อุดช่องโหว่ .. ตรวจวัดเมาขับ สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม
จากเหตุการณ์ คุณหมอยอร์น (นพ.ยอร์น จิระนคร) ขับรถชน รปภ. ขณะปิดประตูกระทรวงสาธารณสุขและลากไปไกลอีก 20 เมตร จนทำให้ รปภ.ท่านนี้บาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในช่วงเวลา 2 ทุ่ม วันที่ 10 พย. 2560 โดยตำรวจได้ตั้ง 4 ข้อหาหนัก (1) เมาแล้วขับ (2) ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส (3) ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ไม่ยินยอมให้เป่าแอลกอฮอล์ และ (4) พยายามฆ่า https://www.thairath.co.th/content/1126174
ในประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัย คือ “ปฎิเสธตรวจวัดแอลกอฮอล์” ทำให้ไม่ทราบผลตรวจว่ามีระดับแอลกอฮอล์เท่าไร ? โดยกระแสส่วนใหญ่ก็คาดว่าน่าจะดื่มจึงไม่ยอมตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในประเด็นนี้ แม้ทางตำรวจจะยึนยันหนักแน่นว่าพนักงานสอบสวนแจ้งให้ตรวจวัดและมีพยานแวดล้อมต่างๆ ที่สามารถเอาผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงชั้นศาลก็มีโอกาสที่จะถูก “ยกฟ้อง” ได้
กรณีล่าสุดที่ศาลยกฟ้องคือ เหตุการณ์เบนซ์ชนฟอร์ด เป็นเหตุให้มีนักศึกษา ป.โท เสียชีวิต 2 ราย แต่เมื่อนำผู้กระทำความผิดไปโรงพยาบาลและแจ้งให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ก็ได้รับการปฎิเสธ โดยพนักงานสอบสวนและพยานในโรงพยาบาลก็ไม่สามารถยืนยันการแจ้งขอเจาะได้ชัดเจน ที่สำคัญในคำพิพากษาศาลระบุว่า
“ โรงพยาบาล.. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยเจาะเลือดตรวจได้แต่ไม่ทำ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า พนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งให้ทดสอบโดยการเจาะเลือดจำเลย เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติดแล้วจำเลยขัดขึนไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันควร กรณีจึงไม่อาจรับฟังตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นและขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้ ... ”
อะไรคือ “ช่องโหว่” หรือปัญหาที่จะพบกรณี “ปฎิเสธตรวจวัดแอลกอฮอล์”
ปกติแล้วการปฎิเสธตรวจวัดแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่จะเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
(1) กรณีตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่บนถนน เช่น ด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์หรือด่านตรวจเมาขับ ปัจจุบันปัญหานี้ลดน้อยลงเพราะมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยมีสาระสำคัญคือ “..ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้น ยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43(2) ”
อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการตรวจวัด แต่แนวโน้มก็ค่อยๆ ลดลงเพราะมีการเตรียมการของทางตำรวจ อาทิเช่น
- ไม่ยอมเป่าทันที ถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ หรือเอะอะ โวยวาย
- โต้เถียงว่าเครื่องเป่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลสอบเทียบ (calibrate) หลอดเป่าไม่สะอาด
- บางรายมีการโทรหาผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือ ฯลฯ
(2) กรณีตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่เมื่อมีอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในกรณีคนขับบาดเจ็บไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อพนักงานสอบสวนมีข้อสงสัยจะขอตรวจวัดแอลกอฮอล์ จะต้องอาศัยอำนาจตาม มาตรา 131/1 พรบ.วิธีพิจารณาความอาญา 2477 ซึ่งระบุว่า กรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ .. หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลตรวจพิสูจน์ที่หากผลการตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหา..”
