อุบัติเหตุทางถนน ปี 59 ‘ระยอง’ อันดับ 1 ตายสูงสุด ‘วัยรุ่น-คนทำงาน’ ครองแชมป์
เปิดผลรายงานความปลอดภัยฯ ปี 59 พบคนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน 2.2 หมื่นคน ช่วงอายุ 15-29 ปี มากที่สุด 3 ใน 4 เป็นผู้ชาย ขณะที่ ‘ระยอง’ จังหวัดอันดับ 1 ตายสูงสุดไทย เตรียมขึ้นแท่นสูงสุดโลก ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ แนะทางออก เน้นเข้มงวดบังคับใช้ กม. ควบคู่รณรงค์
วันที่ 13 พ.ย. 2560 แผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดแถลงข่าวเปิดผลรายงานความปลอดภัยทางถนน ปี 2559 ซึ่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ
นายปรีดา จาตุรพงศ์ นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้จัดทำข้อมูล เปิดเผยว่า จากการสำรวจ จัดเก็บ และคำนวณผลจากข้อมูล 3 ฐาน ได้แก่ ใบมรณบัตร กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข, รายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผู้จด พรบ.กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบในปี 2559 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวนเพียง 19,479 คน จำนวน 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย โดยช่วงวัยที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด อันดับหนึ่งเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ช่วงอายุ 15-29 ปี
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน พบว่า 6 อันดับ ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด ได้แก่ ระยอง 72.2 สระแก้ว 69.0 ชลบุรี 58.7 จันทบุรี 57.8 นครนายก 56.3 และปราจีนบุรี 55.9 ขณะที่ 6 อันดับ ที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด ได้แก่ กทม. 14.3 ยะลา 17.2 แม่ฮ่องสอน 18.2 สตูล 18.3 อำนาจเจริญ 18.4 และปัตตานี 20.1 อย่างไรก็ตาม แม้ กทม. จะเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุด แต่ถือว่ายังไม่ดีพอ จากเป้าหมายต้องการให้ต่ำกว่า 10.0
“ร้อยละ 45 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 39 คนเดินเท้า ร้อยละ 9 และคนขี่จักรยาน ร้อยละ 1” นายปรีดา กล่าว
ด้านนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก เปิดเผยถึงปัจจัยที่ทำให้ จ.ระยอง และจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาก ว่า ผู้เสียชีวิต จ.ระยอง มากกว่าประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะฉะนั้นอาจพูดได้ว่า จ.ระยอง มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในโลกจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทำให้มีการสัญจรมาก ประกอบกับ ถนน เอื้ออำนวย เช่น มอเตอร์เวย์ ทำให้คนขับรถเร็ว อีกทั้ง มีประชากรแฝงนับล้านคน ทั้งหมดนี้เมื่อคำนวณแล้วจึงเป็นปัจจัยให้หลายจังหวัดในภาคตะวันออกมีผู้เสียชีวิตมาก
“หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญ แม้การรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจะช่วยให้เกิดรายได้ แต่ต้องคิดหาวิธีที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นกลับบ้านอย่างปลอดภัยด้วย โดยจัดระบบความปลอดภัยให้เกิดความเชื่อมั่น ที่สำคัญจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ยั่งยืน ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้นควบคู่กับการรณรงค์ โดยการมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจแก่สังคมว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในประเทศออสเตรเลียประสบความสำเร็จมาแล้ว” ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ กล่าวในที่สุด .