช่นกัน “เปรียบเหมือนกับ ผู้ร้ายยื่นมือวิเศษไปปิดปากกระบอกปืนทหาร แม้จดจำได้ แต่ไม่มีอำนาจจัดการ”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิง สุชาดา กีระนันท์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSB) ถือเป็นศูนย์วิจัยที่รวมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านชีววิทยาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ที่จะมีวิทยาการล้ำสมัยเพื่อการวินิจฉัยการรักษา และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตได้อย่างตรงจุด ถือเป็นความโชคดีมากและโอกาสเหมาะที่ได้บุคคลากรที่มีความตั้งใจจริงและต้องการช่วยเหลือผู้อื่นอย่าง นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล และเป็นความหวังของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงาน ERROR NO MORE ได้มีการจัดระดมทุน โดยเชิญชวนร่วมสนับสนุนผ้าพันคอลายดอกราชพฤกษ์ จากภาพเขียนสีน้ำของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินสีน้ำ มีจำหน่ายราคา 1000 บาท/ผืน ที่ร้านจันกะผัก มูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 หรือสามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ (ค่าส่ง EMS 50 บาท/ผืน) โดยรายได้ทั้งหมดนำมาสนับสนุนงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก FB: CU Cancer Immunotherapy Fund