ในทางปฎิบัติจะพบว่ากรณีตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลยังเป็น “ช่องโหว่” ที่สำคัญ เพราะขาดแนวปฏิบัติรองรับที่ชัดเจน ได้แก่
2.1) พนักงานสอบสวน ไม่สามารถมาที่โรงพยาบาลได้ทันที ในบางครั้งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ในขณะที่ทุกๆ 1 ชั่วโมงระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงเฉลี่ย 15-20 mg%
2.2) การร้องขอของพนักงานสอบสวนกระทำโดยวาจา เช่นเดียวกับผู้ต้องหาปฏิเสธโดยวาจาซึ่งจะยากต่อการพิสูจน์ว่าได้มีการแจ้งหรือการปฏิเสธหรือไม่
2.3) ผู้ต้องหามีข้ออ้าง เช่น กลัวเจาะเลือด (กลัวเข็ม) อย่างกรณีคุณเจนภพ รถเบนซ์ชนฟอร์ด, อ้างขอไปรักษาในโรงพยาบาลที่กำหนดเท่านั้น ฯลฯ
2.4) อุปสรรคอื่นๆ เช่น การมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือด พนักงานสอบสวนต้องมีภาระในการสำรองจ่ายไปก่อน, ผลเลือดต้องรอหลายวัน, รวมทั้ง กรณีเสียชีวิตการเจาะเลือดจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ โรงพยาบาลขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องยุ่งยากในการส่งศพไปชัณสูตร ฯลฯ
ข้อพิจารณาเสนอแนะ เพื่ออุด “ช่องโหว่” ในการตรวจวัดแอลกอฮอล์
เพื่อให้เกิดระบบจัดการตรวจวัดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกรณีอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ไปรักษาที่โรงพยาบาล จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการและเครื่องมือสำหรับผู้ปฎิบัติให้ชัดเจน ได้แก่
(1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฎิบัติในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่มารักษาที่โรงพยาบาล
- กำหนดให้มี “แบบฟอร์ม” ให้ผู้ขับขี่ที่ปฎิเสธตรวจวัดเซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐาน
- กรณีไม่ยอมเซ็นชื่อ ก็ให้พนักงานสอบสวนและพยานเซ็นกำกับว่าได้แจ้งขอตรวจวัดแล้ว ทั้งนี้ ควรพิจารณาบันทึกด้วยกล้องเพื่อมีคลิปว่าได้แจ้งและผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ยอมเซ็นไว้ด้วย
- จัดทำเป็นขั้นตอนปฏิบัติ (Flow Chart) เพื่อให้ชัดเจนในการสื่อสารและนำไปปฎิบัติในทุกระดับ
- มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนสำหรับคู่กรณีที่พบว่าเจ้าพนักงานหรือบุคลากรสถานพยาบาลไม่ดำเนินการตามขั้นตอนปฎิบัติ
(2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น นำเรื่องเข้าศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อตรวจวัดแอลกอฮอล์ อาจจะใช้แนวทางให้สามารถเรียกเก็บจากผู้ที่มีผลแอลกอฮอล์เกิน 50 mg% (มีความผิดตามกฎหมาย) หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น งบสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ หรือประกันภัย เพราะล่าสุดกรณีที่ผู้ขับขี่ที่แอลกอฮอล์เกิน 50 mg% ถ้ามีประกันภาคสมัครใจก็ไม่ได้รับความคุ้มครองจ่ายชดเชยค่าเสียหาย-ค่าซ่อมรถ ฯลฯ
(3) เร่งสนับสนุนให้มีเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์สำหรับเจ้าพนักงานสอบสวน เพราะเมื่อไปถึงจุดเกิดเหตุจะพบว่าผู้ขับขี่บางส่วนไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ก็ไม่สามารถตรวจวัดได้ เนื่องจากจะใช้สำหรับเจ้าพนักงานจราจรออกไปตั้งด่านตรวจเมาขับ หรือประจำอยู่ที่สถานีตำรวจฯ ส่งผลให้มีการตรวจล่าช้า ค่าแอลกอฮอล์ในเลือดก็ลดต่ำกว่าความเป็นจริง
(4) เมื่อสามารถตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้เข้มงวดและครอบคลุมทั้งจุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล จะมีผู้ขับขี่บางส่วนที่จะตัดสินใจชนแล้วหนีออกไปจากที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้ถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ กรณีนี้ทางพนักงานสอบสวนและอัยการ ควรพิจารณาตั้งข้อหาหนักเพราะมิเช่นนั้น ผู้กระทำผิดก็จะเรียนรู้และเลือกที่จะชนแล้วหนี (Hit & Run) เหมือนหลายๆ ประเทศที่โทษเมาขับจะรุนแรง
ในแต่ละปีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รับแจ้งอุบัติเหตุบนถนนถึง 3 แสนกว่าเหตุการณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีคดีอุบัติเหตุจราจรเกือบแสนคดี แต่เรามีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายได้ไม่ถึง 20 % ของคดีที่มีคนตายหรือบาดเจ็บสาหัส
เหตุการณ์ของนายแพทย์ท่านนี้ ได้กระตุ้นคนในสังคมให้หันมาถามหาความเป็นธรรมในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่จะต้องเกิดกับทุกฝ่ายไม่เลือกปฎิบัติ ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข จะได้จับมือกันปิด “ช่องโหว่” การตรวจวัดเมาขับ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก stopdrink.com