สมัชชาปฏิรูปประเทศ เตรียมชง ครม.ตั้ง “องค์กรอิสระทำกฏหมายกระจายอำนาจท้องถิ่น”
สมัชชาปฏิรูปประเทศ ระบุ อปท.พึ่งตนเองไม่ได้-เป็นฐานเสียงการเมือง เตรียมเสนอ ครม.ตั้งองค์กรอิสระทำกฏหมายให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ ได้รับจัดงบประมาณร้อยละ 35 ตามเจตนารมย์ รธน.
วันที่ 29 มี.ค.55 คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยว่าในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.55 นี้จะมีเวทีสานเสวนา “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สู่การปรับสมดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น” ทั้งนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะได้นำเสนอร่างมติข้อเสนอแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐและปรับสมดุลระหว่างรัฐและท้องถิ่น-ชุมชน อาทิ
เสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณให้กับท้องถิ่น โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ร่วมกันผลักดันให้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับการดำเนินงานของโครงการนำร่องให้เป็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ ชุมชน ท้องถิ่น และ เอกชนเสนอ
ให้ ครม.คณะรัฐมนตรีพิจารณากลไกในการจัดตั้งองค์กรอิสระให้มีหน้าที่จัดทำกฏหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และให้องค์กรอิสระดังกล่าวขับเคลื่อนรณรงค์แนวคิดปฏิรูปสังคมโดยการคืนอำนาจให้ประชาชน
ให้ ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันมติสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปให้เกิดรูปธรรมโดยให้มีการตรากฎหมายที่มีสาระครอบคลุมถึงการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) การกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้ อปท. รายได้ อปท. และการบริหารข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 238 และ 303 บัญญัติไว้
ทั้งนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูประบุว่า ประเทศไทยสมัยก่อนเคยให้อำนาจจัดการตนเองกับท้องถิ่น-ชุมชน เช่น เมืองปัตตานี และเมืองเชียงใหม่ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลส่วนกลางได้เปลี่ยนแปลงอำนาจในการดูแลตนเองของชุมชนและท้องที่ต่างๆให้กลายมาเป็นการปกครองท้องที่ จนทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอธิปไตย จนถึงปัจจุบันการรวมศูนย์อำนาจแบบผูกขาดอธิปไตยของรัฐก็ไม่ได้หายไป หากแต่แผ่ขยายออกมาเป็น “กรมาธิปไตย” ที่รัฐแผ่ขยายอำนาจลงลึกเข้าไปในชุมชนต่างๆ และถึงแม้จะมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ และท้องถิ่นเองก็พึ่งตนเองได้น้อยมาก และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในที่สุด
ทั้งนี้ปัญหาการจัดการอำนาจรัฐและท้องถิ่นนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี2554 รัฐบาลกลางไม่อาจจัดการปัญหาขนาดใหญ่แบบนี้ได้เพียงลำพัง ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจรัฐนั้นยังทำใหเกิดการบั่นทอนกดทับศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนท้องถิ่นที่สามารถนำมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ
ส่วนอำนาจจัดสรรงบประมาณบริหารแผ่นดินนั้นขึ้นอยู่กับรัฐส่วนกลาง ทำให้อำนาจของรัฐส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น และจัดสรรงบประมาณตามความต้องการของผู้มีอำนาจไม่ได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาและความต้องการของชุมชนท้องที่ ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากเจตนารมณ์ที่กฏหมายกำหนดไว้ คือชุมชนท้องถิ่นต้องได้รับรายได้เป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลที่ร้อยละ 35 แต่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544-2549 ท้องถิ่นกลับได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงแค่ร้อยละ 20.68, 20.88, 22.75, 23.50 และ 24.09 ตามลำดับ
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นตามที่กฏหมายกำหนด และให้ท้องถิ่นยอมรับงบประมาณในสัดส่วนที่ต่ำ โดยใน พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2542 มาตรา 30(4) ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ระบุว่า “ตั้งแต่.พ.ศ. 2550 เป็นต้นไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 35”