ปฏิรูปงานสอบสวนอย่างไร ให้ยุติธรรมกับประชาชน
เวทีราชดำเนินเสวนา “ปฏิรูปงานสอบสวนอย่างไร ให้ยุติธรรมกับประชาชน" หนุนยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม แยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ จับมือ“อัยการ”ทำงานร่วมกัน ปิดช่องครอบงำคดี เปิดทางดึงคนผิดมาลงโทษ
วันที่ 12 พ.ย.2560 เวลา 10.15 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ปฏิรูปงานสอบสวนอย่างไร ให้ยุติธรรมกับประชาชน" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรที่ปรึกษา Police Watch และนายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินรายการ โดยนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกและกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า ตนเป็นคนในบ้านคงมองตัวเองยาก แต่ถ้ามีคนอื่นมองบ้านเราจะทำให้เราดีขึ้น วันนี้จะมารับฟังในเวทีนี้ แต่เริ่มต้นจะขออธิบายงานตำรวจ 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.ความสงบเรียบร้อยในสังคมและชุมชน 2.งานปราบปราม ตั้งแต่ยาเสพติด อิทธิพล ค้ามนุษย์ มือปืน 3.สืบสวนหาข่าว 4.การบริการประชาชนทุกรูปแบบ ดูแลความสงบสุขให้ชาวบ้าน 5.งานอำนวยความยุติธรรม จะมีพนักงานสอบสวนเป็นพระเอกในการทำคดี โดยรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนก็เสมือนพ่อครัว ต้องหาขิง ข่า พริก ตะไคร้ คือพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิด ส่วนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะที่ศาลอาญามีคดีมากมายก็ต้องมีผู้ช่วยเป็นพนักงานไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีน้อยลง แต่หากตำรวจทำแบบนี้บ้างชาวบ้านก็จะเรียกเป่าคดี ซึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุไว้ว่า เมื่อรับคดีแล้วต้องสอบสวนเสร็จภายใน 6 เดือน ทำให้พนักงานสอบสวนมีความเครียด มีหลายเหตุการณ์พนักงานสอบสวนยิงตัวตาย หรือยิงเพื่อนร่วมงาน
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า ในปี 2559 สถิติคดีที่ตำรวจจับกุมมากที่สุดคือ คดีเกี่ยวกับอาวุธปืน 2 แสนกว่าคดี รองลงมา คดียาเสพติด คดีจราจร และคดีการพนัน การแยกพนักงานสอบสวนไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ใครจะช่วยพนักงานสอบสวนได้ อาจจะต้องสร้างหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการทำงาน ดังนั้นการปรับปรุงตำรวจถ้าทำได้ก็ถือว่าดี อยากเสนอให้มีกรมสอบสวนคดีพิเศษทุกจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันอยากให้ฝ่ายปกครองสามารถเป็นพนักงานสอบสวนได้ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก จะได้ไม่เป็นหน้าที่ของให้พนักงานสอบสวนอย่างเดียว ส่วนเรื่องการแยกหรือไม่แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจนั้น ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ตำรวจเองก็ต้องเดินไปตามสถานการณ์
“สงสารตำรวจเถอะ ตำรวจเป็นส้วมจริงๆ หลายเรื่องก็ต้องรับไว้ เพื่อไปสืบสวน ดังนั้นถ้าคนดีมีเพิ่มขึ้น คดีต่างๆจะไม่มากเหมือนทุกวันนี้ คดีก็เหมือนขยะมากมาย แต่สุดท้ายก็มาโทษคนกวาดขยะเช่นตำรวจ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี สังคมก็จะสงบสุข ถ้าตำรวจทำงานแล้วมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็พร้อมน้อมรับไปปรับปรุง ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลเสริมผู้เชี่ยวชาญมาประจำสถานีตำรวจ เพื่อช่วยพนักงานสอบสวนด้วย รวมถึงมีทนายมาประจำที่สถานีตำรวจ ดังนั้นถ้าตำรวจยืนโดดเดี่ยวก็ทำงานหนัก ทำไมไม่ช่วยตำรวจบ้าง เหมือนให้เงินแม่บ้าน 200 บาท แต่อยากกินของดีๆ อยากกินสเต็ก ทั้งหมดก็เป็นความจริงของตำรวจในปัจจุบัน” พล.ต.ต.มนตรี กล่าว
ด้านนายเกิดผล กล่าวว่า มีชาวบ้านเคยพูดกับตนว่าโรงพักคือส้วม เป็นที่ปลดทุกข์ของคน ตำรวจคือคนล้างส้วม ซึ่งในฐานะทนายความ ไม่มีผลกับพนักงานสอบสวนทั้งหมด ที่ผ่านมาจะได้ร่วมกันแค่ติดตามความคืบหน้าของคดี แต่ที่พบเห็นได้บ่อย คือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พบว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งบุคคลและระบบ ซึ่งถ้าระบบล้มเหลวก็จะมีผลต่อบุคคลตามมา ซึ่งอำนาจบารมีของผู้มีอิทธิพลก็ยังครอบงำพนักงานสอบสวนได้หรือไม่ มีการครอบงำผ่านผู้บังคับบัญชาระดับสูงสั่งการลงมา ทำให้พนักงานสอบสวนขาดความเป็นมีอิสระ
ทั้งนี้ หากย้ายพนักงานสอบสวนแยกออกไปจะได้อะไร โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอิสระจริง หากจะเรียกร้องปฏิรูปตำรวจโดยแยกพนักงานสอบสวนออกไป แต่ถ้าไม่มีความอิสระก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ ขณะเดียวกัน การแยกพนักงานสอบสวนก็ควรจะหมายถึงการปฏิรูประบบกระบวนการะยุติธรรมด้วย จึงต้องไปดูที่ต้นน้ำของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะถ้าพนักงานสอบสวนยังอยู่กับสำนักงานตำรวจฯจะยังอิสระอีกหรือไม่ เพราะหากจะพิจารณาผลงานของพนักงานสอบสวนจะมาจากฝ่ายไหน หรือถ้าแยกออกมาจะเปลี่ยนแค่ผู้บังคับบัญชาเท่านั้นหรือไม่
นายปกรณ์ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดีนั้น จะต้องให้ข้อเท็จจริงถูกต้องตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องทำให้คนผิดได้รับโทษ และแยกผู้บริสุทธิ์ออกมา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมาย การกระทำความผิดมีการเชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่และเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายเฉพาะเรื่อง โดยในคดีความ มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงต้องมีดูว่าการกระทำแต่ละส่วนมีความผิดตามกฎหมายลักษณะใด แต่ที่ผ่านมาสิ่งสำคัญที่พนักงานสอบสวนดำเนินการมานั้น มีองค์ความรู้ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งมีการถ่ายทอดมาเป็นระบบ แต่ปัจจุบันพบว่ามีตัวบทกฎหมายมากมายมีการเปลี่ยนหลักการใหม่ เช่น คดียาเสพติด ที่มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย หรือคดีค้ามนุษย์ มีการตั้งหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะผู้ร่วมกระทำผิดถูกบังคับให้กระทำผิด ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนหลักการเพื่อนำผู้กระทำผิดที่เป็นตัวหลักมาดำเนินดดีเท่านั้น
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักการที่เกิดขึ้นใหม่นั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ความผิดการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้มีรูปแบบการทำสำนวนคดีแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งพนักงานอัยการจะสามารถช่วยพนักงานสอบสวนวิเคราะห์ข้อกฎหมายให้สำนวนมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่อยู่ในสำนวนนั้น ก็จะเป็นประโยชน์กับกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น จากรายละเอียดที่เปลี่ยนไปยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินคดีอาญา ก็มีการพัฒนาโดยเพิ่มองค์กรเฉพาะขึ้น อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น เพื่อให้ตอบสนองกับการดำเนินคดีอาญาให้ถูกต้องและรวดเร็ว
ส่วนการทำงานร่วมกันของอัยการและพนักงานสอบสวน ถือว่าไม่ได้เป็นการแย่งอำนาจกัน แต่เป็นการแบ่งเบางานให้แก่กัน เพราะรูปแบบการกระทำความผิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการทำงานร่วมกันจะเป็นการช่วยกันการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย เพื่อรองรับการกระทำความผิดรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
“การทำงานสอบสวนร่วมกันนั้น พนักงานอัยการสามารถเป็นที่ปรึกษาตามการร้องขอของพนักงานสอบสวนได้ จากนั้นพนักงานอัยการให้สามารถเข้าไปตรวจสำนวนและให้คำแนะนำเพื่อให้สำนวนรัดกุมยิ่งขึ้น หรือเข้าร่วมกับการสืบสวนทั้งหมดในดีอาญาสำคัญๆ กรณีผู้ต้องหามีอิทธิพล หรือเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พนักงานอัยการสามารถสอบปากคำพยานบุคคลได้ เพื่อให้เห็นอากัปกิริยาและข้อพิรุธของพยาน ก็เป็นรูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกรณีที่หนักที่สุด พนักงานอัยการนำสำนวนมาสอบสวนเองทั้งหมด แต่ต้องทำเฉพาะบางกรณี เช่น กรณีเรือโซวอลในประเทศเกาหลีใต้ล่ม อัยการเกาหลีใต้ก็เข้าไปทำคดีเองทั้งหมด” นายปกรณ์ กล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ทุกคนคงจะเห็นตรงกันว่า กระบนการยุติธรรมของประเทศเรามีปัญหาร้ายแรง จึงมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา ซึ่งส่วนที่เป็นปัญหาคือ กระบวนการสอบสวน ปรากฏการณ์ปัญหาจะปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล ก็มีกรณีมีแพะ และได้ปรากฏตัวออกมาในปัจจุบันมากขึ้น เพราะการต้องการความยุติธรรม ถือเป็นความต้องการของมนุษย์นอกเหนือจากปัจจัย 4 จะอีกกี่ปีก็จะมีกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ดังนั้นสังคมที่ดีจะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องทำให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ และคนดีต้องได้รับรางวัล
นอกจากนี้ หากมองประเทศที่เจริญแล้วเขามีกฎหมายเข้มแข็ง ซึ่งประเทศเราก็มีกฎหมายเหล่านี้แล้ว แต่เหตุใดประเทศเราถึงบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ ผู้เสียหายยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา จึงต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษให้ได้ เพราะคดีที่ศาลยกฟ้องถือว่าร้ายแรง เพราะผู้ที่กระทำความผิดเขาจะถูกฟอกด้วยคำพิพากษาของศาล
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงระบบ จึงต้องแก้ไขตั้งแต่พนักงานอัยการในคดีสำคัญเพื่อช่วยตำรวจในการทำคดี เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน โดยต้องเปลี่ยนหลักคิดกันใหม่ เวลามีคนตาย ต้องเห็นทุกฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายปกครอง อัยการ นิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้พยานหลักฐานครบถ้วนทั้งหมด แตทุกวันนี้ตำรวจเห็นอยู่ฝ่ายเดียว ตนยังเชื่อว่า ทุกอย่างจะแก้ไขและปรับใหม่ได้ ทั้งนี้ ในเรื่องให้พนักงานอัยการมาทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน ยังมีผู้ที่สร้างเงื่อนไขตรงนี้อยู่ ซึ่งเรื่องการสอบสวนเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนและอัยการ โดยรัฐต้องพัฒนาระบบสืบสวนของอัยการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้การสอบสวนก้าวหน้ามากขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศ กรณีการแจ้งข้อหาคนซึ่งไม่จำเป็นต้องแจ้งก็ได้ หลายคดีอัยการไม่ฟ้อง หรือศาลไม่ลงโทษ ซึ่งเราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยให้อัยการเข้ามาดูว่า มีหลักฐานสมควรหรือไม่ ซึ่งอัยการก็ต้องปฏิรูปหลักคิดการสั่งคดี ต้องใช้หลักพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยก่อนการฟ้องได้หรือไม่
“ต้องทำอย่างไรให้การสอบสวนเป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อย่างคดีตรงข้ามกับรัฐบาลก็ไปเร็ว ถ้าคดีฝั่งรัฐบาลก็ช้าหน่อย ดังนั้นต้องทำให้ให้พนักงานสอบสวนเป็นอิสระ แต่ที่ผ่านมาหากผู้บัญชาขออะไรก็ทำหมด ก็มีที่มาของการแจ้งข้อกล่าวหาโดยมิชอบ เพราะต้องทำตามนายสั่ง เคราะห์กรรมก็ตกกับประชาชน พอเป็นคนรวยก็คิดอีกแบบ” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว