‘ธีระชัย’ ซัดร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ จงใจให้เกิดการแปรรูปชัดเจน
‘ธีระชัย’ ซัดร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ฉบับใหม่ จงใจให้เกิดการแปรรูปชัดเจน ผนวก ร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่รัฐบาลเตรียมยื่นเข้าสนช. ลดนิยามรัฐวิสาหกิจลง เปิดทางบริษัทชั้นหลาน-เหลน ให้เอกชน
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ในการแถลงข่าวการกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของในรัฐบาล เรื่อง "การใช้อำนาจมิชอบ และปัญหาการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลปัจจุบัน" ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงในประเด็นเรื่องการฮุบรัฐวิสาหกิจและการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
โดยนายธีระชัย กล่าวว่า สิ่งที่สหภาพรัฐวิสาหกิจและภาคประชาชนกังวลต่อ ร่างพ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ที่จะเปิดให้มีการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ โดยเบื้อต้นจะโอนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 11 แห่ง ซึ่งมองว่าการที่จะโอนความเป็นเจ้าของไปอยู่ภายใต้ “ฝาชี” เดียว ภายใต้บรรษัทแห่งชาติ ทำเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงแปรรูปได้
“แม้ว่าภาคราชการที่เกี่ยวข้อง พยายามชี้แจงว่า ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้น เพราะการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และจะไม่ขาย” นายธีระชัยกล่าว และว่า แม้จะบอกว่าไม่มีเจตนาที่จะแปรรูป แต่ในทางปฏิบัติ ธุรกิจถึงไม่มีการขายหุ้นในส่วนก.คลังถือหุ้นก็ตาม แต่รัฐวิาหกิจสามารถจัดตั้งบริษัทลูกและบริษัทหลานได้ (อ่านประกอบ: ผอ.สคร. ย้ำ ร่างพ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ไม่มีเจตนาแปรรูปซ่อนเงื่อน )
นายธีระชัย กล่าวถึงกรณีสหภาพฯห่วงคือบริษัทในชั้นลูกและหลาน จะก่อการแปรรูปได้นั่นเอง เพราะสามารถเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดขาย IPO ได้ อาจเปิดให้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น ในบริษทลูกและหลานเหล่านั้น เป็นความเสี่ยงที่ยังไมได้มีการแก้ไข
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ พิจารณาในชั้นกรรมมาธิการวิสามัญ สนช.มีความพยายามเชิญภาคประชาชนไปร่วมในระดับอนุกรรมการฯ แต่เราไม่เข้าไปร่วมเเพราะเห็นว่า หลักการของร่างฯ ฉบับนี้ตั้งอยู่ไม่ถูกต้องมาแต่ต้น การแก้ไข ประการใดไม่สามารถทำให้ดีขึ้นมาได้”
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความเห็นก็จริง แต่ตอนนั้นยังเป็นร่างเดิม แต่เมื่อมีการแก้เพิ่มส่วนการจัดตั้งบรรษัทแล้ว ไม่มีการเอามารับฟังใหม่ เราจึงถือว่า ไม่มีการรับฟังตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญมีข้อมูลว่า มีความพยายามที่จะดำเนินการที่สอดรับกัน เพื่อให้การแปรูปรัฐวิสาหกิจ เกิดขึ้นโดยง่าย โดยทางรัฐบาลมีการยกร่างกฎหมายอีกสองฉบับ เตรียมเสนอให้ สนช. (1.) คือ ร่างกฎหมายวิธีการงบประมาณ (2) ร่างกฎหมายวินัยการเงินและการคลัง ปรากฏว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนิยามรัฐวิสาหกิจให้ต่างจากเดิม
“นิยามรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปัจจุบันกำหนดความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ถึง 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่หนึ่ง บริษัทแม่ ซึ่งรัฐบาลถือหุ้น เกินร้อยละ 50 ชั้นที่สองคือบริษัทลูก โดยรัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ชั้นที่สามคือ บริษัทหลาน ซึ่งคือรัฐในสองชั้นก่อหน้าถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 และในชั้นที่สี่บริษัทเหลน คือทั้งหมดในสามชั้นรวมกันถือหุ้นเกินร้อยละ 50”
ในร่างกฎหมายขณะนี้ นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า ตัดเหลือเพียงสองชั้น คือตัดชั้นสามและสี่ออกไป จะไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเข้ามาในระบบงบประมาณ หลุดออกไปจากการกำกับโดยรัฐสภา หลุดออกไปจากกฎหมายวินัยการเงินการคลังด้วย ไม่ต้องมีการตรวจสอบจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)อีกด้วย เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ประเทศขาติ
นอกจากนี้ นายธีระชัยยังกล่าวอีกว่า ถ้าเราเอากฎหมายทั้งสามฉบับมาผนวกไว้ด้วยกัน จะเห็นความแยบยลมากกว่านั้น เมื่อบรรษัทรัฐวิสากิจแห่งชาติ เกิดขึ้นมาจะมีฐานะบริษัทแม่โดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่รัฐถือหุ้นเมื่อเข้ามาภายใต้บรรษัทนี้จะกลายเป็นบริษัทลูกทันที แต่บริษัทพวกนี้เดิมมีบริษัทลูกของตัวเองเเล้วก็จะกลายเป็นบริษัทหลาน ซึ่งตรงจุดนี้เองที่หากฏำหมายบังคับจริงจะทำให้บริษัทชั้นหลานและเหลนหลุดไปเลย
“อยากจะชี้ให้เห็นว่ากระบวนการตรงนี้ ทำให้การแปรรูปเกิดขึ้นในชั้นบริษัทหลานได้ง่าย ออกจากการกำกับทางการเมือง รัฐสภา หลุดออกไปจากนิยามวินัยการเงินการคลัง เมื่อมีการแปรรูปอย่างนี้เป็นการฉกฉวยโอกาสที่ไม่ถูกต้อง เมื่อก่อนเรากำหนดว่ารัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการอย่างรัดกุม ถ่วงดุล ในพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสากิจ กำหนดขั้นตอน ไว้ในเรื่องการแปรรูป ถ้าหากมีการแปรูปขึ้นในชั้นบริษัทหลาน ไม่มีข้อกำหนดไม่มีข้อบังคับใดๆ ที่ต้องปฏิบัติตามทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นการดำเนินการออกนอกขอบเขตกฎหมายสิ้นเชิง"
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก http://www.mof.go.th/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผอ.สคร. ย้ำ ร่างพ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ไม่มีเจตนาแปรรูปซ่อนเงื่อน
สคร.ชี้แจงข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