รมว.ศธ.ชี้ปฏิรูปการศึกษา หากเดินถูกทาง คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 35 ปี
นพ.ธีระเกียรติ ยันไทยมีปัญหาคุณภาพการศึกษา มาจากเรื่องของความเหลื่อมล้ำ พบ ครูที่อยู่ 10% บน สามารถสอนหนังสือได้ 1.5 เท่าของครูระดับเฉลี่ย และครูที่อยู่ 10% ล่าง สอนได้แค่ครึ่งเดียว ด้าน 12 องค์กรเอกชน ประกาศเจตนารมณ์ เดินหน้าสานพลังประชารัฐ CONNEXT ED โชว์ผลงานปีแรกจุดประกาย สร้างการเปลี่ยนแปลงจัดการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล ในโรงเรียนประชารัฐกว่า 3 พันแห่ง
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวตอนหนึ่งถึงการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปที่เร็วใช้เวลาประมาณ 10 ปี ปฏิรูปการศึกษาแบบกลาง ๆใช้เวลา 20 ปี และหากเดินถูกทางปฏิรูปการศึกษาใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 35 ปี ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาไปถอดบทเรียนจากประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ ซึ่งต้องไปดูด้วยว่า ที่เขาทำตอนนี้แล้วได้ดี ต้องย้อนไปดูในอดีตเขาทำอะไรมาบ้างด้วย
“มีคนเคยวิเคราะห์โดยศึกษาระบบโรงเรียน 20 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ จะถูกกระตุ้นจากข้างนอก ทั้งเจอวิกฤติ หรือผลคะแนนสอบ PISA ได้ที่โหล่ หรือตัวอย่างประเทศฟินแลนด์เจอปัญหาโซเวียตกำลังเข้าครอบงำ สิงคโปร์เจอปัญหาความอยู่รอดหลังได้เอกราชใหม่ๆ จึงปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ รวมถึงผู้นำต้องลงมาเล่นเอง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีปัญหาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมาจากเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โดยพบว่า ครูที่อยู่ 10% บน สามารถสอนหนังสือได้ 1.5 เท่าของครูระดับเฉลี่ย และครูที่อยู่ 10% ล่าง สอนได้ 0.5 เท่า หรือแค่ครึ่งเดียวของครูเฉลี่ย ดังนั้นเด็กที่ไปเรียนกับครูเก่ง กับครูอ่อน จึงห่างกันเกือบ 100%
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวถึงโครงการ CONNEXT ED เป็นการจับมือทำงานร่วมกับ 12 องค์กรเอกชนชั้นนำ วันนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ บันได 10 ขั้น เราอยู่ในขั้นที่ 1 ซึ่งต้องใช้เวลาปฏิรูปการศึกษาทำงานร่วมกับภาครัฐ
“12 องค์กรเอกชน เป็นแค่จุดเริ่มต้นปีถัดไป มีเป้าหมายขยายผลต่อไป และแม้ว่า ยุทธศาสตร์ 10 ข้อของ โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) อาจทำได้ไม่ครบ แต่เรายังเดินทางแนวทางนี้ 1.ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา (Transparency) จัดทำระบบกลางแสดงตัวชี้วัด (KPI) โรงเรียนประชารัฐ 2.กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเชื่อมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3.การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ จัดหลักสูตรพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และส่วนรวม 4.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของสถานศึกษา
5.หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง 6.การพัฒนาผู้บริหารการศึกษาและครูผู้สอน 7.การยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 8.การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะให้นักเรียน 9.การสร้างมาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งกองทุนโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,351 โรงเรียน และ 10.เป็นศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้นคว้าวิจัย 4 เทคโนโลยีแห่งอนาคตทั้ง Digital Nano Bio และ Robotice Techology”
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนประเทศยุคต่อไป เป็นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ใช้ข้อมูลเป็นตัวนำ (Big Data) วันนี้เรามีข้อมูลของเด็กไทยแต่ละคนแล้วหรือยัง เงื่อนไขของเด็กแต่ละคน เนื้อหาที่ดีที่สุดในประเทศและในโลก เด็กนักเรียนไทยเข้าถึงหรือไม่ นี่คือความท้าทาย
สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน หรือคอนเน็กซ์-ED (CONNEXT ED) เป็นการทำงานของภาคเอกชน 12 องค์กรใหญ่ระดับประเทศ ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ.ซีพี ออลล์, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, กลุ่มมิตรผล, บมจ.ปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) , บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ยูเนี่ยนกรุ๊ป และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมขับเคลื่อนโครงการในปีแรก จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษายุคดิจิทัล ในโรงเรียนประชารัฐ 3,351 แห่ง ลดความเหลื่อมล้ำให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียใน 39,839 ห้องเรียนอัจฉริยะ การพัฒนาคนโดยสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ปั้นครูมืออาชีพ 36,397 คน เสริมแกร่งผู้อำนวยการ 3,351 โรงเรียนประชารัฐ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนกว่า 312 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าขยายความร่วมมือไปยังองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป