18 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมขจัดทุจริต ภายใต้ค่านิยม ‘ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ’
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2542 เป็นต้นมา ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงถือเอาวันที่ 18 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช.
โดยตลอด 18 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมเพื่อปลุกกระแสสังคมในการต่อต้านและร่วมกันขจัดปัญหาการทุจริต โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่การวางแผน นำแผนไปสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผล
ทั้งนี้ คสช. และรัฐบาลกำหนดให้ภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ครอบคลุมเป้าหมายกลุ่มเด็กและเยาวชน ภาครัฐทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญและเป็นรากฐานการแก้ปัญหาการทุจริตที่ยั่งยืนของประเทศ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ในด้านของการดำเนินคดี สามารถดำเนินการเสร็จ จำนวน 4,338 เรื่อง สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งดำเนินการเสร็จ จำนวน 2,949 เรื่อง คิดเป็น 1.5 เท่า
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้ร้องขอต่อศาลให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 850 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งร้องขอต่อศาลให้ริบทรัพย์สินฯ 186 ล้านเศษ คิดเป็น 4.5 เท่า
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมมาตรการเสริม ได้แก่ การคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินสินบนเป็นรางวัลให้ผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแสให้ข้อมูลให้ข้อเท็จจริงจนมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สิน จากการกระทำผิดตกเป็นของแผ่นดิน การกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล โดยทำรายละเอียดเปิดเผยราคากลางและที่มาของราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ รวมไปถึงการประเมินระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) การสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต่อจากนี้ไปคือการจุดประกายความคิดให้คนในสังคมมีคุณธรรมและจริยธรรม มีค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยมองว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่ทุกคนในสังคมไทยไม่สามารถนิ่งดูดายหรืออยู่ในสภาวะ จำยอมอีกต่อไป ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ลดน้อยลง
ที่สำคัญต้องร่วมกันเป็นเครือข่ายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และพึงระลึกอยู่เสมอว่าบทบาทหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและดูแลผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของทุกคน และเร่งสร้างการรับรู้ปัญหาทุจริตให้แก่เด็ก เยาวชนเป็นลำดับแรกและขยายผลสู่ประชาชนทุกภาคส่วน พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่อต้านการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศ
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ในโอกาสครบรอบ 18 ปี สำนักงาน ป.ป.ช กับความมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ได้จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 16 - 17 พ.ย. 2560 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี โดยในวันที่ 16 พ.ย. 2560 ช่วงเช้าเป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ พิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิ – เจ้าที่ และช่วงบ่ายเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบนโยบายบาย เรื่อง “การทบทวนผลการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน”
ส่วนวันที่ 17 พ.ย. 2560 ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมทำบุญตักบาตร การต้อนรับผู้ร่วมแสดงความยินดี การเสวนา หัวข้อ “สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ สู่ไทยแลนด์ 4.0” และช่วงบ่ายเป็นพิธีมอบรางวัล “NACC Awards 2017” แก่บุคคล หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยรางวัล 1. โครงการรักชาติถูกทางสร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริต 2. โครงการยกย่องผู้ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 3. รางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใด ในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 4. รางวัลองค์กรโปร่งใส 5. โครงการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต 6. รางวัลช่อสะอาด และช่วงเย็นเป็นพิธีมอบรางวัลแก่บุคลากรสำนักงาน ป.ป.ช. คือ 1. รางวัลเพชรน้ำเอก 2. รางวัลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีผลงานดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาการด้านการนำกรอบการประเมิน ITA ไปประยุกต์สู่การพัฒนา
ปัญหาการทุจริตในประเทศเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความมั่นคงและความขัดแย้ง รวมไปถึงปัญหาเด็กและเยาวชน ดังนั้นเราทุกคนจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังและคอยตรวจสอบว่าในพื้นที่ที่เราอยู่มีการทุจริตหรือไม่ ปฏิบัติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิทักษ์รักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน การอนุวัติกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption-UNCAC)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. และบุคลากรทุกระดับพร้อมเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” เพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย สำหรับประชาชนทุกท่านโปรดพึงระลึกเสมอว่า ท่านคือคนสำคัญที่จะทำให้ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติ ต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)”
ทั้งนี้ หากเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)